posttoday

ดีอีเอส” เอาจริง “ชาวโซเชียล” ละเมิด พรก.ฉุกเฉิน

16 ตุลาคม 2563

  รมว. ดีอีเอส  หารือด่วน กสทช.-โอเปอเรเตอร์มือถือทุกราย และ ไอเอสพี ต่อแนวทางการดำเนินการต่อข้อมูลและเว็บไซต์ไม่เหมาะสมในช่วง พรก.ฉุกเฉิน เตือนเกรียนคีย์บอร์ดอย่าโพสต์ข้อความที่สร้างความเสียหายต่อส่วนรวม

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า เมื่อวันที่15 ตุลาคม 2563) ได้เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อซักซ้อมความใจในแนวทางปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยได้ประสานกับนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ได้เชิญผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายร่วมหารือด้วย โดยถือเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากการบูรณาการความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาการเผยแพร่และนำเข้าข้อมูลผิดกฎหมายลงในระบบคอมพิวเตอร์ ที่ทุกฝ่ายประสานการทำงานร่วมกันที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 04.00 น. เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 2563 เวลา 04.00 น. เป็นต้นไป

โดยข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ข้อ 2 ระบุไว้ว่า “ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร

ขณะที่ ในส่วนบทบาทของกระทรวงฯ ที่ผ่านมาก็มุ่งแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลหรือนำเข้าข้อมูลผิดกฎหมายสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่เกี่ยวข้องกับสถานการ์ช่วงนี้ คือ มาตรา 14 (2), 14 (3) และมาตรา 27

ทั้งนี้ มาตรา 14 ระบุว่า ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ

โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน และ (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

เมื่อกระทรวงฯ มีคำสั่งศาลถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแล้ว ยังไม่ดำเนินการนำข้อมูลที่ผิดกฎหมายออก มาตรา 27 ระบุว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 20 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทและปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อขอความร่วมมือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ช่วยกันเฝ้าระวัง และดำเนินการต่อข้อมูลและเว็บไซต์ไม่เหมาะสม รวมทั้งให้ความร่วมมือทำการลบ/ปิดกั้นข้อมูลและเนื้อหาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือสื่อสังคมออนไลน์ ที่ผิดกฎหมาย ทั้งในส่วนของการละเมิด พรก.ฉุกเฉินฯ และผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

“ทุกคนสามารถแสดงสิทธิเสรีภาพ ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะการโพสต์ข้อความผ่านโซเชียล เว็บไซต์ต่างๆ ขอให้กระทำด้วยความระมัดระวัง งดเผยแพร่ข้อความที่เป็นเท็จ บิดเบือนหรือข่าวปลอม รวมถึงต้อง ไม่ยุยง ปลุกปั่น สร้างความแตกแยกในสังคม ไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ ต้องไม่ละเมิดสถาบันหลักของประเทศ เพราะการกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ฯ รวมถึง พรก.ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศใช้ล่าสุด” นายพุทธิพงษ์กล่าว