posttoday

กรมขนส่งทางราง จับมือญี่ปุ่น พัฒนาระบบรางไทยให้เป็นขนส่งหลักของประเทศ

17 มกราคม 2566

กรมการขนส่งทางราง ร่วมกับ JR Freight หารือผลความเหมาะสมของธุรกิจการเดินรถและการซ่อมบำรุง และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบรางในไทย ตั้งเป้าพัฒนาระบบขนส่งทางรางไทย ให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ

ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง และนายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ขร. ร่วมหารือกับ Japan Freight Railway Company หรือ JR Freight และบริษัท Nippon Koei เกี่ยวกับการศึกษาความเหมาะสมของธุรกิจการเดินรถและการซ่อมบำรุง และธุรกิจที่เกี่ยวของกับระบบรางในประเทศไทย ณ ห้องประชุม ชั้น ขร. 

 

โดยที่ประชุมได้มีการรายงานผลการศึกษาดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 

1. ฝ่ายญี่ปุ่นได้รายงานความก้าวหน้าของโครงการโดยนำเสนอข้อมูลแนวโน้มการขนส่งสินค้า อาทิเช่น เส้นทางลาดกระบัง – แหลมฉบังที่มีสัดส่วนการขนส่งทางรางเพิ่มขึ้นเป็น 403 TEU หรือร้อยละ 31 เมื่อเทียบการขนส่งทางถนน ซึ่งผลการศึกษานี้จะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางรถไฟ เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Model Shift) จากถนนไปสู่ระบบรางให้มากขึ้น 

 

2. ฝ่ายญี่ปุ่นได้เสนอตัวอย่างการใช้สัญลักษณ์ Eco-Rail Mark ในประเทศญี่ปุ่น โดยการใช้ตราสัญลักษณ์ ”Eco Rail Mark ” โดยปรเทศญี่ปุ่นเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งจะติดอยู่ติดบนสินค้าที่ขนส่งผ่านระบบขนส่งทางราง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการส่งเสริมธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่ใช้การขนส่งสินค้าทางรถไฟเพื่อมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นการส่งเสริมให้ใช้การขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มมากขึ้น 

 

3. ฝ่ายญี่ปุ่นเสนอให้มีเพิ่มการฝึกอบรมการขับรถไฟให้มากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางที่คาดว่าจะมีมากขึ้นในอนาคต 

 

ทั้งนี้ ขร. และ JR Freight จะร่วมมือกันศึกษาความเหมาะสมของธุรกิจการเดินรถและการซ่อมบำรุง และธุรกิจที่เกี่ยวของกับระบบรางในประเทศไทย ต่อไป เพื่อพัฒนาระบบขนส่งทางรางไทยให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ