posttoday

โดนลูกหลงกันทั้งโลก เงินเฟ้อคือสะเก็ดระเบิดสงคราม

23 มิถุนายน 2565

ข้าวยากหมากแพงต้องโทษใคร? โทษรัฐบาล โทษสงคราม หรือว่าโทษตัวเอง?

ในวันที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้นและเผยแพร่ (22 - 23 มิถุนายน 2022) มีสถานการณ์อันระทึกเกิดขึ้นในโลกเศรษฐกิจ

อย่างแรกคือ นายกรัฐมนตรีศรีลังกาบอกว่าเศรษฐกิจของประเทศพังพินาศแล้ว (collapsed) เพราะไม่เงินซื้อน้ำมันอีก - เรื่องของศรีลังกาคงไม่ต้องเสียเวลาอธิบายกันอีกเวลาพังพินาศเพราะอะไร แต่ที่ทำให้พินาศไวและไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดหนักเข้าไปอีก เพราะเงินเฟ้อที่ถาโถมเข้ามา

บางคนอาจจะมองว่าศรีลังกาเป็นประเทศเล็กประเทศน้อย และแถมบางคนก็อาจจะบอกว่ามันปั่นป่วนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ถ้าอย่างนั้นมาดู สถานการณ์ที่ 2 ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน

วันเดียวกันนั้น นายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ ของมาเลเซียกล่าวว่ารัฐบาลจะแจกจ่าย 1,740 ล้านริงกิต (395.19 ล้านดอลลาร์) ให้กับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำในเดือนนี้ ท่ามกลางปัญหาค่าครองชีพและค่าอาหารที่สูงขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นมาเลเซียอาจเพิ่มเงินอุดหนุนน้ำมันปรุงอาหารจาก 4,000 ล้านริงกิตที่วางแผนไว้ในปีนี้ด้วย

แผนการแจกเงินช่วยประชาชนรับมือกับเงินเฟ้อของมาเลเซียนี้ถอดแบบมาจากสิงคโปร์ มันแสดงให้เห็นว่าเพื่อนบ้านของไทยเริ่มตั้งการ์ดกันแล้ว หากช้าไปอาจบ่อนทำลายเศรษฐกิจของพวกเขา

ถามว่ารัฐบาลไทยทำอะไรบ้างแล้วในตอนนี้ และที่ทำไปแล้วเพียงพอหรือยัง?

คำถามนี้ไม่ใช่ตั้งแง่ แต่เพื่อช่วยย้ำเตือนว่านี่ไม่ใช่ "ปัญหาขาจรทางเศรษฐกิจ" แล้ว แต่จะกลายเป็นหายนะระดับโลกเอาง่ายๆ

ถ้าบางคนยังคิดว่าเรื่องทีเกิดขึ้นรอบๆ บ้านเรายังไม่ถือว่าใหญ่ไป ก็ขอให้ดูเรื่องที่ 3

วันเดียวกันนั้นมีรายงานว่าด้วยราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของราคาผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปีในเดือนพฤษภาคมมาอยู่ที่ 9.1% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในกลุ่ม G7

ไม่เท่านั้น ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (BoE) กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มว่าจะยังคงอยู่เหนือ 9% ในช่วงหลายเดือนข้างหน้าก่อนที่จะถึงจุดสูงสุดที่ระดับ 11% ในเดือนตุลาคมเล็กน้อย เมื่อค่าไฟฟ้าในครัวเรือนขึ้นอีกครั้ง

ค่าไฟและค่าพลังงานนี่แหละคือตัวการสำคัญ เช่นเดียวกับศรีลังกา

ดังที่สำนักข่าว Reuters รายงานว่านักลงทุนบางคนตัดสินว่าอังกฤษมีความเสี่ยงต่อทั้งเงินเฟ้อและภาวะถดถอยที่สูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงต้นทุนพลังงานนำเข้าจำนวนมากและปัญหาจาก Brexit

และถ้าสหราชอาณาจักรยังไม่ใหญ่พออีก ก็ลองดู "อภิมหาอำนาจ" อย่างสหรัฐ ซึ่งอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 8.6% ที่ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

ในวันเดียวกันนั้น ประธานาธิบดีสหรัฐเสนอให้หยุดพักเก็บภาษีน้ำมัน ซึ่งมันอาจจะช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ "บ้าง" แต่ไม่วายถุกนักเศรษฐศาสตร์ติงว่ามันไม่น่าจะช่วยอะไรมากนัก

นั่นก็เพราะการไม่เก็บภาษีก็เท่ากับกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งตอนนี้มันไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะจะกระตุ้นการใช้จ่าย เพราะเงินเฟ้อมันแรงอยู่แล้ว

ความยอกย้อนของสถานการณ์ช่วงนี้เหมือนกับที่นักวิเคราะห์บอกว่าสหราชอาณาจักอาจจะเจอ "ความเสี่ยงต่อทั้งเงินเฟ้อและภาวะถดถอย" และสหรัฐเองอาจจะเจอความยอกย้อนแบบเดียว ซึ่งในภาษาเศรษศาสตร์เรียกว่า Stagflation

คือภาวะที่เงินเฟ้อโคจรมาพบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย สับสนจนไม่รู้จะใช้ยาตัวไหนเยียวยากันดี

ดังนั้น จะคิดมาตรการอะไรขึ้นมาจะต้องทบทวนกันให้ดี เพราะยาที่ใช้รักษาอาจกลายเป็นตัวเร่งอาการของโรคได้เหมือนกัน เหมือนกับที่บางคนใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ จนทำให้เชื้อโรคดื้อยาในที่สุด

"กระสุนเงิน" ในการจัดกการกับ Stagflation มันมีอยู่ และสหรัฐก็เคยใช้มาแล้วในช่วงเงินเฟ้อสูงปรี๊ด

แต่ปรากฎว่ารัฐบาลไบเดนไม้ได้ใช้กระสุนเงินทางเศรษฐกิจ แต่ใช้วิธี "หาแพะรับบาป" โดยโยนความผิดเรืองเงินเฟ้อให้มั่วไปหมดว่าเกิดจากนั่นเกิดจากนี่ ราวกับตัวเองไม่ได้ส่วนรับผิดชอบอะไร

"แพะ" (หรืออันที่จริงก็ตัวการหนึ่งนั่นแหละ) ที่ถูกรัฐบาลไบเดนโยนบาปให้มากที่สุดเห็นจะเป็นปูติน/รัสเซีย

ฐานที่ก่อสงครามยูเครนจนทำให้ราคาน้ำมันพุ่งพรวด จนทำให้การส่งสินค้าอาหารจากประเทศผู้ผลิตหลักถูกขวางกั้น จนทำให้ซัพพลายเชนสะดุด และอีกมากหมายหลายข้อหา

แพะตัวนี้ถูกรัฐบาลไบเดนยกขึ้นมาบังหน้าตลอด จนกระทั่งแม้แต่คนในประเทศตัวเองก็เริ่มเอียน

หลังจากนั้นก็หันมาแพะตัวใหม่ ตัวล่าสุดคือบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ โดยไบเดนบอกว่า "ในช่วงเวลาแห่งสงคราม อัตรากำไรจากโรงกลั่นที่สูงกว่าปกติที่ถูกโยนให้ครัวเรือนชาวอเมริกัน (แบกรับ) โดยตรงนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้"

แต่ก็ไม่วายโยนบาปกลับไปที่ปูตินอีก โดยบอกว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่า วลาดิมีร์ ปูตินเป็นผู้รับผิดชอบหลักสำหรับความเจ็บปวดทางการเงินที่รุนแรงที่ชาวอเมริกันและครอบครัวของพวกเขาเผชิญอยู่ แต่ท่ามกลางสงครามที่ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินสูงขึ้นมากกว่า 1.70 ดอลลาร์ต่อแกลลอน อัตรากำไรจากโรงกลั่นที่สูงเป็นประวัติการณ์กลับทำให้ความเจ็บปวดนั้นแย่ลงไปอีก"

สรุปก็คือคนผิดคือปูตินกับบริษัทน้ำมัน ส่วนรัฐบาลสหรัฐนั้นไม่ผิด

ยังไม่พอแค่นั้น ไบเดน (ซึ่งตอนนี้ถูกแซะเรื่องโบ้ยความผิดไม่เว้นแต่ละวัน) ยังบอกว่า "หากเป็นความผิดของผม ทำไมประเทศอุตสาหกรรมหลักอื่นๆ ในโลกถึงมีอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น?"

ถ้ารัฐบาลไหนตอบนี้มีหวังโดนด่ากันทั้งบ้านทั้งเมือง

ถามว่ามันเป็นความผิดของใคร? ถ้าเป็นฝ่ายโลกตะวันตก (หรือเอียงไปทางนั้น) ก็คงต้องตอบว่ามันเป็นความผิดขจองรัสเซียที่ก่อสงครามขึ้น แต่ถ้าเป็นฝ่ายรัสเซีย (หรือเห็นใจรัสเซีย) ก็ต้องบอกว่าเพราะโลกตะวันตกยั่วยุให้รัสเซียก่อสงคราม

เมื่อสงครามเกิดน้ำมันย่อมแพง ทองย่อมแพง ของย่อมแพง หุ้นย่อมตก การลงทุนย่อมแปรปรวน

ดังนั้นกับคำถามที่ว่าใครเป็นตัวการทำให้โลกเจอกับเงินเฟ้อที่รุนแรงเพียงนี้ ก็ต้องถามตัวเองว่าเราเชื่อคำอธิบายของฝ่ายไหน?

แต่อีกคำถามคือ ในเมื่อแต่ละฝ่ายย่อมรู้ว่าสงครามหลีกเลี่ยงไม่ได้และผลของสงครามคืออะไร ทำไมรัฐบาลเหล่านั้นถึงไม่เตรียมการอะไรเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อรับมือกับแรงกระเพื่อมที่จะตามมา?

คำตอบมีไม่กี่ชอยส์คือ ถ้าไม่ประเมินเรื่องสงครามผิด ก็คงเป็นเพราะไร้ความสามารถในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจ

หรือไม่ก็คงต้องพูดภาษาฝรั่งคือ Didn't See It Coming คือไม่รู้ตัวเลยว่ามันจะออกมาอีหรอบนี้

มีบทความหนึ่งโดย Yahoo Finance ที่พาดหัวไว้อย่างตรงใจผู้เขียน บอกว่า "Stagflation คือการแก้แค้นของของปูติน: ทุกคนบอกว่าสงครามของเขาจะทำลายเศรษฐกิจของรัสเซีย แต่เขาก็ฆ่าอเมริกาไปด้วย"

ตอนที่สงครามมาใหม่ๆ ที่อเมริกายังกระหยิ่มยิ้มย่องว่าเราไม่ได้ซื้อก๊าซซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ไม่เห็นต้องห่วงอะไร แต่มาตอนนี้เริ่มที่จะเจอลูกหลงเข้าไปเต็มๆ

นั่นก็เพราะสงครามนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดลูกหลงทางเศรษฐกิจแบบสะเก็ดระเบิดโดนกันฉพาะใกล้ๆ สมรภูมิ แต่มันคือ Nuclear fallout ที่หย่อนบอมบ์ไปลูกหนึ่ง เกิดฝุ่นรังสีนิวเคลียร์แผ่ขยายไปทั่วโลกหล้า

ต่อให้อยู่ไกลสุดหล้าฟ้าเขียว อเมริกาก็อเมริกาเถอะ หนีภยันตรายนี้หาพ้นไม่

โดย กรกิจ ดิษฐาน