posttoday

หักปากกาเซียน ภาษีใหม่ไม่กระตุ้นซื้อรถ

15 ธันวาคม 2558

ปิดฉากลงแล้วสำหรับงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 32 (มอเตอร์ เอ็กซ์โป) ที่ในปีนี้ยอดจองอาจไม่ได้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้

โดย...ทีมข่าวยานยนต์ โพสต์ทูเดย์

ปิดฉากลงแล้วสำหรับงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 32 (มอเตอร์ เอ็กซ์โป) ที่ในปีนี้ยอดจองอาจไม่ได้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยสามารถทำได้เพียง 39,125 หมื่นคัน สำหรับรถยนต์จากเป้าหมายที่วางไว้ที่ 5 หมื่นคัน หรือลดลง 7.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ยอดจองอยู่ที่ 42,254 คัน ส่วนยอดจองรถจักรยานยนต์อยู่ที่ 5,749 คัน หรือเพิ่มขึ้น 111.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่อยู่ที่ 2,718 คัน ขณะที่ทั้งงานมีเม็ดเงินสะพัดรวมได้มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท มีผู้เข้าร่วมชมงานอยู่ที่ 1,476,936 คน เพิ่มขึ้น 6.7% จากปีก่อนอยู่ที่ 1,384,182 คน

ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานบริษัท สื่อสากล ในฐานะผู้จัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 32 (มอเตอร์ เอ็กซ์โป) กล่าวว่า สาเหตุที่ยอดจองรถยนต์ภายในงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์มาจากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงการคาดการณ์ว่าจะมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ภายในงาน แต่เกิดการไม่รับจองภายในงานจึงทำให้ยอดไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2559 ที่เคยคาดว่าจะมีผลในการกระตุ้นตลาดในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ แต่กระแสดังกล่าวไม่รุนแรงเท่าช่วงโครงการคืนภาษีรถคันแรก เนื่องด้วยมีรถยนต์ 3 ประเภทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาษีดังกล่าว ได้แก่

1.รถยนต์ที่ได้ประโยชน์จากการปรับภาษี คือ กลุ่มรถยนต์ที่มีราคาลดลงจากผลของโครงสร้างภาษีใหม่ ทำให้ผู้บริโภคที่สนใจรถยนต์กลุ่มนี้ชะลอการตัดสินใจซื้อออกไป

2.รถยนต์ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการปรับภาษี คือ รถยนต์ที่ไม่มีผลกระทบใดๆ จากการปรับโครงสร้างภาษี ทำให้ผู้บริโภคยังไม่เร่งการตัดสินใจซื้อเช่นกัน

3.รถยนต์ที่เสียประโยชน์จากการปรับภาษี คือ รถยนต์ที่มีราคาปรับขึ้นจากผลของโครงสร้างภาษี ทำให้ผู้บริโภคเร่งการตัดสินใจซื้อเร็วขึ้นภายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้บริโภคได้มีการศึกษาข้อมูลการปรับโครงสร้างภาษีทำให้มีความเข้าใจและตัดสินใจซื้อตรงตามความต้องการของตัวเอง รวมถึงการที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ใช้แคมเปญไม่ต้องรองานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ล่วงหน้าเป็นเวลานาน จึงทำให้ยอดจองกระจายไม่ได้กระจุกตัวภายในงานเช่นที่ผ่านมา

ด้าน ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สื่อสากล ในฐานะรองประธานจัดงาน มอเตอร์ เอ็กซ์โป กล่าวว่า แม้ยอดจองจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ถือได้ว่างานดังกล่าวถือเป็นงานที่เปิดเวทีให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ได้พบผู้บริโภคที่เป็นศูนย์รวมไว้ภายในที่เดียว ซึ่งผู้บริโภคจะสามารถตัดสินใจซื้อและเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์และข้อเสนอต่างๆ ได้ จึงเป็นโอกาสของทุกฝ่าย

ดังนั้น จึงเชื่อว่างานดังกล่าวจะสามารถผลักดันยอดขายประจำเดือน ธ.ค. ให้แตะระดับ 8 หมื่นคันได้ ซึ่งน่าจะช่วยส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศปีนี้แตะระดับ 7.5-7.8 แสนคัน ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ได้

สำหรับประเภทรถยนต์ที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมชมงานที่เติบโตชัดเจน คือ รถอเนกประสงค์ มียอดจองสัดส่วนอยู่ที่ 30.9% สูงขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 15% ส่วนรถยนต์นั่งมียอดจองสัดส่วน 46.6% ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 50% และรถกระบะมียอดจองสัดส่วน 19.1% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 15%

ขณะที่รถรุ่นที่ได้รับความนิยมสูงสุดภายในงาน 5 อันดับแรก มีดังนี้ ฮอนด้า ซิตี้, มาสด้า 2, มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต, ฟอร์ดเรนเจอร์ และอีซูซุ ดี-แมคซ์ ตามลำดับ ซึ่งระดับราคาเฉลี่ยรถในงานอยู่ที่ 1,146,351 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย จากปัจจัยผู้บริโภคให้ความสนใจรถอเนกประสงค์และรถกระบะมากขึ้น

ส่วนอีกตลาดหนึ่งที่มีการเติบโตสูง คือ ตลาดรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ (บิ๊กไบค์) มียอดจองรวมอยู่ที่ 5,749 คัน หรือเพิ่มขึ้น 111.5% จากปีก่อนอยู่ที่ 2,718 คัน จากปัจจัยในปี 2558 มีบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์เดินหน้าประกอบรุ่นในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระดับราคาสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ประกอบกับมีการเปิดตัวครั้งแรกในโลกและเปิดตัวรุ่นใหม่ภายในงานจำนวนมาก สร้างให้เกิดการกระตุ้นตลาดความต้องการซื้อของผู้บริโภคที่กำลังอยู่ในกระแสดังกล่าว

หากดูผลการขายจากงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อผู้บริโภคที่ชะลอตัวอย่างรุนแรง แม้ว่าการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ จะเป็นปัจจัยหนุนที่จะดึงความต้องการซื้อมาไว้ในปีนี้ แต่เหมือนว่าจะไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับสถานการณ์ความรุนแรงของเศรษฐกิจ แม้จะอยู่ในช่วงฤดูกาลขายอันร้อนแรงส่งท้ายปีแต่ก็ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ไว้ เนื่องด้วยปัจจัยลบที่ส่งผลรุนแรงกว่าปัจจัยบวก

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยภาพรวมที่ยังมีปัจจัยลบมากกว่าบวก และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะฟื้นตัวได้เมื่อไร จะยังคงทำให้ตลาดรถยนต์ในปี 2559 ทำได้เพียงแค่ทรงตัวหรืออาจจะติดลบได้อีก จะให้มีการฟื้นตัวดีกลับคืนมาดังเดิมคงเป็นไปได้ยาก

ในปีหน้าจึงยังคงต้องรอลุ้นว่า ในช่วงปลายปีจะถึงเวลาสิ้นสุดการถือครองรถคันแรก ผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะเริ่มคลายตัว และเม็ดเงินงบประมาณของภาครัฐที่อัดฉีดหมุนเวียนเข้าสู่ระบบจะเริ่มเห็นผล แต่เป็นเพียงปัจจัยบวกที่อยู่ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในระดับโลกและในประเทศเองที่ยังคงมีความไม่แน่นอน

ปีหน้าแค่ “ลุ้น” ว่า ตลาดรถจะไม่แย่ลงไปกว่าปีนี้ก็เหนื่อยแย่แล้ว