posttoday

สิ่งที่น่ากังวลใจในยามเปลี่ยนแปลงการปกครอง

06 กุมภาพันธ์ 2564

โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ตั้งแต่เช้าตรู่ของวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าทุกท่านต้องทราบข่าวการการเข้าไปเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือการปฏิวัติรัฐประหาร ของประเทศเมียนมา (แล้วแต่แต่ละฝ่ายจะเรียกละครับ)

ทำให้มีผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนในประเทศเมียนมาและผู้สื่อข่าวหลากหลายสำนัก ได้ติดต่อเข้ามาหาผม บ้างก็เข้ามาปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี? บ้างก็เข้ามาเพื่อสอบถามด้วยความห่วงใย บ้างก็ขอเข้ามาหาข้อมูลเพื่อไปทำข่าว มีมาทุกรูปแบบเลยครับ

ผมก็อยากจะอาศัยช่องทางของคอลัมน์นี้ มาเล่าเพื่อปรับทุกข์ให้ท่านอ่านเล่นนะครับ 

คำถามตามที่ได้รับเข้ามา และสิ่งที่ผู้สื่อข่าวถามไถ่เข้ามากๆ ก็ไม่ค่อยแตกต่างกันมาก เช่น เมื่อเกิดรัฐประหารเช่นนี้ จะมีผลอะไรต่อนักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนที่นั่นหรือไม่? จะมีการแทรกแซงจากชาติตะวันตกหรือไม่? หรือนักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนที่ประเทศเมียนมาไปแล้ว จะมีการถูกยกเลิกสัญญาหรือถูกเบี้ยวจากผู้ร่วมทุนหรือไม่? หลากหลายคำถามที่เข้ามา

ผมคิดว่าเป็นเรื่องของความกังวลใจของผู้ถาม แน่นอนว่า ไม่แปลกเลยครับ ที่ปุถุชนคนธรรมดาย่อมจะเกิดขึ้นได้ครับ ที่ผมตอบๆไปนั้น ผมเองไม่กล้าที่จะใช้คำว่าปลอบใจ เพราะเป็นเพียงให้คำแนะนำว่าต้องตั้งสติให้มั่นว่าเพิ่งหวั่นไหวมากจนเกินไป

และอย่าเพิ่งรีบถอนตัวออกมา เหมือนอย่างที่บริษัทเบียร์คีรินของญี่ปุ่นเขาทำ เพราะจะมีแต่ผลเสียเท่านั้น ช่วงนี้ยังคงฝุ่นตลบอบอวลอยู่ ควรจะนิ่งๆไว้ รอดูสถานการณ์ก่อนสักระยะหนึ่ง

ผมเชื่อว่าทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดีครับ ขอให้ยึดหลักที่ว่า “เรือเมื่อถึงใต้สะพาน หัวเรือจะไม่ไปชนตอม่อเสาสะพานแน่นอน” เดี๋ยวพอผ่านไปสักระยะหนึ่ง ก็จะดีขึ้นมาอย่างแน่นอนครับ

ในส่วนของการแทรกแซงจากชาติตะวันตก ผมขอให้พวกเราคิดและทบทวนดูสถานการณ์ก่อนหน้านี้ เพราะมีเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญคือ ในปี 2019-2020 จีนได้มีปัญหาสงครามการค้ากับทางสหรัฐอเมริกา ทำให้เศรษฐกิจภาพรวมของโลก ตกอยู่ในภาวะตึงเครียดกันไปหมด

บางประเทศก็ได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้าง หลังจากนั้นไม่นาน ในวันที่ 17-19 มกราคม 2020 ก่อนที่COVID-19 จะระบาดไม่นาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เดินทางมาเยือนประเทศเมียนมา และได้ลงนาม MOU กับประธานาธิบดี อู วิน เมี่ยน ไปทั้งหมดสามสิบกว่าฉบับ

อีกทั้งในช่วงระยะสิบปีมานี้ นโยบายที่สำคัญของจีนในเรื่อง One Belt  One Road ซึ่งประเมินดูจากโครงการต่างๆที่เขาได้ไปลงในประเทศเมียนมา ล้วนแล้วแต่จะส่งผลทำให้ท่าเรือน้ำลึกเจ้าผิว รัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา จะกลายเป็นประตูหน้าต่างฝั่งภาคตะวันตกของจีน จะทำให้เขามีทางออกสู่ทะเลเพิ่มอีกทาง

อีกอย่างระยะทางจากท่าเรือน้ำลึกเจ้าผิวถึงเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ใกล้กว่าจากชายทะเลฝั่งตะวันออกของจีนสู่เมืองคุนหมิงเยอะมาก

ดังนั้นหากจะเกิดปัญหาเรื่องการแทรกแซงเมียนมา ด้วยการแซงชั่น ผมคิดว่าคงไม่น่าจะหนักหนาสาหัสมากนัก เพราะถ้าเขาแซงชั่นด้วยวิธีที่หนักๆ แน่นอนว่าประเทศเมียนมาต้องหันไปพึ่งพาจีนด้านเดียวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลประโยชน์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในประเทศเมียนมาในอนาคต จะตกไปเป็นของประเทศจีนโดยปริยาย

ในส่วนของประเทศไทยเราเอง ผมก็ยังมองไม่ออกว่า หากประเทศเมียนมาถูกชาติตะวันตกแทรกแซง แล้วไทยเราจะเสียผลประโยชน์อย่างไร ในทางกลับกัน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ประชาชนของเขาก็ยังคงต้องกินต้องใช้

ในขณะที่การผลิตในประเทศของเขา ยังไม่ถึงขีดที่จะเหลือกินเหลือใช้ จนกระทั่งต้องไปพึ่งพาการส่งออก แต่เขายังคงต้องอาศัยการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆอยู่ดี เ

รามีชายแดนติดกับเขา 2400 กว่ากิโลเมตร เราคงต้องเข้าใจถึงผลประโยชน์ที่เราควรจะไล่เก็บให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยต่อไปครับ 

ดังนั้น ในระยะฝุ่นตลบอยู่นี้ ขอให้ทุกท่านที่ลงทุนในประเทศเมียนมาไปแล้ว หรือที่กำลังมีแผนที่จะลงทุนอยู่ ก็จงอดทนอดกลั้นต่อไป

ดูสถานการณ์ต่ออีกสักอาทิตย์สองอาทิตย์ แล้วท่านจะตัดสินใจอย่างไร ก็ยังไม่สายเกินไปนะครับ สู้ๆๆๆๆ