posttoday

"รายงานข่าวฆ่าตัวตาย"...ถึงเวลาสื่อไทยต้องเปลี่ยนแปลง

09 สิงหาคม 2558

กรณีศึกษาจากข่าวการฆ่าตัวตายของ "สิงห์ สควีซแอนิมอล" ที่สื่อมวลชนต้องเรียนรู้

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวการกระทำอัตวินิบาตกรรมของศิลปินชื่อดัง "สิงห์ สควีซ แอนิมอล"ตกอยู่ในความสนใจของคนทั้งประเทศ

ทว่าการรายงานข่าวอย่างต่อเนื่องทุกวันชนิดถี่ยิบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก่อให้เกิดคำถามถึงความเหมาะสมในการทำหน้าที่แบบ"เกาะติด"ของสื่อมวลชน ทั้งยังสร้างความกังวลว่าเสี่ยงที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Copycat เลียนแบบไอดอล

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยว่า เรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้คือ ข่าวการฆ่าตัวตายของคนดัง เสี่ยงต่อการเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ หรือที่เรียกว่า "Copy Cat"

"องค์การอนามัยโลกระบุว่า ผลกระทบจากการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของคนดังผ่านสื่อต่างๆ จะเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Copy Cat ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้แฟนคลับ หรือคนที่ชื่นชมในตัวคนผู้นั้น รู้สึกโศกเศร้าสะเทือนใจเป็นอย่างมาก และอาจคิดสั้นฆ่าตัวตายตามบุคคลอันเป็นที่รักได้

ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบต่อคนอีกกลุ่มคือ คนที่กำลังมีความทุกข์ในชีวิต อ่อนไหวและสับสน หรือคนที่ "อยู่ในระหว่างการตัดสินใจ" จะมองว่าการฆ่าตัวตายเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหา เช่น เคยมีเหตุการณ์คนกระโดดตึกฆ่าตัวตายต่อเนื่องรายวัน โดยลอกเลียนแบบจากข่าวที่ออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า"

5 ข้อที่นักข่าวต้องระวัง

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะนำถึง 5 ข้อควรระวังในการรายงานข่าวฆ่าตัวตาย ดังนี้

1.ไม่ควรนำเสนอวิธีการฆ่าตัวตายอย่างละเอียด ยกตัวอย่างการรมแก๊สเพื่อฆ่าตัวตาย หนังสือพิมพ์บางฉบับบรรยายชัดเจนว่าต้องปิดหน้าต่างให้มิดชิด เปิดแก๊สเป็นเวลานานเท่าไหร่ บางเคสฆ่าตัวตายด้วยการใช้สารเคมีก็มีการอธิบายอย่างละเอียดว่าใช้สารเคมีตัวใด ยี่ห้ออะไร ปริมาณเท่าไหร่

2.ไม่ควรนำเสนอข่าวฆ่าตัวตายไปในทางที่แสดงให้เห็นว่าผู้กระทำนั้นเด็ดเดี่ยว ใจถึง เพราะคนที่ปลิดชีพตัวเองอาจถูกมองว่าเป็นฮีโร่ เป็นวีรบุรุษ

3.อย่าใส่อารมณ์ความรู้สึกเยอะเกินไป จนแยกไม่ออกว่าคือข้อเท็จจริงหรือนิยาย เพราะอาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่ากำลังตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

4.สื่อโทรทัศน์ไม่ควรฉายภาพเหตุการณ์ซ้ำไปซ้ำมาเป็นเวลานาน

5.การมีสมาชิกในครอบครัวฆ่าตัวตาย คนที่ยังอยู่จะได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัส ฉะนั้นการไปสัมภาษณ์ด้วยคำถามบางคำถามไม่ต่างอะไรกับตอกย้ำซ้ำเติม

"ที่สำคัญ คนเสพข่าวต้องระมัดระวังเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ผู้เสียชีวิต เพราะการที่คนๆนั้นจะตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นได้ย่อมมีหลากหลายสาเหตุ และซับซ้อนกว่าที่คนอื่นจะเข้าใจ ฉะนั้นการไปวิจารณ์ตำหนิว่าโง่ เลว สิ้นคิด จึงถือว่าไม่เหมาะสม นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบไปยังครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่ต้องใช้ชีวิตต่อไปในสังคมด้วย"

อย่าเน้นดราม่า ควรเสนอทางออก

นพ.ประภาส อุครานันท์ ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ วิเคราะห์การรายงานข่าวการกระทำอัตนิวิบาตกรรมของศิลปินดังอย่าง สิงห์ สควีซแอนิมอลไว้อย่างน่าสนใจว่า

"เท่าที่ติดตามข่าว สื่อมวลชนพยายามนำเสนอข่าวอย่างเป็นคู่ขนาน หมายถึง รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และทำไม ขณะเดียวกันก็รายงานถึงผลกระทบที่มีต่อเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย เช่น ความโศกเศร้าเสียใจของครอบครัว คนรัก ความอาลัยของเพื่อนๆและแฟนคลับ แต่บางทีด้วยการแข่งขันกันรวดเร็วฉับไว อาจทำให้เผลอไปเน้นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกมากจนพอดี"

นพ.ประภาส กล่าวว่า สื่อมวลชนควรใส่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อันเป็นแนวทางที่จะช่วยป้องกันเหตุการฆ่าตัวตายอื่นๆที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าด้วย

"ตามหลักวิชาการ เวลารายงานข่าว อย่าปล่อยให้จบแบบห้วนๆ เพราะคนดูจะคิดต่อไม่ได้ เช่น พ่อผู้เสียชีวิตพูดว่า"ลูกเป็นคนเงียบๆมีอะไรมักไม่พูด ชอบเก็บไว้คนเดียว" หรือ"รู้เป็นนัยๆตั้งแต่ตอนที่ลูกไม่มาหาแล้วว่า เขาคงตัดสินใจไปแล้ว" ตรงนี้นักข่าวสามารถใช้เป็นโอกาสในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ลงไปในรายงานข่าวได้ เช่น สัญญาณเตือนก่อนที่จะฆ่าตัวตาย อาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า วิธีสังเกตความผิดปกติของคนที่คิดจะฆ่าตัวตาย จะช่วยให้ผู้อ่านได้รับรู้ เข้าใจ และตระหนัก เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวได้"นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องปัญหาการฆ่าตัวตายกล่าว

ถึงเวลาแล้วที่สื่อมวลชนต้องระมัดระวังการรายงานข่าวปัญหาการฆ่าตัวตายให้รอบคอบยิ่งขึ้นกว่าเดิม