posttoday

ทำไมเขาคนนี้ถึงเชื่อว่าอเมริกาและนาโตต้องรับผิดชอบสงครามยูเครน?

29 พฤษภาคม 2565

ในโลกตะวันตกดูเหมือนจะมีมติสอดคล้องกันว่ารัสเซียคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวต่อการรุกรานยูเครน แต่นักวิชาการเหล่านี้กลับมองต่างออกไป

ในการดีเบต Munk Debates ซึ่งเป็นงานจัดการอภิปรายที่จัดขึ้นทุกๆ ครึ่งปีในประเด็นนโยบายสำคัญ โดยจัดขึ้นในเมืองโตรอนโต รัฐออนแทรีโอ แคนาดา ดำเนินการโดยมูลนิธิออเรีย (Aurea Foundation) การจัดดีเบตครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ในหัวข้อ Russia-Ukraine War ผู้ร่วมอภิปรายฝ่ายที่สนับสนุนแนวคิดว่าการรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นปฏิกิริยามาจาก "การรุกตะวันออก" ของนาโตที่แสวงหาสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทับกับพื้นที่อิทธิพลของรัสเซียมาแต่เดิม นักวิชาการที่สนับสนุนแนวคิดนี้คือจอห์น เมียร์ไชเมอร์ (John Mearsheimer) และสตีเฟน วอลท์ (Stephen Walt)

1. จอห์น เมียร์ไชเมอร์ เป็นนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันและนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เขาเป็นศาสตราจารย์ แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ถือว่าเป็นนักรัฐศาสตร์สำนักอัตถนิยม (Realism) ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคของเขา ซึ่งสำนักคิดทางการเมืองระหว่างประเทศที่เรียกว่า สำนักอัตถนิยม (Realism) มีแนวคิดว่าความเชื่อที่ว่าการเมืองโลกมักจะเป็นสนามแห่งความขัดแย้งระหว่างผู้มีบทบาทในการแสวงหาความมั่งคั่งและอำนาจ และถือแนวคิดเรื่อง "การเมืองเรื่องอำนาจ" (Realpolitik) คือเน้นนโยบายทางการทูตหรือการเมืองโดยพิจารณาจากสถานการณ์และปัจจัยที่กำหนดเป็นหลัก แทนที่จะผูกมัดตัวเองอย่างเข้มงวดกับแนวคิดเชิงอุดมคติหรือข้อศีลธรรมและจริยธรรม

2. จอห์น เมียร์ไชเมอร์มองสถานการณ์ยูเครนจากเรื่องของดุลอำนาจตามความจริงแบบแนวคิด Realpolitik นั่นคือโลกของเราตั้งอยู่สมดุลของอำนาจระหว่างมหาอำนาจ ในยุโรปคือดุลระหว่างนาโต/สหภาพยุโรปกับรัสเซียและพันธมิตรของรัสเซีย แต่คนส่วนใหญ่ในเวลานี้มองว่าสถานการณ์ยูเครนเป็นของเรื่องอุดมการณ์ระหว่างเผด็จการ (รัสเซีย) กับฝ่ายประชาธิปไตย (ยูเครน/สหภาพยุโรป/และนาโต) โดยไม่แตะต้องว่าสิ่งทีเ่กิดขึ้นมาจากการชิงอำนาจระหว่างชาติตะวันตกกับรัสเซีย ซึ่งเมียร์ไชเมอร์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้

3. เมียร์ไชเมอร์มองว่า "ปัญหายูเครน" เป็นเรื่องของการปะทะระหว่างนาโตและรัสเซียมาตั้งแต่การรุกรานยูเครนครั้งแรกเมื่อปี 2014 โดยในเดือนกันยายน 2014 เมียร์ไชเมอร์เขียนบทความ "ทำไมวิกฤตในยูเครนจึงเป็นความผิดของตะวันตก ความหลงผิดของพวกเสรีนิยมที่ยั่วยุปูติน" ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Foreign Affairs บทความนี้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของสหรัฐ นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นที่มีต่อรัสเซีย และชี้ว่าการแทรกแซงของรัสเซียในไครเมียและยูเครนเป็นเพราะยุทธศาสตร์ที่ขาดความรับผิดชอบของนาโตในยุโรปตะวันออก

4. เขาเปรียบเทียบการขยายตัวของนาโตไปยังยุโรปตะวันออก โดยสมมติว่าจีนบุกเข้ามาสร้างพันธมิตรทางทหารในอเมริกาเหนือ หรือที่จู่ที่หน้าประตูบ้านของสหรัฐ เขาเขียนว่า "ลองนึกภาพความโมโหของอเมริกาหากจีนสร้างพันธมิตรทางทหารที่ไม่เบาเลยและพยายามรวมแคนาดาและเม็กซิโก (มาเป็นพวกตน)" ตามตรรกะนี้ หากสหรัฐและนาโตบุกเข้าไปถึงประตูบ้านรัสเซียเพื่อสร้างพันธมิตรทางทหารบ้าง รัสเวียก็ต้องเกรี้ยวกราดเป็นธรรมดา

5. เมียร์ไชเมอร์แย้งว่าการผนวกไครเมียของรัสเซียได้รับแรงหนุนจากความกังวลว่ากองเรือทะเลดำของรัสเซียจะไม่สามารถเข้าถึงท่าเรือที่เซวาสโทโพลได้ หากยูเครนยังคงเดินหน้าเป็นสมาชิกนาโตและเป็นส่วนหนึ่งของยุโรป เมียร์ไชเมอร์สรุปว่านโยบายของสหรัฐฯ ควรเปลี่ยนการยอมรับยูเครนเป็นรัฐกันชนระหว่างนาโตและรัสเซีย แทนที่จะพยายามดูดยูเครนเข้าสู่นาโต

6. ในการบรรยาย 25 กันยายน 2015 ของเมียร์ไชเมอร์ เรื่อง "ทำไมยูเครนถึงเป็นความผิดของตะวันตก" เมียร์ไชเมอร์ระบุว่านโยบายของสหรัฐและสหภาพยุโรปที่มีต่อยูเครนเป็นคำมั่นสัญญาอันสวยหรูว่ามหาอำนาจตะวันตกกำลังสนับสนุนให้ยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของตะวันตก (แม้ว่าพวกยูเครนจะถูกปฏิเสธก็ตาม) และสนับสนุนให้รัฐบาลยูเครนดำเนินนโยบายที่เข้มงวดต่อรัสเซีย เขาบอกในตอนนั้นว่า "ผลลัพธ์คือยูเครนจะต้องพังพินาศ"

7. ในการบรรยายครั้งนั้นเมียร์ไชเมอร์ประกาศว่า "ถ้าคุณอยากจะทำลายรัสเซียจริงๆ สิ่งที่คุณควรทำคือสนับสนุนให้รัสเซียพยายามพิชิตยูเครน ปูตินฉลาดเกินกว่าจะลองทำแบบนั้น" แต่ปรากฏว่าเขาประเมินผิดพลาดไป เพราะปูตินรุกรานยูเครนจริงๆ ในปี 2022 และรุกรานไปถึงเมืองหลวงของยูเครน แต่เฟสแรกของสงครามต้องพบกับความสูญเสียย่อยยับ จนกระทั่งปูตินต้องเบนเข็มทิศไปมุ่งพิชิตที่ภาคใต้ของยูเครน

8. หลังจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียในปี 2022 เมียร์ไชเมอร์ได้ย้ำความเชื่อของเขาว่านาโตและสหภาพยุโรปมีส่วนผิดส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดสงครามในยูเครน ในการให้สัมภาษณ์กับ The New Yorker นั้น เมียร์ไชเมอร์กล่าวว่า "ผมคิดว่าปัญหาทั้งหมดในกรณีนี้เริ่มต้นในเดือนเมษายน 2008 ที่การประชุมสุดยอดนาโตในบูคาเรสต์ ซึ่งหลังจากนั้นนาโตได้ออกแถลงการณ์ว่ายูเครนและจอร์เจียจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของนาโต พวกรัสเซียบอกแล้วอย่างชัดเจนว่าการทำเช่นนั้นถือเป็นภัยคุกคามต่อสถานะของรัสเซีย และพวกเขาก็ได้ขีดเส้นเอาไว้ (ไม่ให้ล้ำ)"

9. แต่ชาติตะวันตกก็ไม่ยอมหยุดที่เส้นตายที่ขีดไว้ เมียร์ไชเมอร์กล่าวว่า "อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นกับกาลเวลาคือ เราได้ก้าวไปข้างหน้าเพื่อรวมยูเครนเข้ามาอยุ่กับตะวันตกเพื่อทำให้ยูเครนเป็นป้อมปราการทางตะวันตกที่ชายแดนรัสเซีย... การขยายตัวของนาโตเป็นหัวใจของกลยุทธ์นี้... และรวมถึงการเปลี่ยนยูเครนให้เป็นประชาธิปไตยเสรีที่สนับสนุนอเมริกา และจากมุมมองของรัสเซีย นี่คือภัยคุกคามการดำรงอยู่ของรัสเซีย"

ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

Photo - ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน เข้าร่วมการประชุมกับอาร์ตียอม โชกา (Artyom Zhoga) พ่อของวลาดิมีร์ โชกา (Vladimir Zhoga) ผู้บัญชาการกองพัน Sparta Battalionของรัสเซีย ซึ่งเสียชีวิตในความขัดแย้งในยูเครนหลังจากขบวนพาเหรดในวันแห่งชัยชนะซึ่งเป็นวันครบรอบ 77 ปีของชัยชนะเหนือนาซีเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่สองในมอสโก รัสเซีย 9 พฤษภาคม 2022 Sputnik/Mikhail Metzel/Pool ผ่าน REUTERS ATTENTION EDITORS