posttoday

ชาวเมียนมาโพ้นทะเลใน New York

21 สิงหาคม 2564

คอลัมน์ เปิดประตูค้าชายแดน

อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เล่าถึงชาวเมียนมาโพ้นทะเลที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งผมเองมีความสัมพันธ์โดยตรงกับเพื่อนที่เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ ซึ่งเป็นชาวเมียนมาโพ้นทะเลที่มีเชื้อสายจีนเดินทางมาจากกรุงย่างกุ้ง มาลงหลักปักฐานอยู่ที่ New York ทำให้ผมได้มีโอกาสไปพบปะกับกลุ่มชาวเมียนมาโพ้นทะเลที่นั่นหลายครั้ง ผมจึงพอจะทราบถึงศักย์ภาพทางด้านเศรษฐกิจของเขาเหล่านั้นพอสมควร ต้องบอกว่า ไม่ธรรมดาเลยละครับ

ในช่วงสมัยของท่านประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ครองอำนาจอยู่ (ค.ศ.2010-2015) ท่านก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการลงทุนของประเทศเมียนมา เพื่อเป็นการดึงเอานักลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปลงทุนในเมียนมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

นอกจากนักลงทุนที่มาจากประเทศต่างๆเช่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นประเทศหลักสำคัญในการลงทุนจากภายนอกแลัว ยังมีประเทศอื่นๆเช่น สิงคโปร์ ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฯลฯ ต่างหลั่งไหลเข้าไปดูงานด้านการส่งเสริมการลงทุนของประเทศเมียนมา เพื่อมองหาหลู่ทางในการลงทุนกัน

ในยุคนั้นเรียกว่าคึกคักมาก ประเทศเมียนมาเปรียบเสมือนสาวน้อยที่ถูกไอ้หนุ่มรุมตามจีบยังไงยังงั้น เรียกว่าหัวกระไดไม่แห้งเลยละครับ ส่วนหนึ่งที่ทางรัฐบาลท่านเต็ง เส่งได้ตั้งเป้าหมายเล็งไป ก็คือกลุ่มชาวเมียนมาโพ้นทะเลย่อมไม่ตกขบวนเลยครับ ผมจำได้ว่ามีการจัดกลุ่มนักธุรกิจเชื้อสายเมียนมาที่อยู่ที่ New York ก็ได้รับเชิญมาลงทุนเช่นเดียวกัน เขาจึงได้รวมกลุ่มกันมา ถ้าผมจำไม่ผิดมากันประมาณ 40-50 คนเลยทีเดียว โดยหุ้นส่วนผมก็ได้ร่วมเดินทางมาด้วย และได้เข้าพบท่านประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ที่ทำเนียบประธานาธิบดีที่เนปิดอร์ด้วยเช่นกันครับ

นักธุรกิจที่เป็นชาวเมียนมาโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ที่ New York ส่วนใหญ่ที่ผมได้มีโอกาสพบเจอ จะเป็นชาวเมียนมาเชื้อสายจีนเป็นส่วนใหญ่ครับ โดยส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนกวางตุ้งเสีย 80%-90% เลยครับ ที่เหลือจึงจะเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนและชาวจีนยูนนาน เหตุผลที่ผมได้พบเจอ อาจจะเป็นเพราะหุ้นส่วนของผมเป็นชาวจีนกวางตุ้งเลย ทำให้ได้เจอแต่ชาวจีนกวางตุ้งก็เป็นได้ ส่วนชาวจีนยูนนาน

แม้ผมจะคุ้นเคยกับสมาคมนี้ในกรุงย่างกุ้ง แต่ที่ New York เพราะผมก็มีรุ่นพี่ท่านหนึ่งอาศัยอยู่ที่นั่น แต่ก็ยังไม่เห็นมีใครที่ทำธุรกิจที่นั่นเลย  หรืออาจจะเป็นเพราะว่าผมยังไปไม่ถูกจุดก็เป็นไปได้นะครับ 

ส่วนชาวจีนที่ China Town ในมหานคร New York ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาจีนกวางตุ้งเป็นหลัก อันที่จริงภาษาจีนกวางตุ้งก็จะมีหลากหลายพอสมควร เพราะในมณฑลกวางตุ้งแต่ละเขต ก็จะพูดภาษาที่เพี้ยนๆกันออกไป เช่นที่กวางเจา ฮ่องกง มาเก๊า และจูไฮ่ กลุ่มนี้จะเป็นภาษา “กวางตุ้งยั่บฮอย” ส่วนแถบมณฑลกวางสี และหมู่บ้านเขตชายแดนที่ติดกับกวางสี จะพูดภาษา “กวางตุ้งกุ๋ยหน่าน”

ส่วนในมณฑลกวางตุ้งตามเขตฝั่งกลางลงไปถึงเขตไถซาน ก็จะพูดภาษา “กวางตุ้งถ่อยซัน” และถ้าเป็นทางแถบที่ราบสูงกวางตุ้ง ก็จะพูดภาษา “กวางตุ้งกอแหย่น” เป็นต้น และที่เป็นชาวจีนโพ้นทะเล ที่อพยพมาอยู่ในแถบอาเชี่ยนเราหรือที่เขาเรียกว่า “หนานหยาง” ส่วนใหญ่จะเป็นชาวกวางตุ้งถ่อยซันกับกวางตุ้งยั่บฮอย ซึ่งเป็นคนที่ประสบภัยธรรมชาติและภัยสงครามมากที่สุดนั่นเอง

ในส่วนของกวางตุ้งยั่บฮอยก็ยังแบ่งแยกออกเป็น ซัมยั่บ เซ่ยั่บอีกครับ ดังนั้นกลุ่มที่เดินทางไปสหรัฐอเมริกา ไม่เฉพาะที่มหานคร New York เท่านั้น ยังมีที่ฝั่งตะวันตกเช่นที่นครลอสแองเจอลิส นครซานฟรานซิสโก ก็มีเยอะมาก และที่เยอะที่สุดก็เป็นในยุคตื่นทองของนครซานฟรานซิสโกนั่นเองครับ

ในยุคนั้นชาวจีนที่ไปเป็นกุลีสร้างทางรถไฟ และเป็นคนรับจ้างขุดทองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะเห็นว่านครซานฟรานซิสโก คนจีนจะเรียกว่า “จิ้วจิงซาน” แปลจากคำว่า “จิ้ว” แปลว่าเก่า “จิง”แปลว่าทอง และ “ซาน”แปลว่าภูเขา ถ้าแปลตรงตัวก็คือ “ภูเขาทองเก่า”นั่นเองครับ

หากเราได้สัมผัสกับชาวจีนโพ้นทะเลที่ต่างประเทศ ผมเชื่อว่าจะมีสองกลุ่มใหญ่ๆที่น่าสนใจ กลุ่มแรกคือกลุ่มยั่บฮอย ที่มาจากกวางเจากับฮ่องกง ซึ่งยังจะต้องแบ่งออกเป็นกลุ่มคนมาใหม่กับกลุ่มคนที่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มามือเปล่า ยังติดเอามันสมองที่เต็มไปด้วยความรู้และเงินทุนมาหาโอกาสในสหรัฐอเมริกา

ดังนั้นเขาจะมีพร้อมทุกอย่างที่จะบุกเบิกได้โดยไม่ต้องลำบากยากเข็ญนัก กับกลุ่มถ่อยซัน ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เขามาบุกเบิกเหมือนลอดลายมังกรครับ ดังนั้นกลุ่มนี้จะอึดและมัธยัสถ์เป็นใบเบิกทางครับ อย่างไรก็ตามก็มีบางส่วนเขามาจากการก้าวแรกที่ไปอยู่ในประเทศแถบหนานหยางก่อน จากนั้นจึงค่อยอพยพมายังสหรัฐอเมริกาในภายหลังครับ

ส่วนชาวเมียนมาโพ้นทะเลเชื้อสายจีนที่เข้ามาหาโอกาสสร้างชีวิตใหม่นั้น ก็จะเป็นกลุ่มหลังสุดเป็นส่วนใหญ่ครับ เท่าที่สัมผัสมา ส่วนใหญ่จะลี้ภัยการเมืองการปกครองในประเทศเมียนมา แล้วเดินทางออกนอกประเทศ คนที่มีปัญญาหน่อยก็จะเข้ามาโดยตรงเลย

ส่วนบางคนก็จะเข้าไปพักคอยที่ไต้หวันก่อน แล้วจึงขอลี้ภัยเข้ามาสหรัฐอเมริกาในภายหลังครับ ดังนั้นที่ไต้หวันจึงมีชุมชนชาวเมียนมาโพ้นทะเลอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ โดยจะอาศัยเพื่อการพักคอยไปอยู่ประเทศที่สามนี่แหละครับ 

อาทิตย์หน้าผมจะเล่าถึงชาวเมียนมาโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ที่ไต้หวันให้อ่านนะครับ