posttoday

Silver Age อีกหนึ่ง Theme การลงทุนในทศวรรษนี้

21 กันยายน 2558

โดย...พิมเพ็ญ อิศรางกูร ณ อยุธยา ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย)

โดย...พิมเพ็ญ อิศรางกูร ณ อยุธยา ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย)

หนึ่งในการลงทุนที่ร้อนแรงอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นกองทุนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ หรือหุ้นในกลุ่ม Healthcare ที่ปัจจุบันในตลาดบ้านเรามีกองทุนทยอยออกมากว่า 14 กอง (รวมกองทุน RMF) ด้วยขนาดสินทรัพย์สุทธิกว่า 5.3 หมื่นล้านบาท (ณ 9 ก.ย. 2558) สำหรับปัจจัยหลักๆที่สนับสนุนการลงทุนในหุ้นกลุ่มดังกล่าว ก็คือเทรนด์ของประชากรสูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้ความต้องการสินค้าและบริการด้านสุขภาพ มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นตามมา อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแค่หุ้นในกลุ่ม Healthcare เท่านั้น ที่จะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มประชากรสูงอายุ แต่ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมอีกมากมาย ที่จะได้รับประโยชน์จากประชากรในกลุ่มนี้ หรือที่เรียกกันว่ากลุ่ม Silver Age ซึ่งเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกแทนกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะคนในวัยนี้มักมีผมสีขาวหรือสีเงิน (Silver) นั่นเอง

ข้อมูลที่น่าสนใจของสหประชาชาติ (United Nation) รายงานว่าในอีก 40 ปีข้างหน้า (ระหว่างปีพ.ศ. 2558 – 2598) ประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 252% นอกจากนี้ จะเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ที่จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จะถูกแซงด้วยจำนวนกลุ่มผู้สูงอายุ (ที่มา: Amundi Asset Management) ทั้งนี้ โครงสร้างประชากรที่มีคนสูงอายุเพิ่มขึ้นนั้น มาจากการลดลงของอัตราการเกิด และอายุขัยเฉลี่ยที่ยาวนานขึ้นจากเทคโนโลยีทางการแพทย์และการหันมาเอาใจใส่สุขภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวจากการที่มีจำนวนบุตรน้อยลง ประกอบกับอายุที่ยืนยาวขึ้นของคนในครอบครัว ทำให้แนวโน้มที่คนในครอบครัวจะหันมาดูแลผู้ที่มีอายุสูงกว่า  ส่งผลให้ทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ

จากที่กล่าวไปตอนต้นว่าพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้สูงอายุ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่ม Healthcare เท่านั้น แต่ยังรวมถึงหลายอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงถึงประชากรผู้สูงอายุด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราสามารถแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มอายุ  65 – 80 ปี (Young Pensioners)   ที่เพิ่งจะเกษียณอายุการทำงาน มีความมั่งคั่งสูง (Net Worth) และยังค่อนข้างแข็งแรง พึ่งพาตัวเองได้ โดยกลุ่มนี้จะมีกำลังซื้อสูงเนื่องจากส่วนใหญ่หมดภาระเงินก้อนใหญ่ เช่น สินเชื่อบ้านไปแล้ว ทำให้มีรายได้หลังหักภาษี (Disposable Income) อยู่ในระดับสูง และคนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่เอาใจใส่ดูแลสุขภาพตัวเอง และยังมีพฤติกรรมการใช้จ่ายไปกับกิจกรรมท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ การดูแลสุขภาพเพื่อฟื้นฟูสภาพและยืดอายุขัย (Anti-Aging) หรือพูดง่ายๆว่าต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังจากทำงานเหนื่อยล้ามาทั้งชีวิต ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่จะยอมจ่ายเงินแพงๆ เพื่อแลกมากับสินค้าหรือการบริการที่ดี เช่น ซื้อรถยนต์หรือผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเองระดับไฮเอนด์ เดินทางกับสายการบินระดับเวิลด์คลาส เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความต้องการด้านวางแผนทางการเงินเพื่อบริหารความมั่งคั่ง หรือ ลงทุนในประกันชีวิตที่มีเบี้ยประกันราคาแพง เพื่อเสถียรภาพทางการเงินด้วย

สำหรับกลุ่มที่ 2) คือกลุ่มที่อายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป (Elderly) เป็นกลุ่มที่สุขภาพเริ่มจะไม่แข็งแรงและมีความจำเป็นต้องพึ่งพาคนอื่น ดังนั้น พฤติกรรมการใช้จ่ายมักจะเกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเวชภัณฑ์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยฟัง เครื่องช่วยหายใจ และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังมีความต้องการบริการด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งคนในครอบครัวที่อายุน้อยกว่า ยอมจ่ายเงินเพื่อแลกกับความปลอดภัยของบุพการี เช่นเทคโนโลยีระบบการรักษาความปลอดภัยในบ้านและทรัพย์สิน เป็นต้น

ทั้ง 2 กลุ่มที่ได้กล่าวมาข้างต้น จัดเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในยุค Baby Boomer (เกิดช่วงปีพ.ศ. 2489 – 2507 หรือมีอายุระหว่าง 51 – 69 ปี) โดยลักษณะเฉพาะที่เป็นที่รู้กันของคนกลุ่มนี้ คือจะเป็นคนที่ทำงานหนักเพื่อสร้างตัว ออมเงินเก่ง และอีกกลุ่มคือ  Silent Generation (เกิดช่วงปีพ.ศ. 2468 – 2488 หรือมีอายุ 70 – 90 ปี) จะมีความจงรักภักดีสูงคล้ายกับกลุ่ม Baby Boomer ซึ่งจากนิสัยข้างต้น สามารถเชื่อมโยงกับพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า เช่น นิสัยประหยัดอดออมจนมีความมั่งคั่งสะสมมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน  และความภักดีที่สูงซึ่งจะส่งผลถึงการซื้อสินค้าหรือบริการเดิมซ้ำๆ

แม้ว่าแนวโน้มการเพิ่มสูงขึ้นของผู้สูงอายุจะกระจายไปทั่วโลก แต่จากตัวเลขของสหประชาชาติประเมินว่า ประชากรที่สูงอายุในยุโรปมีสัดส่วนสูงที่สุด และจะสูงถึง 30% ในอีก 35 ปีข้างหน้า (ปีพ.ศ 2593) เทียบกับเอเชียที่คาดว่าจะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพียง 15% นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้สูงอายุในยุโรปมีลักษณะการใช้ชีวิตและพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินที่เอื้อหนุนต่อผลกำไรของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้สูงอายุในยุโรปเป็นกลุ่มที่มีการเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก หรือหญิงสูงวัยในยุโรปมียอดการใช้จ่ายในผลิตภัณฑ์ดูแลความงามในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับยอดการใช้จ่ายทั่วโลก นอกจากนี้ผู้สูงอายุในยุโรปยังมีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ยุโรปค่อนข้างสูงด้วย

จากที่ได้กล่าวมา สรุปได้ว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากกลุ่มผู้สูงอายุนั้นครอบคลุมกว้างกว่ากลุ่ม Healthcare ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้สูงอายุ เช่น ศูนย์ดูแลคนชรา กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการพักผ่อน ท่องเที่ยว สันทนาการ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการดูแลตัวเองเช่น เวชสำอางค์ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความมั่งคั่งและบริการทางการเงิน และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านี้ จึงมีความน่าสนใจ และมีแนวโน้มที่น่าลงทุนตามแนวทางการเปลี่ยนแปลงของประชากรที่จะมีอายุยืนขึ้น บลจ.กสิกรไทยจึงมีแผนที่จะออกกองทุนต่างประเทศ ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นยุโรปในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากประชากรผู้สูงอายุ โดยคาดว่าจะเปิดเสนอขายได้ในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้
คำเตือน ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน (จัดทำ ณ วันที่ 15 กันยายน 2558)