posttoday

พัฒนาและออกแบบไม่หยุดนิ่ง สูตรโกอินเตอร์กระเป๋าสานบางเจ้าฉ่า

27 ตุลาคม 2558

ภาชนะสานจากไม้ไผ่อาจดูล้าสมัยสำหรับสังคมไทย เนื่องจากมีวัสดุใหม่ๆ เข้ามาแทนที่

โดย...ไชยวัฒน์ สาดแย้ม

ภาชนะสานจากไม้ไผ่อาจดูล้าสมัยสำหรับสังคมไทย เนื่องจากมีวัสดุใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ แต่หากมีการปรับเปลี่ยนพัฒนาให้เข้ากับรสนิยมร่วมสมัย เครื่องจักสานก็อาจได้รับความนิยมอยู่บ้าง เช่น กระเป๋าไม้ไผ่สาน แห่ง ต.บางเจ้าฉ่า อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง

สิรีรัศมิ์ สิงหรัญ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสิรีรัศมิ์ หัตถศิลป์บางเจ้าฉ่า ผู้ผลิตกระเป๋าไม้ไผ่สาน บางเจ้าฉ่า บอกว่า หลังรับช่วงกิจการสานภาชนะไม้ไผ่ต่อจากมารดามาตั้งแต่ปี 2515 จากเดิมที่ทำกันแต่กระบุง ตะกร้า ก็ได้มีการพัฒนารูปแบบมาเป็นกระเป๋าสานไม้ไผ่ มีการร่วมกลุ่มเพื่อนบ้านทำกระเป๋าสานและได้รับรางวัลสินค้าโอท็อประดับ 5 ดาว เมื่อปี 2546

รางวัลที่ได้รับทำให้มีโอกาสนำผลิตภัณฑ์กระเป๋าสานบางเจ้าฉ่าไปจัดแสดงในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 3 ปีซ้อน ทำให้ได้รับผลตอบรับดีเป็นอย่างมาก มีลูกค้าจากหลายประเทศที่สั่งซื้อ อาทิ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย สหรัฐ และอีกหลายๆ ประเทศ โดยมีออร์เดอร์สั่งเข้ามาจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย

“สำหรับตลาดในประเทศเราก็มีลูกค้าอย่างต่อเนื่อง มีแหล่งจำหน่ายอย่างยั่งยืน ตลาดต่างประเทศก็ยังเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและยังขยายไปในโซนเอเชียได้อีกอย่างต่อเนื่อง”

ก้าวสำคัญของการพัฒนาธุรกิจ คือ การค้นหาและออกแบบใหม่ๆ เพื่อที่จะเจาะกลุ่มวัยรุ่นและคนวัยทำงานให้ได้มากที่สุด กระทั่งช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ ก็ได้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มาเป็นพี่เลี้ยงในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ หลังจากนั้นก็ได้ทดลองวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นจนประสบความสำเร็จ

“ขณะนี้อยากเจาะตลาดยุโรป ได้พยายามศึกษาว่าคนในโซนยุโรปเขาชอบสินค้าแบบไหน แต่ในทุกวันนี้ทางกลุ่มก็ไม่ได้หยุดนิ่งกับรูปแบบของสินค้า ยังคงมีการปรับปรุงพัฒนารูปแบบของสินค้าให้มีแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง แล้วยังออกแบบกันข้ามปีเลยทีเดียว โดยมองไปที่รูปแบบต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

สิรีรัศมิ์ บอกว่า การส่งออกปีละ 2,000-4,000 ชิ้น หลายปีต่อเนื่องมาแล้ว แผนการขยายตลาดไปโซนยุโรปยังติดขัดกับการผลิตเพื่อส่งตลาดญี่ปุ่น ซึ่งโจทย์ของตลาดยุโรปนั้นจะเน้นความทนทานเพื่อสามารถใช้งานได้ทุกวัน โดยกลุ่มได้รับการติดต่อไปจัดแสดงสินค้าที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะเป็นช่องทางทดลองตลาดใหม่ๆ ของสินค้าพื้นบ้านจากเมืองไทย