posttoday

ทำอย่างไรเมื่อสถานประกอบการอยู่ กทม. และ ตจว. แต่ต้องจด Vat

01 พฤษภาคม 2567

ภาษีมูลค่าเพิ่ม(Vat) เป็นภาษีประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากผู้ใช้สินค้าหรือบริการ โดยใช้ราคาสินค้าหรือบริการนั้นเป็นฐานการคิดภาษี หากมีสถานประกอบการอยู่ในเขตกรุงเทพฯ หรืออยู่ต่างจังหวัด ต้องมีเอกสารและขั้นตอนดังต่อไปนี้

          เป็นที่ทราบกันดีว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) เป็นภาษีประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากผู้ใช้สินค้าหรือบริการ โดยใช้ราคาสินค้าหรือบริการนั้นเป็นฐานการคิดภาษี ซึ่งธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ตามกฎหมายต้องขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับตั้งแต่มีรายได้เกิน

          หากในกรณีธุรกิจยังมีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี แต่สามารถยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ก่อนได้เช่นกัน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากการจดทะเบียนล่าช้าที่อาจต้องโดนเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มอีกด้วย

          ดังนั้นข้อมูลการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หากมีสถานประกอบการอยู่ในเขตกรุงเทพฯ หรืออยู่ต่างจังหวัด ต้องมีเอกสารและขั้นตอนอย่างไรบ้าง ลองพิจารณาจากข้อมูลที่จะนำเสนอดังต่อไปนี้

จด Vat มีเอกสารที่ใช้พร้อมขั้นตอนการจดทะเบียนอะไรบ้าง

          กรณีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่เข้าเกณฑ์ต้องจด Vat แล้ว สามารถขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ที่ สถานประกอบการในกรุงเทพฯ สามารถยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หากมีสถานประกอบการหลายแห่งให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่เพียงแห่งเดียว โดยเตรียมเอกสารสำหรับขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้

1.คำขอ ภ.พ.01 และ ภ.พ.01.1 จำนวน 3 ชุด (ถ้ามี) 

2.สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระบุชื่อ ที่อยู่ หรือหนังสือยินยอมให้ใช้อสังหาริมทรัพย์

3.หนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

4.ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ (กรณีเป็นบุคคลต่างด้าว)

5.หนังสือการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ กองทุน มูลนิธิ หน่วยงานหรือกิจการของเอกชนที่มิใช่นิติบุคคล

6.หนังสือตั้งตัวแทนรับรองโดยสถานทูต หรือสถานกงสุล

7.เอกสารการดำเนินกิจการร่วมค้า (ถ้ามี)

8.แผนที่ตั้งสถานประกอบการ พร้อมภาพถ่าย 

9.หนังสือมอบอำนาจ (ติดอากรแสตมป์) พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ และบัตรประจำตัวประชาชนผู้มอบอำนาจ  

10.หนังสือรับรองของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด กรณีสถานประกอบการตั้งอยู่ในอาคารชุด 
(ข้อมูลจาก กรมสรรพากร)

ขั้นตอนในการดำเนินการ

          ช่องทางการให้บริการ คือ 1.กองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ (กรณีผู้ประกอบการอยู่ในการกำกับดูแลของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่) 2.สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ฟรีไม่มีค่าธรรมเนียม 

          จากนั้นให้ทำตามขั้นตอนดังนี้ ขั้นตอนแรกให้ยื่นตามสถานที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ขั้นตอนต่อไปรอการตรวจสอบเอกสาร จากนั้นรอการพิจารณาดำเนินการ และสุดท้ายการลงนาม รวมเวลาโดยประมาณ 27 วันทำการ (ข้อมูลจาก กรมสรรพากร)

          เมื่อส่งคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภพ.01 และเอกสารที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว ทางกรมสรรพากรจะมีการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภพ.20) ให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งจะมีผลให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ตั้งแต่วันที่ระบุไว้ในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้นไป

          นอกจากนี้กรณีที่ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องยื่นคำขอรับใบแทนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด ซึ่งใบแทนดังกล่าวถือเป็นใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

หลังจด Vat แล้ว ต้องทำอะไรบ้าง 

          เมื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลต้องทำคือ การออกใบกำกับภาษีทุกครั้งเมื่อมีการขายสินค้าหรือบริการ รวมถึงจะต้องทำรายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย สินค้าคงเหลือ และวัตถุดิบ พร้อมส่งยื่นรายงานให้กับสรรพากรภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ทั้งนี้ไม่ว่าเดือนในนั้นจะมีหรือไม่มีการซื้อขายก็ตาม

          นอกจากนี้ผู้มีรายได้เสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา เมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท หลังจากจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สิ่งที่ตามมาคือจะต้องเสียภาษีสูงถึง 35% ตามอัตราภาษีก้าวหน้า ดังนั้นการจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล จึงเป็นเรื่องที่ผู้มีรายได้ในนามบุคคลธรรมดาควรนำมาพิจารณาต่อไป เพราะจะทำให้เสียภาษีน้อยลงเหลือแค่ 20% 

คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ยากอย่างที่คิด

          กรณีที่ธุรกิจในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล มีรายได้ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี  เจ้าของธุรกิจจะต้องเรียนรู้ในเรื่องการคำนวณ Vat ซึ่งวิธีคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระให้คำนวณโดยการนำภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มต้องชำระ = ภาษีขาย – ภาษีซื้อ

          ซึ่งผลจากการคำนวณภาษีพบว่า ภาษีขาย (กรณีขายสินค้า) มากกว่าภาษีซื้อ (เช่น การซื้อวัตถุดิบ) ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินภาษีต่อกรมสรรพากรเท่ากับส่วนต่างนั้น แต่หากภาษีขายน้อยกว่าภาษีซื้อ ผู้ประกอบการมีสิทธิได้รับคืนภาษีซื้อ โดยผู้ประกอบการจะขอคืนภาษีซื้อเป็นเงินสดหรือให้นำเครดิตภาษีไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไปก็ได้

          กล่าวโดยสรุป การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงไปจัดการเรื่องนี้ทั้งหมดอาจจะว่าจ้างพนักงานบัญชีให้รับผิดชอบด้านนี้ได้ เพราะเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) เป็นส่วนสำคัญ จะต้องเข้าใจระบบระเบียบและมีความเข้าใจเป็นอย่างดี หากทำถูกต้องเจ้าของธุรกิจไม่ต้องมากังวลว่าจะโดนสรรพากรเรียกตรวจสอบ จะได้ประกอบธุรกิจได้อย่างสบายใจ

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting