posttoday

ประเทศเล็กใจกล้าท้าหมี เมื่อลิทัวเนียขวางทางรัสเซีย

21 มิถุนายน 2565

ด้วยการอ้างมติของสหภาพยุโรป ลิทัวเนียทำสิ่งที่คาดไม่ถึงด้วยการขวางลำการขนส่งไปยังจุดยุทธศาสตร์ของรัสเซีย

หากใครช่างสังเกตสักนิด จะพบว่าระหว่างการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ประเทศที่ "โวยวาย" มากเป็นพิเศษคือเพื่อนบ้านของรัสเซียกับยูเครน ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่มีทั้งขนาดกลางและขนาดย่อมที่ตามปกติไม่ได้มีปากมีเสียงอะไรในเวทีโลกนัก เพราะเป็นแค่ "ประเทศ SMEs" ไม่ใช่มหาอำนาจที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่

พวกมหาอำนาจนั้นทางหนึ่งก็คว่ำบาตรรัสเซียอย่างหนักมือ แต่ก็ยั้งท่าทีหลายครั้งเหมือนกันจนดูเหมือน "เกรงใจ" รัสเซีย ยิ่งทำให้ประเทศขนาดย่อมพวกนี้ไม่พอใจ และต้องใช้วาจาและท่าทีหนักๆ กับรัสเซียกันเอง บางครั้งถึงกับกดดันกลุ่มที่ตนสังกัด (คืออียูและนาโต) ให้เต็มที่กับรัสเซียเสียที

ประเทศพวกนี้ส่วนใหญ่หากไม่กลัวว่าตัวเองจะตกที่นั่งแบบเดียวกับยูเครน ก็มักจะมีประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวดเพราะถูกกระทำจากรัสเซีย ดังนั้นเมื่อเห็นชะตากรรมของยูเครน ประเทศย่อมๆ เหล่านี้จึงนิ่งเฉยไม่ไหว

แต่ก็นั่นแหละ ประเทศจำพวกรัฐกันชนระหว่างรัสเซียกับยุโรปตะวันตกมักเป็นเบี้ยในกระดานหมากรุกอำนาจแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา หากไม่ถูกรัสเซียเขมือบก็มักจะถูกตะวันตกทอดทิ้งเมื่อตะวันตกต้องการถ่วงดุลอำนาจกับรัสเซีย

ประเทศที่ในกลุ่มบอลติกคือกลุ่มที่เข้าข่ายนี้ที่สุด คือเอสโตเนีย ลัทเวีย และลิทัวเนีย

ทั้ง 3 ประเทศนี้เป็นรัฐโบราณเก่าแก่ในแถบทะเลบองติก บางรัฐยิ่งใหญ่ถึงขนาดมีดินแดนครอบคลุมยูเครนและรัสเซียด้วยซ้ำ แต่เพราะความไม่จีรังของประวัติศาสตร์ ดินแดนพวกนี้จึงถูกกลืนบ้าง ถูกเฉือนแผ่นดินกลายเป็นรัฐย่อมๆ บ้าง และสิ้นชาติไปเลยในบางช่วง กระทั่งในศตวรรษที่ 19 เอสโตเนีย ลัทเวีย และลิทัวเนียก็ตกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียอยู่เหยียบร้อยปีโดยที่มหาอำนาจในยุโรปก็ยอมให้ทำเช่นนั้น เพื่อจะถ่วงดุลกับ "พญาหมี"

จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 และการสิ้นสุดของจักรวรรดิรัสเซีย เอสโตเนีย ลัทเวีย และลิทัวเนียก็ถือโอกาสประกาศเอกราช เป็นประเทศที่มีอธิปไตยอีกครั้ง แต่แล้วความไม่จีรังก็เกิดขึ้นอีก ยุโรปเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกนาซีเยอรมันรุกเข้ามาครอบครองดินแดนเหล่านี้ก่อน ตามด้วยสหภาพโซเวียตที่ตีกลับพวกนาซี พอสิ้นสงครามใหญ่แล้ว พวกโซเวียตไม่ยอมกลับไป แต่ผนวกเอา เอสโตเนีย ลัทเวีย และลิทัวเนียเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตเสียเลย

ทั้ง 3 ชาตินี้ถูก "รัสเซีย" ผนวกดินแดนถึง 2 ครั้ง แต่และครั้งจะถูก "กลืนชาติ" ด้วยการยัดเยียดความเป็นรัสเซียให้ (Russification) ห้ามใช้ภาษาของตน วัฒนธรรมถูกกดขี่เพื่อให้เป็นหนึ่งเดียวกับประเทศผู้ปกครอง แต่แม้จะถูกกดขี่หลายสิบปีจนถึงนับร้อยปี ชาวรัฐบอลติกก็ยังรักษาอัตลักษณ์ของตนเอาไว้ได้

เมื่อได้เอกราชอีกครั้งเมื่อสหภาพโซเวียตพังพินาศ จึงไม่ต้องประหลาดใจหากเอสโตเนีย ลัทเวีย และลิทัวเนียจะระแวงรัสเซียเป็นพิเศษ เพราะพวกเขาถูกย่ำยีมากก่อน

พวกรัฐบอลติกเหล่านี้ยังต่างจากยูเครนที่รัสเซีย "เคลม" ได้ว่าเป็นญาติกันในทางภาษาและวัฒนธรรมอีกทั้งยังเกี่ยวดองทางประวัติศาสตร์แบบแยกกันลำบาก ตรงกันข้ามรัฐบอลติกไม่ใช่ญาติอะไรกับพวก "ชนชาติรุส" และยังมีวัฒนธรรมที่ต่างกัน ยิ่งทำให้ญาติดีกันลำบาก

ช่วงที่เอสโตเนีย ลัทเวีย และลิทัวเนียถูกสหภาพโซเวียตยึดเอาดื้อๆ นั้น พวกตะวันตกแม้ไม่ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม แต่ก็ทำได้แค่นั้น ไม่ได้ช่วยแย่งเอกราชคืนให้ทั้ง 3 ประเทศ เพราะขืนทำแบบนั้นมันจะกลายเป็นมหาสงครามขึ้นอีกครั้งทันที

ดังนั้นโปรดเข้าใจว่าทำไมทั้ง 3 ประเทศจึงทั้งกลัวรัสเซียและทั้งไม่ไว้ใจชาติตะวันตก

ความระแวงนี้หยั่งลึกเอามากๆ ลองคิดดูว่า 3 ชาตินี้ เอสโตเนีย ลัทเวียมีแผ่นดินติดกับรัสเซียและเบลารุส (พันธมิตรของปูติน) ส่วนลิทัวเนียนั้นควรจะ "ชิล" กว่าเพื่อนเพราะติดแค่เบลารุสและไม่ได้ติดกับ "แผ่นดินใหญ่รัสเซีย" แต่มีท่าทีร้อนรนกว่าอีก 2 ประเทศ

จะเห็นได้จากเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นวันดีเดย์รัสซียบุกยูเครน ลิทัวเนียได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครนของรัสเซีย และยังได้เรียกร้องให้นาโตใช้มาตรา 4 จัดให้มีการปรึกษาหารือเรื่องความมั่นคงด้วย (เมื่อ "บูรณภาพแห่งดินแดน ความเป็นอิสระทางการเมือง หรือความมั่นคงของสมาชิกใดสมาชิกหนึ่งถูกคุกคาม") ขณะที่เอสโตเนียกับลัทเวียที่ติดกับแผ่นดินใหญ่รัสเซียแท้ๆ กลับไม่ได้ร้อนใจเท่าลิทัวเนีย

เพราะอะไร? เพราะลิทัวเนียตื่นตูมไปหรือเปล่า?

ย้อนกับข้างต้น ตอนที่ผู้เขียนบอกว่าลิทัวเนีย "ไม่ได้ติดกับแผ่นดินใหญ่รัสเซีย" นั้น ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ได้ติดกับรัสเซีย

อันที่จริงลิทัวเนียติดกับรัสเซียเต็มๆ แต่เป็นส่วนที่เรียกว่า "คาลินินกราด" ในทางภูมิศาสตร์มันเป็น Enclave (ดินแดนแทรก) หมายถึงส่วนใด ๆ ของรัฐหนึ่งๆ ที่ถูกดินแดนของรัฐอื่นล้อมไว้ทั้งหมด คาลินินกราดถูกตัดขาดจากรัสเซียส่วนใหญ่ (หรือแผ่นดินใหญ่) โดยมี 3 รัฐบอลติกกันเอาไว้และมีลิทัวเนียขวางพรมแดนตะวันออกไว้ทั้งหมด

พูดง่ายให้เห็นภาพคือถ้าลิทัวเนียจะล้อมคาลินินกราดก็ย่อมทำได้ แค่ตัดเส้นทางขนส่งทั้งหมด

คาลินินกราดเดิมก็ไม่ใช่ของรัสเซีย แต่เป็นของเยอรมนี ถือเป็น "หัวใจของปรัสเซีย" หรือรัฐเยอรมันโบราณด้วยซ้ำ (ในชื่อเดิมว่าเคอนิกแบร์ก) แต่พอสหภาพโซเวียตรุกไล่พวกนาซีออกไปก็ถือโอกาสเขมือบมันซะเลย พร้อมด้วย 3 รัฐบอลติก

คาลินินกราดมีความสำคัญยิ่งยวดต่อรัสเซีย เพราะตอนเหนือของรัสเซียมีทางออกทะเลน้อย ทะเลแถบนั้นมักจะหนาวจนมีน้ำแข็งมาก คาลินินกราดที่อยู่ใต้ลงไปจึงเป็นทั้งท่าเรือที่มีประสิทธิภาพและเป็นฐานทัพเรือสำคัญของกองเรือบอลติกของรัสเซียด้วย มันจึงเป็นทั้งเส้นเลือดทางน้ำและแสนยานุภาพทางทะเลของรัสเซีย

แต่ในช่วงกลางค่อนปลายเดือนมิถุนายน 2022 ลิทัวเนียที่แสดงอาการผวารัสเซียมาโดยตลอดก็ทำในสิ่งที่เหนือความคาดหมายขึ้นมา

เมื่อทางการลิทัวเนียสั่งห้ามการขนส่งสินค้าที่ได้รับอนุมัติจากสหภาพยุโรปทั่วทั้งอาณาเขต ซึ่งรวมถึงเส้นทางรถไฟทางเดียวระหว่างรัสเซียแผ่นดินใหญ่และเขตพื้นที่คาลินินกราด สินค้าต้องห้าม ได้แก่ ถ่านหิน โลหะ วัสดุก่อสร้างและเทคโนโลยีขั้นสูง

รัสเซียโมโหโกรธาเป็นอันมาก จากรายงานของ Reuters กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียถึงกับเรียกตัว (summon) ทูตระดับสูงของลิทัวเนียในกรุงมอสโกเพื่อประท้วง และดมิทรี เปสคอฟ โฆษกเครมลินกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “สถานการณ์รุนแรงกว่าปกติ” และ “การตัดสินใจครั้งนี้เหนือความคาดหมายจริงๆ มันเป็นการละเมิดทุกสิ่ง”

กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียถึงกับบอกว่าการกระทำนี้คือการ "เป็นศัตรูอย่างเปิดเผย"

จากรายนงานของ Reutersลิทัวเนียกล่าวว่าเป็นเพียงการดำเนินการคว่ำบาตรตามสหภาพยุโรปซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการที่มีจุดประสงค์เพื่อลงโทษประธานาธิบดีวลาดิมีร์ปูตินที่รุกรานยูเครน

กาเบรียลเลียส ลันด์สเบริจิส รัฐมนตรีต่างประเทศลิทัวเนียกล่าวกับผู้สื่อข่าวในลักเซมเบิร์ก

“ไม่ใช่ว่าลิทัวเนียที่ทำตามใจชอบ แต่เป็นมาตรการคว่ำบาตรของยุโรปที่เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน” พร้อมกับย้ำว่าที่ทำไปนั้นได้ผ่านการปรึกษาหารือกับคณะกรรมาธิการยุโรปและภายใต้แนวทางของคณะกรรมาธิการยุโรปแล้ว

แต่ก็นั่นแหละ แม้จะเป็นจุดยืนร่วมกันของยุโรป แต่ลิทัวเนียทำตามลำพังแท้ๆ และถือว่า "ห้าวหาญ" มาก เพราะตัวเป็นด่านหน้าที่โอบล้อมคาลินินกราดโดยตรง หากคาลินินกราด (หรือรัสเซีย) คิดจะทำอะไรขึ้นมากับกองเรือบอลติก ลิทัวเนียก็จะเจอไปเต็มๆ ก่อนใคร

ลิทัวเนียคงมั่นใจแล้วว่าตัวเองเป็นสมาชิกนาโต ถ้ารัสเซียทำอะไรตนขึ้นมาก็เท่ากับทำกับนาโตทั้งกลุ่ม (ตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ว่าจะต้องช่วยปกป้องกัน) แม้แต่สื่อต่างประเทศยังใช้คำในทำนองว่า "รัสเซียขู่ลิทัวเนียซึ่งเป็นสมาชิกนาโต" ราวกับว่าต้องการยั่วให้ "เข้าใจผิด" ว่ารัสเซียกำลังจะเล่นงานนาโต ทั้งๆ ที่ความจริงลิทัวเนียแหย่หนวดหมีก่อนโดยอ้างมติสหภาพยุโรป

อย่างนี้เองที่รัสเซียถึงได้บอกว่า สหภาพยุโรปกำลังทำตัวเป็นกลุ่มความมั่นคงมากขึ้นทุกที ทั้งๆ ที่กลุ่มนี้ควรจะโฟกัสเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ หากเกิดกรณีแบบลิทัวเนียมากๆ เข้า รัสเซียก็อาจจะเหมารวมว่าสหภาพยุโรปไม่ใช่กลุ่มเศรษฐกิจและสังคมแล้ว แต่เป็นกลุ่มความมั่นคงอำพรางที่ทำงานรับใช้นาโต

การเล่นแง่กับรัสเซียของลิทัวเนียจึงมีนัยที่อันตรายมาก

แน่นอนว่าลิทัวเนียและ 3 รัฐบอลติกมีเรื่องคาใจกับรัสเซียมาอย่างยาวนาน แต่การปะทะตรงๆ แบบนี้ ทำให้แทนที่จะเป็น "กันชน" ของตะวันตกกับรัสเซีย กลับจะเป็นชนวนการศึกสงครามเอาง่ายๆ ได้เหมือนกัน

ซึ่งสหภาพยุโรปก็เล็งเห็นจุดนี้ เมื่อกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย "เรียกตัว" ผู้แทนสหภาพยุโรปเข้าพบ ผู้แทนก็ตอบแบบไม่ให้รัสเซียเกรี้ยวกราดว่า "ไม่มีการปิดล้อมคาลินินกราด ไม่ต้องสงสัยในเรื่องนี้" และสินค้าที่ไม่ได้เข้าข่ายต้องห้ามจะถูกส่งผ่านเข้าไปในคาลินินกราดได้ต่อไป

ประเด็นก็คือ สินค้าที่ถูกลิทัวเนีย (และสหภาพยุโรป) แบนนั้น เป็นสินค้าจำเป็นต่อชีวิตผู้คนทั้งสิ้น การที่ตอบง่ายๆ ว่า "ถ้าไม่ได้ถูกห้ามก็ผ่านไปได้" คงยากจะทำให้รัสเซียพอใจได้

ผลก็คือรัสเซียไม่พอใจ สำนักข่าว IFX จึงรายงานว่าเลขาธิการสภาความมั่นคงของรัสเซียกล่าวว่ารัสเซียจะตอบโต้หลังจาก "การปิดล้อม" ของภูมิภาคคาลินินกราดโดยลิทัวเนีย และบอกว่ามาตรการตอบโต้ของรัสเซีย "จะมีผลกระทบเชิงลบอย่างร้ายแรงต่อประชากรลิทัวเนีย"

พวกที่เป็นชาติตะวันตกในสหภาพยุโรป เจ้าของไอเดียคว่ำบาตรและหลบอยู่หลังแนวรบตะวันออกก็ลอยตัวไป ปล่อยให้ลิทัวเนียเจอกับกรงเล็บพญาหมีเข้าไปเต็มๆ กันอีกครั้ง

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo - Leader of the motorcycling club "Night Wolves" Alexander Zaldostanov, nicknamed "Khirurg", takes part in a parade and the Immortal Regiment event on Victory Day, which marks the 77th anniversary of the victory over Nazi Germany in World War Two, in Kaliningrad, Russia May 9, 2022. REUTERS/Vitaly Nevar