posttoday

‘สมาร์ตโฟนควอนตัม’ จากจีนกับจุดเด่น ‘แฮ็กไม่ได้’

18 พฤษภาคม 2565

จีนเปิดตัว ‘สมาร์ตโฟนควอนตัม’ ชุจุดเด่น ‘แฮ็กไม่ได้’

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ไชน่า เทเลคอม (China Telecom) ยักษ์ใหญ่วงการโทรคมนาคมจีน เปิดตัวสมาร์ตโฟนที่ใช้เทคโนโลยีควอนตัม ซึ่งสามารถรับประกันว่าบทสนทนาของผู้ใช้งานบนสมาร์ตโฟนเครื่องนั้นแทบจะไม่สามารถถูกเจาะข้อมูลไปได้

วันอังคาร (17 พ.ค.) ไซแอนซ์ เดลี รายงานว่า “เทียนอี้” หมายเลข 1 2022 เป็นสมาร์ตโฟนที่ติดตั้งหน่วยการเข้ารหัสแบบควอนตัมที่ปลอดภัย และซิมการ์ดที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถเข้ารหัสและแปลรหัสการโทรด้วยเสียงพูดทางโทรศัพท์ โดยใช้การแจกจ่ายกุญแจเข้ารหัสเชิงควอนตัม

ไชน่า เทเลคอม และบริษัทสตาร์ทอัปควอนตัมซีเท็ก (QuantumCTeck) ได้จัดตั้งกิจการร่วมค้าในปี 2021 เพื่อพัฒนาการสื่อสารบนพื้นฐานควอนตัม และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อันชาญฉลาดออกสู่ตลาด

คณะนักวิทยาศาสตร์จีน ซึ่งบางคนเป็นส่วนหนึ่งของทีมผู้ก่อตั้งควอนตัมซีเท็ก ได้ทดสอบการแจกจ่ายกุญแจเข้ารหัสเชิงควอนตัมด้วยโม่จื่อ (Micius) ดาวเทียมควอนตัมดวงแรกของโลก ที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนสิงหาคม 2016

เทคโนโลยีดังกล่าวแตกต่างจากการเข้ารหัสแบบดั้งเดิม โดยใช้โฟตอนเดี่ยวในสถานะการซ้อนทับของควอนตัม ซึ่งกุญแจถูกฝังไว้เพื่อรับประกันความปลอดภัยที่ไม่มีเงื่อนไขระหว่างหลายฝ่ายที่อยู่ห่างไกลกัน

การซ้อนทับของควอนตัมเป็นหลักการพื้นฐานของกลศาสตร์ควอนตัม ซึ่งระบุว่าสถานะควอนตัมตั้งแต่สองสถานะขึ้นไปสามารถรวมเข้าด้วยกันได้เหมือนกับคลื่นในฟิสิกส์ยุคเก่า

ดังนั้นการสื่อสารไม่สามารถถูกเจาะเอาข้อมูลไปได้ เนื่องจากความพยายามในการสกัดกั้นกุญแจจะทราบทันทีทั้งต่อผู้ส่งและผู้รับที่กำหนดไว้

จางหรูทง วิศวกรจากควอนตัมซีเท็ก กล่าวว่าเมื่อผู้ใช้งานเริ่มบทสนทนาที่มีการรักษาความปลอดภัยด้วยควอนตัม กุญแจลับจะถูกสร้างขึ้นแบบสุ่มเพื่อยืนยันตัวตนของเขาหรือเธอ โดยหลังจากการตรวจสอบแล้ว เครือข่ายควอนตัมจะสร้างกุญแจแบบเรียลไทม์ขึ้นใหม่ เพื่อใช้เข้ารหัสข้อมูลเสียง

จางระบุว่ากุญแจดังกล่าวถูกสร้างขึ้นแบบสุ่ม ซึ่งยากที่จะถอดรหัส และถูกลบทิ้งทันทีหลังจากการโทร

อนึ่ง บริการนี้สามารถใช้ได้เมื่อทั้งผู้ส่งและผู้รับใช้โทรศัพท์ที่อยู่บนพื้นฐานควอนตัม