posttoday

เพราะจีนจะลงทุน ตอลิบานจึงต้องคุ้มครองพุทธสถานโบราณ

30 มีนาคม 2565

การลงทุนของจีนในอัฟกานิสถานทำให้ตอลิบานต้องกลับลำปกป้องพุทธสถาน

ก่อนหน้านี้เป็นที่กังวลว่า "เมส อัยนัก" (Mes Aynak) พุทธสถานโบราณ อายุเก่าแก่กว่า 2,600 ปี ในเมืองโลการ์ของอัฟกานิสถาน ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงคาบูลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 40 กิโลเมตร จะตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับ "พระพุทธรูปแห่งบามียาน" หรือไม่ ภายใต้การปกครองของกลุ่มตอลิบาน

ทว่า ขณะนี้หลายประเทศรวมทั้งรัสเซีย อิหร่าน ตุรกี และอัฟกานิสถาน ต่างกำลังมองหาผู้ลงทุนที่จะมาเติมเต็มช่องว่างหลังมหาอำนาจอย่างสหรัฐถอนตัวออกจากประเทศ The Diplomat กำลังจับจ้องไปที่การลงทุนของจีนในเมส เอย์แนก พุทธสถานโบราณของอัฟกานิสถานซึ่งเชื่อว่าเป็น "เหมืองทองแดงที่ใหญ่ที่สุดในโลก"

การจัดหาแร่ธาตุหายากเป็นกุญแจสำคัญของจีนในการรักษาสถานะมหาอำนาจด้านการผลิตของโลก ในขณะที่จีนให้คำมั่นว่าจีนจะช่วยกลุ่มตอลิบานในการฟื้นฟูประเทศอัฟกานิสถานขึ้นใหม่ เรียกร้องให้นานาประเทศหยุดแช่แข็งสินทรัพย์ของอัฟกัน และยังคงเดินหน้าพัฒนาความสัมพันธ์กับรัฐบาลตอลิบาน

นับว่าเป็นโอกาสทองของกลุ่มตอลิบานที่จะกอบกู้ประเทศที่ขาดแคลนเงินสดท่ามกลางการคว่ำบาตรจากนานาชาติ หลังยึดครองอัฟกานิสถาน

ความมั่งคั่งที่อาจเกิดขึ้นจากเหมืองทองแดงแห่งใหญ่นี้ทำให้กลุ่มตอลิบานกลับลำหันมาปกป้องพุทธสถาน หลังจากที่เคยใช้กฎหมายอิสลามสุดโต่งทั่วอัฟกานิสถาน พยายามลบเลือนอารยธรรมอื่นที่ขัดต่อศาสนาอิสลามให้หมดสิ้น รวมถึงการทำลาย "พระพุทธรูปแห่งบามียาน" ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจชาวพุทธทั่วโลก เมื่อครั้งยึดครองอัฟกานิสถานเมื่อกว่า 20 ปีก่อน

แต่ตอนนี้พวกเขาตั้งใจที่จะอนุรักษ์ "เมส เอย์แนก" แหล่งทองแดงขนาดใหญ่ เพราะเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกการลงทุนของจีนมูลค่านับพันล้าน

ฮากุมุลละห์ มูบาริซ หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงของตอลิบานในพื้นที่กล่าวว่า "การปกป้องสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเราและชาวจีน"

อัฟกานิสถานเป็นขุมทรัพย์แร่ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นับว่าเป็นกุญแจสู่อนาคตที่เจริญรุ่งเรือง แต่ไม่มีใครสามารถพัฒนาสิ่งเหล่านี้ได้ท่ามกลางสงครามและความรุนแรงที่ต่อเนื่อง

แต่ความตั้งใจของจีนในเมส เอย์แนก อาจทำให้จีนเป็นมหาอำนาจรายใหญ่ประเทศแรกที่ดำเนินโครงการขนาดใหญ่ในอัฟกานิสถานหลังถูกยึดครองโดยกลุ่มตอลิบาน

ย้อนกลับไปในปี 2008 ภายใต้การปกครองของรัฐบาลฮามิด คาร์ไซ อดีตประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน ได้ลงนามในสัญญา 30 ปีกับกิจการร่วมค้าของจีนชื่อ MCC (Metallurgical Corp of China Ltd.) เพื่อสกัดทองแดงคุณภาพสูงจากเหมืองเมส เอย์แนก โดยคาดว่าเหมืองดังกล่าวมีแร่มากถึง 12 ล้านตัน แต่ต้องหยุดชะงักไปในปี 2014

เพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่กลุ่มตอลิบานเข้ายึดกรุงคาบูล และโค่นล้มรัฐบาลอัฟกานิสถาน ชาห์บุดดิน ดิลาวาร์ รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และปิโตรเลียม เรียกร้องให้ว่าจ้างบริษัทของจีนอีกครั้ง

Photo by DidierTais/Wikipedia