posttoday

ปลดล็อคกองทุนรวมฯ ลงทุนในแอร์ไลน์ได้ เสริมสภาพคล่องช่วงโควิด

21 กรกฎาคม 2563

กบร.เดินหน้าแก้กฏหมายหวังช่วยแก้วิกฤติสายการบิน ไฟเขียวกองทุนรวม-กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลงทุนในสายการบินได้ คาดอีก 3 เดือนเริ่มได้

นายจุฬา   สุขมานพ    ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ  รมว.พลังงาน เป็นประธาน มีมติให้ กพท.ออกกฏกระทรวง เพื่ออนุญาตให้กองทุนรวมต่าง ๆ และหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถเข้ามาลงทุนในสายการบินในประเทศได้  ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือสายการบินในช่วงเกิดวิกฤตได้

ทั้งนี้คาดว่าจะใช้กระบวนการแก้ไขกฏหมายและออกกฏกระทรวง  ก่อนจะประกาศให้มีผลบังคับใช้ภายใน 3 เดือน  โดยสาเหตุที่มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเปิดให้กองทุนต่าง ๆ สามารถเข้ามาลงทุนในหุ้นสายการบินได้ เนื่องจากทางสายการบินได้แจ้งมายัง กพท. เพื่อขอปลดล็อกประเด็นนี้ เพราะที่ผ่านมาการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ของหลายหน่วยงานจะระดมทุนผ่านกองทุนรวมจำนวนมาก และเลือกเข้ามาลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในขณะที่สายการบินไม่สามารถดำเนินการได้

ดังนั้นเพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุน ช่วงที่ภาวะตลาดเอื้ออำนวยและจะเป็นการช่วยสถานการณ์ของสายการบินได้ เมื่อเกิดวิกฤติ  โดยกำหนดเงื่อนไขให้เฉพาะกองทุนในประเทศเท่านั้นที่มีสิทธิ์เข้ามาลงทุนในสายการบินในประเทศ

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบร.ยังพิจารณาทบทวน (ร่าง) แผนแม่บทห้วงอากาศและการเดินอากาศแห่งชาติ ซึ่งจากเดิมจะเป็นการบริหารแผนแม่บทระยะเวลา 10 ปี เป็นการทบทวนและวางแผนเพื่อรองรับในระยะ 3 ปีข้างหน้า เพื่อให้การบริหารจัดการห้วงอากาศและความมั่นคงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน  เพื่อใช้ประโยชน์จากน่านฟ้าต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ กพท.ได้มอบหมายให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.)  ไปบริหารจัดการและประสานงานกับกองทัพอากาศที่จะนำห้วงอากาศในกิจการทหารและความมั่นคง ในช่วงที่ไม่ใช้มาบริหารจัดการในพลเรือนได้แบบยืดหยุ่น โดยมีการคาดการณ์ว่าใน 3 ปีจากนี้หากบริหารจัดจราจรทางอากาศจะสามารถรองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้กว่าปีละ 1.2 ล้านเที่ยวบินจากปัจจุบันรองรับได้ 1 ล้านเที่ยวบินต่อปี

นายจุฬา กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาอนุมัติให้ บวท.สามารถบริหารจัดจราจรทางอากาศได้โดยไม่มีระยะเวลากำหนด จากเดิมทำสัญญากับกระทรวงคมนาคมเป็นผู้จัดบริหารจราจรทางอากาศ ซึ่งสัญญาเดิมจะหมดอายุปี 2564 โดยตามขั้นตอนเมื่อ กบร.อนุมัติแล้วทางกระทรวงคมนาคมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป สำหรับสาเหตุที่ต้องเสนอเป็นมติ ครม. เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าการจัดจราจรในห้วงอากาศของประเทศ ถือเป็นความมั่นคงส่วนหนึ่ง.