posttoday

จับสัญญาณอันตรายในเมียนมา

30 ตุลาคม 2564

คอลัมน์ เปิดประตูค้าชายแดน

ในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา เราได้เห็นภาพการจับกุมแรงงานเมียนมาที่หลบหนีเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติชายแดนไทย-เมียนมา ไม่ว่าจะเป็นที่กาญจณบุรี แม่สอด หรือจุดต่างๆอีกหลายจุด 

ทำให้ผมต้องคิดต่อและเกิดความกังวลใจว่า หรือนี่จะเป็นสัญญาณอันตรายอะไรหรือเปล่า? เพราะนี่อาจจะเกิดจากหลากหลายปัจจัยที่เป็นปัญหารุมเร้ารัฐบาลเมียนมาอยู่ในขณะนี้ 

ซึ่งแม้รัฐบาลเมียนมาเองก็ได้พยายามอย่างเต็มกำลังในการแก้ไขปัญหาอยู่ แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็ไม่ได้สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร 

ผมอยากจะนำเอาหลายปัจจัยนั้นมาวิเคราะห์ให้อ่านเล่นๆนะครับ ก็ขอให้แฟนคลับทุกท่านอ่านแล้วลองคิดตามกันไปนะครับ

ในช่วงนี้ได้มีการประชุมผู้นำอาเชียนเกิดขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ทางสมาชิกชาติอาเชี่ยนทั้ง 9 ประเทศ (จาก 10 ประเทศตัดเมียนมาออกหนึ่งประเทศเหลือ 9 ประเทศ) ได้ลงมติไม่เชิญผู้นำของประเทศเมียนมาที่มาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาร่วมประชุมด้วย เพราะให้เหตุผลมาจากการปฎิวัติและปราบปรามประชาชน ตามที่เราทราบๆกันนั้น อาจจะสร้างความยุ่งอยากให้แก่ชาวเมียนมาได้ 

เพราะก่อนที่มีการประชุมนี้ ทางรัฐบาลเมียนมาก็ได้พยายามแสดงตนว่าได้ผ่อนคลายลง ด้วยการปล่อยนักโทษที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลและถูกจับกุมตัวไปในช่วงของการชุมนุมหลังรัฐประหาร 

โดยปล่อยออกมาร่วม 5 พันกว่าคน ซึ่งถ้ามองจากสายตาของผม ผมยังไม่เห็นนักการเมืองระดับแถวหน้าถูกปล่อยตัวออกมา จะมีแต่ระดับธรรมดาเท่านั้น 

ดังนั้นอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ถูกใจของประเทศผู้มีอิทธิพลจากภายนอกก็ได้ ดังนั้นการประชุมผู้นำอาเชี่ยนจึงยังไม่ได้เชิญผู้นำเมียนมาให้เข้าร่วมประชุม 

แต่อย่างไรก็ตามทางฝั่งของฝ่ายผู้ต่อต้านรัฐบาลเอง ก็ยังไม่เห็นข่าวว่าถูกเชิญเช่นกัน คงต้องรอดูอีกสักพักว่าทางรัฐบาลเมียนมาจะมีปฎิกริยาตอบโต้อย่างไร? นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่แรงงานชาวเมียนมาเขาอาจจะคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วไม่แน่ใจในปัญหาว่าจะบานปลายหรือไม่? 

จนถึงกับต้องหาที่ๆปลอดภัยหรือโอกาสในการหาเงินก็เป็นได้ครับ

อีกปัจจัยหนึ่งคือปัญหาโรคระบาด COVID-19 จะเห็นว่าวันนี้ที่เมืองใหญ่ๆอย่างเมืองย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เมาะละแหม่ง ข่าวการแพร่ระบาดดูเหมือนจะลดลง ตัวเลขการฉีดวัคซีนที่ทางการเมียนมาตั้งเป้าไว้ว่า จะพยายามฉีดให้ครบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ 

แต่จากตัวเลขที่ฉีดได้แต่ละวัน หากนำมาคิดคำนวนกับตัวเลขวันเวลาที่เหลืออยู่จนกว่าจะถึงสิ้นปีนี้ คิดว่าไม่น่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย 

ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ไม่ได้สะท้อนถึงความเป็นจริงแต่อย่างใด ดังนั้นตามเมืองต่างๆในรัฐต่างๆ ก็มีผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐฉาน จึงทำให้เห็นภาพของแรงงานชาวเมียนมาที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นทุกๆวัน 

ผมเชื่อว่าทุกท่านก็ได้เห็นในหน้าของโซเชียลมีเดียหรือแม้แต่ในไลน์ที่ส่งต่อๆกันมา เราก็พบเห็นมากขึ้นทุกวัน 

ดังนั้นจึงพอจะอนุมานได้ว่า โรคระบาดที่หนักหน่วงก็คงจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการทะลักเข้ามาของแรงงานหนีกฎหมายครับ

ปัจจัยอีกหนึ่งอย่างคือการที่คนงานตกงานกันในเมืองใหญ่ เช่นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆในเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ 

เหตุผลหลักอย่างหนึ่งคือการดำเนินธุรกิจของธนาคารพานิชย์ในประเทศเมียนมาไม่สามารถทำได้สะดวก เพราะการโจมตีธนาคารซึ่งอาจจะเกิดโดยความตั้งใจทำให้เกิด หรือเกิดโดยอัตโนมัติด้วยการแห่กันไปถอนเงิน 

ทำให้ธนาคารไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เพราะหากมีการเบิกเงินเกินกว่าเงินทุนสำรองของธนาคาร จะทำให้เกิดการล่มสลายของธนาคารได้  

วิธีแก้ไขปัญหานี้ธนาคารจึงมีความจำเป็นต้องกำหนดเพดานจำนวนผู้ใช้บริการ และจำนวนเงินที่เบิก จึงเกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องทางกระแสเงินสดในตลาดเงิน 

ส่งผลต่อเนื่องไปที่กิจการการลงทุนทางตรงหรือโรงงานการผลิตต่างๆ ไม่สามารถเปิดดำเนินกิจการได้อย่างปกติ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้แรงงานภาคอุตสาหกรรมในประเทศตกงาน

จนกระทั่งส่งผลให้มีแรงงานต้องบากหน้ามาหางานทำในต่างประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศตนนั่นเอง

อีกปัจจัยหนึ่งคืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในประเทศเมียนมา ที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศเมียนมา ก็ไหลลงมาตลอด ทำให้สินค้าที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศมาโดยตลอด ก็เกิดปัญหาต้นทุนสินค้าขยับขึ้นตามอัตราแลกเปลี่ยน 

ส่งผลให้เกิดอัตราเงินเฟ้อที่ทะลักขึ้นมามากมาย จนเกิดปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นมา  อีกหลากหลายปัญหาที่ไม่คาดคิด ผมจึงเชื่อว่าปัจจัยที่ทำให้แรงงานเมียนมายอมที่จะละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน เข้ามาเผชิญกับความยากลำบากในต่างแดน ซึ่งหากคนธรรมดาทั่วไป ที่ไม่เคยไปทำงานต่างแดนหรือห่างไกลบ้านเกิดเมืองนอน คงไม่รู้สึกถึงความยากลำบาก คงคิดว่าทำงานแล้วได้เงินมากๆ เป็นเรื่องที่มีความสุขแน่นอน

แต่ถ้าเป็นคนที่อยู่ในเหตุการณ์ละทิ้งบ้านเกิด แล้วลี้ภัยไปอยู่ต่างแดน คงจะซาบซึ้งถึงความยากลำบากนี้ได้ เพราะอยู่ต่างบ้านต่างแดน แน่นอนว่าไม่เหมือนกับบ้านเกิดของตนเองแน่นอนครับ 

ต่อให้มีหน้าที่การงานดีอย่างไร ก็ยังคงเป็นพลเมืองชั้นสองอยู่ดีครับ ดังนั้นผมเองก็เข้าใจในหัวอกคนที่ต้องจากบ้านจากเมืองมาครับ 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยความปลอดภัยในการสู้รบและปัจจัยอื่นๆอีกหลายปัจจัย 

ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ อาจจะเป็นสัญญาณที่อันตรายมากๆของประชาชนชาวเมียนมา

ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของผมครับ