posttoday

“PEA” เปิดแพลตฟอร์มคาร์บอน ขับเคลื่อนไทยสู่ Net Zero

26 เมษายน 2567

กฟภ.เปิดตัวแพลตฟอร์ม Cabonform by Buffer Box ตัวช่วยผู้ประกอบการจัดทำรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ขับเคลื่อนไทยสู่สังคมไร้คาร์บอน

นายเสริมชัย จารุวัฒนดิลก รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจพลังงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA กล่าวบรรยายหัวข้อ “PEA Centric Management of REC and Carbon FORM” ในงานสัมมนา Go Green 2024: The Ambition of Thailand จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2567 ว่า การผลักดันประเทศไทยไปสู่สังคมไร้คาร์บอนเป็นเรื่องที่ภาครัฐให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อให้ไทยไปด้วยกันกับประชาคมโลก 

ทั้งนี้ กฟภ.เป็นหน่วยงานด้านพลังงานโดยภาครัฐ และส่วนสำคัญของการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมขององค์กรใน Scope 2 จากการใช้ไฟฟ้า จึงมีความพร้อมที่จะสนับสนุนภาคส่วนอื่นๆ ด้วย 4 โซลูชัน ประกอบด้วย 
 

“PEA” เปิดแพลตฟอร์มคาร์บอน ขับเคลื่อนไทยสู่ Net Zero

1.การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) 

สำหรับผู้ผลิตที่เลือกใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะได้ใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ใช้สำแดงการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นรายชั่วโมงตามมาตรฐานสากล คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปลายปีนี้ 

2.พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop)

กฟภ.เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการพลังงานจากระบบ Solar Rooftop แบบครบวงจร ตั้งแต่การสำรวจ ออกแบบ และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา

3.บริการ Carbonform by Buffer Box 

แพลตฟอร์มสำหรับจัดทำรายงาน และการบริหารจัดการ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
 

“ข้อมูลการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะเป็นกลไกลหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยมุ่งหน้าสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ โดยแพลตฟอร์ม Carbonform จะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการจัดเก็บข้อมูล”

ทั้งนี้ ในตลาดปัจจุบันเองมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ซึ่งแพลตฟอร์มของ กฟภ. มีความได้เปรียบจากผู้ให้บริการรายอื่นๆ ตรงที่เป็นผู้ให้บริการไฟฟ้าด้วย จึงสามารถเชื่อมโยงข้อมูลการใช้ไฟฟ้า และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ scope 2 ได้อย่างอัตโนมัติ รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลอื่นๆ ขององค์กรได้ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกการจัดเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ภายในองค์กรทั้งหมด

โดยการทำแพลตฟอร์ม Carbonform เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหา (Pain Point) ให้ลูกค้าที่ต้องการความช่วยเหลือในการจัดเก็บข้อมูล และจัดทำรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดย กฟภ. ได้พัฒนาแพลตฟอร์มร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) การจัดทำรายงานจึงเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) รวมทั้งหากมีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานในอนาคต ก็จะมีการปรับปรุงแพลตฟอร์มให้เป็นไปตามกฎระเบียบใหม่

นอกจากนี้ การจัดทำรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผ่านแพลตฟอร์มจะทำให้องค์กรสามารถมองเห็นภาพรวม และกระดานวิเคราะห์เพื่อเป็นแนวทางในการบรรลุเป้าหมายเน็ต ซีโร่ รวมทั้งการให้บริการให้คำปรึกษา โดยปัจจุบันแพลตฟอร์มให้บริการกับลูกค้าหลายรายทั้งภาครัฐ และเอกชน

“PEA” เปิดแพลตฟอร์มคาร์บอน ขับเคลื่อนไทยสู่ Net Zero

4.การจัดหาใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) โดย กฟภ. ภายใต้มาตรฐาน I-REC (The International REC Standard) เพื่อตอบโจทย์การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ใน Scope 2 เพื่อตอบโจทย์ขององค์กรที่ต้องการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (RE100)

นอกจากนี้ กฟภ.ยังมีการให้บริการคิดคำนวณสำหรับผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน และต้องการใบรับรองเพื่อที่จะซื้อขายแลกเปลี่ยน

“ภารกิจของ กฟภ.พยายามที่จะผลักดันให้ทุกภาคส่วนในระดับนโยบาย เพื่อให้เข้าถึงบริการพลังงานหมุนเวียนได้มากขึ้นในหลายมิติ และพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการ และผู้ใช้ไฟในการจัดหาพลังงานสะอาด”
“PEA” เปิดแพลตฟอร์มคาร์บอน ขับเคลื่อนไทยสู่ Net Zero