posttoday

แผนลับโปแลนด์ กับข้อกล่าวหาว่าหวังชิงยูเครนตะวันตกมาครอง

08 พฤษภาคม 2565

สืบเนื่องจากหัวหน้าข่าวกรองของรัสเซียเปิดเผยแผนการของสหรัฐฯ-โปแลนด์ที่จะเปิดทางให้โปแลนด์ที่จะเข้าครอบครองส่วนหนึ่งของยูเครน

เมื่อวันที่ 28 เมษายน สำนักข่าว TASS รายงานว่าสหรัฐอเมริกาและโปแลนด์กำลังวางแผนเพื่อจัดการให้โปแลนด์เข้ามาควบคุม "ดินแดนประวัติศาสตร์" ของตนในยูเครน

“ตามข้อมูลที่ได้รับจากหน่วยข่าวกรองต่างประเทศของรัสเซีย วอชิงตันและวอร์ซอกำลังทำงานในแผนการจัดตั้งการควบคุมทางการทหารและการเมืองของโปแลนด์เหนือ 'ดินแดนประวัติศาสตร์' ในยูเครน” แถลงข่าวของสำนักข่าวกรอง SVR ของรัสเซีย อ้างคำพูดของเซอร์เกย์ นาริชกิน ผู้อำนวยการหน่วยงานดังกล่าว

จากข้อมูลของหน่วยข่าวกรอง ขั้นตอนแรกของ "การรวมชาติ" คือการที่กองทหารโปแลนด์จะยกทัพเข้ามาทางตะวันตกของยูเครนภายใต้สโลแกนว่า "ปกป้องดินแดนจากการรุกรานของรัสเซีย" ขณะนี้ รายละเอียดของภารกิจในอนาคตกำลังอยู่ระหว่างหารือกับรัฐบาลของไบเดน

“ตามข้อตกลงเบื้องต้น จะดำเนินการโดยปราศจากอาณัติของนาโตแต่จะดำเนินการโดย 'พันธมิตรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง' แต่โปแลนด์ยังไม่สามารถรวบรวม 'พันธมิตรที่มีความเต็มใจ' มาร่วมตามแผนนี้ได้” SVR ระบุ

SVR ยังระบุว่า “มีแผนที่จะส่งหน่วยที่เรียกว่ากองกำลังรักษาสันติภาพไปยังพื้นที่ของยูเครนซึ่งพวกเขาจะแทบไม่มีโอกาสเผชิญหน้ากับกองทัพรัสเซีย และภากิจที่มีความสำคัญอันดับแรกของกองทัพโปแลนด์คือการค่อยๆ เข้ายึดครองยุทธศาสตร์จากกองกำลังป้องกันชาติยูเครน หน่วยข่าวกรองของโปแลนด์หาทางติดต่อกับบุคคลชั้นนำองยูเครน 'ที่สามารถเจรจาด้วย' เพื่อสร้างหน่วยปกครองพื้นที่ที่เป็น 'ประชาธิปไตย' และสนับสนุนโปแลนด์แทนที่กลุ่มชาตินิยมยูเครน

คำถามจากรายงานของ สำนักข่าว TASS ก็คือทำไมโปแลนด์ถึงต้องการดินแดนตะวันตกของยูเครน?

ยูเครนตะวันตกเคยเป็นเป็นอาณาเขตของประเทศยูเครนที่เชื่อมโยงกับอดีตอาณาจักรกาลิเซีย–โวลฮีเนีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย จักรวรรดิออสเตรีย ออสเตรีย-ฮังการี และสาธารณรัฐโปแลนด์ที่สอง และเพิ่งจะเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมของสหภาพโซเวียตโดยสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1939 เท่านั้นตามสนธิสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบนทรอป ระหว่างสหภาพโซเวียตและนาซีเยอรมัน

ในตอนแรก ยูเครนถูกรวมเข้าเป็นเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย และต่อมายูเครนถูกแบ่งระหว่างเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย (ทางตะวันตกและส่วนหนึ่งของยูเครนตอนกลาง) และจักรวรรดิรัสเซีย (ทางตะวันออกและส่วนที่เหลือของยูเครนตอนกลาง) หลังการแบ่งแยกดินแดนของโปแลนด์ ภูมิภาคของยูเครนตะวันตกกลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ในขณะที่ภูมิภาคยูเครนกลางและตะวันออกยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย

ในปี ค.ศ. 1918 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ดินแดนของยูเครนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซียได้ประกาศอิสรภาพเป็นสาธารณรัฐประชาชนยูเครน ในขณะที่ดินแดนยูเครนตะวันตกที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสโตร-ฮังการีได้ประกาศเอกราชของตนในฐานะสาธารณรัฐประชาชนยูเครนตะวันตก

เมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1919 ทั้งสองรัฐได้ลงนามในพระราชบัญญัติการรวมประเทศ แต่ถูกแบ่งแยกอีกครั้งระหว่างโปแลนด์และสหภาพโซเวียต ต่อมา อันเป็นผลมาจากสนธิสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบนทรอป สหภาพโซเวียตได้รวมยูเครนตะวันตกเข้าไว้ในสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครนอันเป็นหนึ่งใน 15 สาธารณรัฐองค์ประกอบของสหภาพโซเวียต จนกระทั่งประกาศอิสรภาพของยูเครนในปี 1991 ยูเครนได้รับเอกราช การสลายตัวของสหภาพโซเวียตตามมาหลังจากนั้นไม่นาน ยูเครนตะวันตกก็เป็นประเทศยูเครนเรื่อยมา

แม้ว่าจะแยกจากโปแลนด์มานับร้อยปีแล้ว แต่จากข้อมูลของหน่วยข่าวกรองรัสเซีย โปแลนด์ยังหวังดินแดนเหล่านี้ ตามแผนการแทรกซึมโดยส่งหน่วยรักษาสันติภาพในยูเครนตะวันตก ผู้นำโปแลนด์หวังว่าการวางกำลังเชิงป้องกันนี้ในยูเครนตะวันตก อาจจะนำไปสู่การแตกของยูเครนเป็นส่วนๆ (ซึ่งอาจรวมถึงยูเครนตะวันออกหรือดอนบัสกลายเป็นของรัสเซีย) ในขณะที่ดินแดนที่ 'ผู้รักษาสันติภาพชาวโปแลนด์' เข้ามาจะอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลวอร์ซอ

หน่วยข่าวกรอง SVR กล่าวโดยสรุปแล้ว นี่คือความพยายามที่จะทำซ้ำสิ่งที่โปแลนด์ถือว่าเป็นข้อตกลงประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อกลุ่มชาติตะวันตก ยอมรับว่ารัฐบาลวอร์ซอมีสิทธิที่จะครอบครองส่วนหนึ่งของยูเครนเพื่อปกป้องประชากรจาก ' บอลเชวิคที่คุกคาม' (หมายถึงสหภาพโซเวียต) แล้วผนวกดินแดนเหล่านี้โดยโปแลนด์"

แต่หน่วยข่าวกรอง SVR ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าการเข้าครอบครองยูเครนตะวันตกอาจทำไปสู่กระบวนการทำให้ยูเครนกลายเป็นโปแลนด์ (Polonization) ในแง่สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งตามปกติลแล้วยูเครนตะวันตกมีวัฒนธรรมที่ต่างจากยูเครนส่วนอืนๆ อยู่แล้ว และยังเป็นการตอกย้ำแนวคิดเรื่อง "การรื้อฟื้นดินแดนโแลนด์" (Great Poland) ที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีตด้วย

ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

Photo by JANEK SKARZYNSKI / AFP