posttoday

ให้ทหารช่วยระวัง 'เพื่อนบ้าน' แอบลักลอบตัด 'ไม้พะยูง'

14 ธันวาคม 2560

หากมองถึงความหมายและคุณค่าของ "ไม้พะยูง" ต้นไม้ชื่อดังของเมืองไทย กลับได้เห็นความหมายที่แตกต่างกัน

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

หากมองถึงความหมายและคุณค่าของ "ไม้พะยูง" ต้นไม้ชื่อดังของเมืองไทย กลับได้เห็นความหมายที่แตกต่างกัน

ค่าของไม้พะยูงของนายทุน มันคือเงินนับล้านบาท และต้องตัดขายสนองความต้องการของกำลังซื้อในกลุ่มเล็กๆ

ค่าของไม้พะยูงสำหรับชาวบ้านอาจคือความหวงแหนต้นไม้ใหญ่ในชุมชนของพวกเขา และบางส่วนก็มีค่าเพราะเม็ดเงินจากนายทุนเช่นกัน

หรือค่าของไม้พะยูงสำหรับนักอนุรักษ์ อาจเป็นการสูญพันธุ์ของไม้พันธุ์นี้ที่กำลังคืบคลานมาในไม่ช้า

เป็นที่ทราบกันดีว่าไม้พะยูงกำลังถูกลักลอบตัดเพื่อนำไปขายให้กับนายทุนที่ต้องการไม้ชนิดนี้ เพราะมีความเชื่อว่า เป็นไม้มงคล หากนำไปปลูกบ้านจะช่วยให้พยุงฐานะดีขึ้น หรือประคองตัวเองให้อยู่รอดได้ อีกทั้งเนื้อไม้ที่มีสีแดงเลือดหมูยังสวยงาม เนื้อไม้ละเอียดทนทาน

ไม้พะยูงจึงราคาพุ่งเป็นหลักหลายล้านบาท และเป็นที่นิยมอย่างมากในบางประเทศแถบทวีปเอเชีย

ขณะที่ความต้องการไม้พะยูงไม่เคยหยุดหย่อน เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ที่รับผิดชอบก็ทำหน้าที่อย่างหนักเพื่อปกป้องทรัพยากรของชาติไว้อย่าง แข็งขัน และส่วนหนึ่งก็ต้องข่มใจอดทนไม่ให้เห็นถึงผลประโยชน์จากเม็ดเงินหากคิดคดทุจริตตัดไม้ขายเสียเอง

ช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา เกิดเสียงปืนดังสนั่นที่อุทยานแห่งชาติ ทับลาน วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เจ้าหน้าที่รัฐพยายามหยุดแก๊งขบวนการตัดไม้พะยูงที่มีนายทุนต่างชาติบงการ เมื่อเข้าสกัดจึงเกิดการปะทะก่อนที่เสียงปืนจะสงบลง กระทั้งเข้าไปตรวจสอบเจ้าหน้าที่ก็แทบจะหมดอาลัย เพราะภาพตรงหน้าคือท่อนไม้พะยูงหลายท่อนที่ตัดเตรียมขนย้ายเอาไว้แล้ว

ไม่ใช่ภารกิจที่สำเร็จที่แม้คนร้ายจะหลบหนีไปบางส่วนและจับกุมได้อีกจำนวนหนึ่ง แต่เพราะมันเกิดการตัดไม้ไปแล้ว

"ไม้พะยูงแทบจะไม่เหลือในประเทศไทยแล้ว" เสียงจาก ชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) กรมป่าไม้ หลังเป็นหนึ่งในชุดที่เข้าสกัดแก๊งลักลอบตัดไม้พะยูงข้ามชาติ เขาขยายความว่าครั้งนี้ที่ปะทะกันกับแก๊งตัดไม้พะยูงถือได้ว่ากลุ่มคนร้ายเป็นกลุ่มใหญ่และเป็นนายทุนชาวเวียดนามที่ร่วมกับนายทุนไทย รวมถึงข้าราชการบางส่วนที่เอื้อประโยชน์เพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่จะได้รับ อำนวยความสะดวกให้เข้ามาตัดไม้หวงห้ามในบ้านตัวเอง

ไม่ใช่ครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ยับยั้งไม่สำเร็จ เพราะการป้องกันที่ได้ผลคือไม้ยังอยู่กับดิน ไม่ได้ถูกตัดออกไป

กระนั้น สถานการณ์ไม้พะยูงในประเทศไทยในชั่วโมงนี้ อรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ ให้คำตอบว่า "แน่นอน ไม้พะยูงมัน ลดลงอย่างมาก แต่คนที่ตัดและตลาดความต้องการไม่เคยลดลงเลย"

อรรถพล ขยายความจากคำตอบนี้เป็นเพราะตลาดต่างชาติยังคงมีความต้องการไม้พะยูงอย่างมาก และราคาของไม้ชนิดนี้ก็พุ่งสูงขึ้นในตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา หากตัดแล้วขายในประเทศไทยจะอยู่ที่ลูกบาศก์เมตรละ 7 แสน-1 ล้านบาท แต่หากนำออกนอกประเทศได้สำเร็จ ราคาจะทะยานไปอยู่ที่ลูกบาศก์เมตรละ 3-5 ล้านบาททันที

"จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนกล้าตัดไม้พะยูง เพราะราคามันสูง ยิ่งบวกกับการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด โทษที่หนักขึ้น ราคาก็สูงขึ้นตาม ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น" อรรถพล ย้ำ

แต่กระนั้น นับตั้งแต่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาบริหารประเทศ อรรถพล มองว่าทิศทางการตัดไม้พะยูงมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้หายไปหมดทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะยังมีนายทุนใหญ่จากประเทศเวียดนามที่ร่วมกับกลุ่มคนไทยคอยหาไม้ และหาคนเข้าไปตัดอยู่ตลอด กระทั่งล่าสุดที่เกิดเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มตัดไม้เมื่อสิ้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้เข้าไปขยายผลจากขบวนการนี้

"เพราะในกลุ่มผู้ต้องหาที่เราจับได้มีตัวใหญ่อยู่คนหนึ่ง ซึ่งได้เบาะแสถึงกลุ่มนายทุนและคนไทยที่เกี่ยวข้องกับขบวนการด้วย กรมป่าไม้จึงประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ร่วมสืบสวนเพื่อขยายผล และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ให้เข้ามาร่วมทำงาน กระทั่งนำไปสู่การออกหมายจับผู้ต้องหาขบวนการตัดไม้พะยูงกลุ่มใหญ่ถึง 18 คน" อรรถพล ย้ำและยืนยันว่านี่เป็นครั้งแรกที่เป็นการขยายผลไปถึงตัวขบวนการใหญ่ ส่วนหนึ่งก็เพราะรัฐบาลไม่อาจทนได้อีกต่อไปกับพวกตัดไม้และทำลายทรัพยากรของประเทศ ยิ่งเป็นคนต่างชาติอีกด้วย เพราะหาญกล้าเข้ามาเอาทรัพย์สินของชาติไป

ท้ายสุดกับมาตรการป้องกันและปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงที่ยังไม่จบสิ้นง่ายๆ อรรถพล บอกว่า ในส่วนของแผนระยะยาวนั้น ขณะนี้ได้ประสานไปยังฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้ช่วยเป็นหน่วยหลักในการประสานกับหน่วยงานอื่น และสกัดกั้นตามแนวชายแดนเพื่อป้องกัน "คนจากเพื่อนบ้าน" ที่เข้ามาลักลอบตัดไม้พะยูงในประเทศไทย ซึ่งพวกนี้จะเข้ามาเป็นขบวนการ ตัดเสร็จก็ขนกลับประเทศตัวเอง พวกนี้เริ่มจะคืบคลานและเข้ามาลักลอบตัดไม้มากขึ้นเรื่อยๆ

"เราหวังว่าการใช้มาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งการนำการยึดทรัพย์มาใช้ การเพิ่มโทษจำคุก 20 ปี ปรับ 2 ล้านบาท การบูรณาการหลากหลายหน่วยงาน องค์ประกอบเหล่านี้จะช่วยป้องกันทรัพยากรชาติอย่างไม้พะยูง รวมถึงไม้มีค่าอื่นๆ ทั้งไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ ที่เริ่มมีออร์เดอร์จากต่างชาติมาเรื่อยๆ ให้สามารถเติบโตบนแผ่นดินเราได้ต่อไป เราหวังจริงๆ เพราะทุกวันนี้กลุ่มไม้พันธุ์เหล่านี้มันน้อยลงมากแล้ว" รองอธิบดีกรมป่าไม้ ทิ้งท้ายด้วยความหวัง