posttoday

จุดจบของอัจฉริยะการรบ? ปูตินกำลังรวน หรือว่าซ่อนกลอะไรไว้

03 มีนาคม 2565

บทความทัศนะ วิเคราะห์การรบช่วงสัปดาห์แรก ทำไมชาติตะวันตกจึงมองว่าการรบของรัสเซียจึงผิดพลาด ไม่เป็นขบวน และล้มเหลว แต่มันเป็นแบบนั้นจริงๆ หรือไม่

บางคนยกย่องปูตินว่าเป็น "อัจฉริยทางการทหาร" เขาผ่านสงครามมาแล้วหลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นความขัดแย้งรอบๆ หรือภายในรัสเซียนั่นเอง สงครามเหล่านั้นมักจบลงด้วยชัยชนะของปูตินหรืออีกฝ่ายยอมตามเงื่อนไขของเขา

แต่ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญโลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐกลับมองว่าปูตินกำลังแพ้ในยูเครน

ผู้เขียนไม่เห็นด้วย เพราะสงครามนี้เพิ่งผ่านไปแค่สัปดาห์เดียว หากเทียบกับสงครามอื่นๆ ของสหรัฐและนาโตแล้วถือว่าเร็วไปที่จะบอกว่าปูตินแพ้ เช่น การรุกรานอิรักนั้นสหรัฐใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะตีแบกแดดแตก 

ปัญหาคือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญตะวันตกก็รู้อะไรเพียงน้อยนิดเกี่ยวกับรัสเซียในตอนนี้

"ผมไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น? ไม่เลย ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น"

แม้แต่จอห์น เมียร์ไชเมอร์ (John Mearsheimer) นักรัฐศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกก็ยังยอมจำนนกับคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับยูเครนและปูตินจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป 

เมียร์ไชเมอร์เป็นผู้เชี่ยวชาญนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐ และเคยเตือนว่าว่าการที่นาโตและชาติตะวันตกต้องการให้ยูเครนมาเป็นพวกตน จะเป็นเหตุให้รัสเซียต้องบุกยูเครน ซึ่งคำทำนายนี้เป็นจริงในที่สุด แต่จนถึงขณะนี้เขาก็ยังเดาไม่ถูกว่ารัสเซียจะมุ่งไปทางไหน

เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศ และอยู่ในสำนักคิดที่มองเรื่องดุลอำนาจเป็นปัจจัยสำคัญ (สำนัก Realist) เขาเชื่อว่าปูตินจะบุกยูเครนแต่จะไม่ยึดมัน เพราะการปกครองประเทศที่ยึดมาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย และปูตินไม่ได้มีแนวคิดเรื่องการสร้างจักรวรรดิรัสเซียใหม่หรือโซเวียตใหม่อย่างที่ชาติตะวันตกปั่นกัน

แต่ปูตินต้องการทำให้ยูเครน "เป็นกลาง" บริหารโดยรัฐบาลที่เอนเอียงมาทางรัสเซียเท่านั้น

นั่นคือเป้าหมายของปูติน (ในความคิดของเมียร์ไชเมอร์) ซึ่งผู้เขียนก็เห็นตรงกับเขา ปัญหาอยู่ที่ว่าปูตินกำลังใช้วิธีการไหนไปถึงเป้าหมายนั้น?

ทั้งเมียร์ไชเมอร์และผู้คร่ำหวอดด้านการรบและการเมืองต่างมืดแปดด้าน ไม่รู้ว่าปูตินกำลังใช้กลยุทธ์ไหน วิธีการรบที่แปลกประหลาดของเขาทำให้ข่าวกรองตะวันตกไปไม่เป็น ถึงกับสรุปแบบกระพร่องกระแพร่งว่าถ้าปูตินไม่เพี้ยนหรือสิ้นสภาพแล้วก็คงพยายามอำพรางเจตนาด้วยวิธีคิดนอกกรอบตามสไตล์ของเขา

การรบของปูตินยังไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ สหรัฐและผู้เชี่ยวชาญตั้งคำถามทำไมกองทัพรัสเซียไม่ส่งกองทัพอากาศคุมน่านฟ้ายูเครนชิงความได้เปรียบ ทั้งๆ ที่ทัพฟ้าของรัสเซียเป็นรองแค่สหรัฐ

เขากลับส่งทหารราบเข้าไปเป็นจำนวนมาก และคอนวอยทหารยาวเหยียดหลายสิบกิโลเมตร ไปออรอทะลวงเข้าเมืองใหญ่ เช่นเคียฟ แต่กลับไม่เผด็จศึกเสียที (แต่ภาคใต้ยูเครนกลับถูกยึดเมืองแล้วเมืองเล่าราวกับต้องการยึด "หัวหาด" และท่าเรือ)

ณ วันที่เขียนบทความนี้ประธานาธิบดีบยูเครนอ้างว่าทหารรัสเซียตายไปแล้วถึง 9,000 นายในวันที่ 8 แห่งสงคราม

แต่ตัวนี้น่าสงสัย เพราะรัสเซียเผยว่าเสียชีวิตไม่ถึง 500 คน และเพิ่งจะเผยออกมาในวันที่ 7 ของสงครามหลังจากทำให้โลกสงสัยมานานหลายวัน

ยอดตายของทหารรัสเซียที่ผูันำยูเครนอ้างอาจจะยังเชื่อไม่ได้ แต่ยูเครนปล่อยคลิปศพทหารรัสเซียและทหารรัสเซียที่ถูกจับได้แบบรายวัน บางคลิปทหารรัสเซียเผยว่าไม่รู้ว่าถูกส่งมารบที่ยูเครน บางคนบอกว่าคำสั่งสับสน และการเตรียมการขาดๆ เกินๆ และมีรายงานจากหลายแหล่งว่าทหารรัสเซียที่ถูกส่งมารบเป็น "ทหารเกณฑ์"

ตามระเบียบแล้วรัสเซียไม่ควรส่งทหารเกณฑ์มารบ แต่จะส่งทหารอาชีพหรือ "ทหารภายใต้สัญญา" คือเซ็นชื่อยอมรับการเป็นทหารอาชีพแล้ว การปรากฏตัวของทหารเกณฑ์รัสเซียทำให้ผู้เชี่ยวชาญตะวันตกสงสัยว่าการบัญชาการของปูตินน่าจะมีปัญหาเสียแล้ว หรือไม่ก็เขาสิ้นหนทางถึงกับส่งทหารไร้ประสบการณ์มาตายในแนวหน้า

เหมือนกับที่เมียร์ไชเมอร์บอกไว้ ไม่มีมีใครรู้อะไรเลยเกี่ยวกับรัสซียและปูติน

แต่เรามีความจำเป็นต้องจับทิศทางของสงคราม ดังนั้น ผู้เขียนจะขอสันนิษฐานจากข้อมูลที่มีอยู่ และอยากจะเทียบกับประวัติศาสตร์การรบของรัสเซีย/โซเวียตที่ผ่านมา

ประเด็นแรกเรื่องทหารเกณฑ์

ยูเครนจับทหารรัสเซียได้และถ่ายคลิป "คำสารภาพ" ไว้ส่วนหนึ่ง บางคนได้รับโอกาสโทรหาทางบ้านที่รัสเซียเพื่อบอกประมาณว่า "ผมถูกส่งมารบที่ยูเครนแบบไม่รู้ตัว" และ "เราถูกส่งมาเป็นเบี้ยในสงครามชัดๆ" และหลายคนเป็นทหารเกณฑ์

เรื่องทหารเกณฑ์ถูกส่งไปรบที่ยูเครนไปถึงหูพ่อแม่ชาวรัสซียที่ต่างเป็นห่วงลูกแทบตาย เมื่อไปซักถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้รับคำตอบว่ามีทหารเกณฑ์ที่เซ็นสัญญาเป็นทหารอาชีพกับกองทัพโดยไม่บอกพ่อแม่ตัวเอง และย้ำว่าทหารเกณฑ์จะไม่ถูกส่งไปรบ มีแต่ทหารภายใต้สัญญาเท่านั้น

มีคลิปหนึ่งเป็นทหารชาวบูเรียต (ชาวมองโกลเผ่าหนึ่งในรัสเซีย) ถูกจับได้ในยูเครน เมื่อคลิปนี้เดินทางไปถึงเมืองอูลาน-อูเดที่สาธารณรัฐบูเรียเตีย ตอนแรกชาวบูเรียตหลายคนคิดว่าเป็นคลิปปลอม จนกระทั่งผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่า "นั่นลูกชายฉันนี่" ความจริงจึงปรากฏออกมา

จากการรายงานของผู้สื่อข่าวท้องถิ่นทำให้ทราบว่าทหารนายนี้เคยประจำการที่เมืองอูลาน-อูเดและเป็นทหารภายใต้สัญญา ในเดือนกุมภาพันธ์เขาถูกส่งไปเบลารุสเพื่อซ้อมรบ แต่เขาไม่ได้บอกทางบ้านว่ากำลังถูกส่งไปยูเครน ผู้สื่อข่าวที่รายงานเรื่องนี้เผยว่าทราบว่าเขาจะถูกส่งไปยูเครน แต่ไม่สามารถเผยให้ครอบครัวทราบได้ ไม่เช่นนั้นจะถูกไล่ออกจากกองทัพ

นี่เป็นกรณีของ "ทหารภายใต้สัญญา" และทราบว่าจะถูกส่งไปยูเครน แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อแม่ของทหารนายนี้ทราบเรื่องว่าลูกอยู่ที่ยูเครน เธอบอกกับสื่อท้องถิ่นว่า “ไม่มีใครรู้อะไรเลย ใครจับเขา? คนเหล่านี้เป็นพวกนาซีหรือกองทหารยูเครน? ... พวกนาซีนั้นโหดเหี้ยม ฉันแค่ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้อะไรทั้งนั้น ฉันแค่อยากให้ลูกชายกลับบ้าน”

จากคำพูดของแม่ของทหารชาวบูเรียตสะท้อนว่าชาวรัสเซียถูกทำให้เชื่อว่าการรบที่ยูเครนเป็นการรบกับพวก "นาซี" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงนาซีของฮิตเลอร์ แต่เป็นคำเปรียบเทียบหมายถึงพวกเผด็จการที่ไร้ความปราณี ปูตินและรัสเซียพยายามทำให้ชาวรัสเซียเชื่อว่ายูเครนนั้นปกครองโดยพวกนาซี และปูตินยังกล่าวไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่าเป้าหมายของการรุกยูเครนก็คือเพื่อ "กำจัดนาซีให้สิ้นไป" (Denazification)

คำว่า "นาซี" กระตุ้นให้คนรัสเซียคล้อยตามได้ง่าย เพราะหากบอกว่าส่งไปรบกับชาวยูเครนแล้ว อาจทำให้เกิดความลังเลใจ เพราะชาวยูเครนไม่ใช่แค่มีภาษา สายเลือด และประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับรัสเซียอย่างแนบแน่น (จนเรียกว่ารัสเซียน้อย) แต่ยังถือเป็นชาวสลาฟเผ่าพันธุ์เดียวกัน

รู้กันว่า "สลาฟจะไม่ฆ่าสลาฟด้วยกัน" หลักการนี้จะถูกประโคมขึ้นมาให้รัสเซียได้ยินในช่วงของการรุกราน

ประเด็นนี้นำมาถึงสมมติฐานของผู้เขียนเรื่องการที่ปูตินส่งทหารไร้ประสบการณ์เข้าไปทั้งทหารเกณฑ์และทหารภายใต้สัญญาที่ไร้ทักษะการรบ แทนที่จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (สงครามโดรน) หรือแม้แต่เครื่องบินรบ ส่งทัพยานเกราะเข้าไปเป็นเป้าให้พวกยูเครนทำลายเล่น

สมมติฐานมี 2 ข้อ (ย้ำว่านี่แค่ "สมมมติ")

1. ปูตินไม่อยากจะฆ่าคนสลาฟด้วยกันจริงๆ พยายามหลีกเลี่ยงการฆ่าพลเรือน และมักเตือนพลเรือนให้หนีไปซะก่อนจะระดมถล่มปูพรมเมืองใหญ่ การหลีกเลี่ยงพลเรือนไม่ใช่เพราะเมตตาสงสาร แต่เพื่อป้องกันการลุกฮือหลังการยึดได้ นับว่าเพื่อซื้อใจเอาไว้ก่อน เป้าหมายของปูตินนั้นคือการโค่นรัฐบาลนิยมนาโตเท่านั้น ไม่ใช่โค่นล้มประเทศ หรืออย่างน้อยยังมองว่านี่ไม่ใช่สงครามเบ็ดเสร็จ (Total war) ที่พลเรือนจะเข้ามาพัวพันด้วย ที่จริงปูตินทำสงครามจำกัดขอบเขต (Limited war) ที่มีเป้าหมายจำกัดและใช้ทรัพยากรจำกัด มาตลอดช่วงเวลาที่เขามีอำนาจ

1.1 แต่เมื่อรัสเซียส่งทหารราบเข้ามาโดยไม่ให้ทำร้ายพลเรือน พวกรัสเซียพบว่าพลเรือนยูเครนนั่นแหละคือ "ทหาร" เพราะจับอาวุธต่อต้านผู้รุกรานอย่างหนัก ครั้นจะฆ่าพลเรือนก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีคำสั่งให้ทำเช่นนั้น ความที่ไร้ประสบการณ์เป็นทุนเดิมและการสั่งการที่กำกวม รวมถึงการต่อต้านโดยสงครามกองโจรจากพลเรือน ทำให้รัสเซียสูญเสียมาก (หากอิงกับตัวเลขของฝ่ายยูเครน)

2. ปูตินต้องการใช้กำลัง ไม่มีหลักการอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่การสั่งการมั่วจนเหลือเชื่อจนทำให้เกิดความเสียหายที่มากเหลือเชื่อตามมา สมมติฐานนี้ดูง่ายเกินไป ผู้เชี่ยวชาญตะวันตกคิดคล้ายๆ กัน แต่ก็ลังเลที่จะฟันธง พิจารณาจากประสบการณ์ด้านสงครามและการบริหารของปูตินที่ค่อนข้าง "ไร้ที่ติ" ทำให้ความเสียหายที่ยูเครนยังเป็นปริศนาว่า "แสร้งพลาด" หรือ "พลาดจังๆ"

2.1 แต่รัสเซีย/โซเวียตเคยมีประสบการณ์การสั่งการที่ "ไม่รอบคอบ" หรือตั้งใจยอมเสีย "เบี้ยหมาก" ในการสงครามแบบไม่เสียดายมาแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่าปูตินกำลังทำแบบเดียวกัน?

มีการรบของรัสเซีย/โซเวียตอย่างน้อย 2 ครั้งแล้วที่เกิดความสูญเสียแบบไม่ควรจะเสีย

ครั้งแรกคือช่วง "มหาสงครามของผู้รักชาติ" หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสงครามนั้นโซเวียตเป็นประเทศที่มียอดสูญเสียมากที่สุดถึง 27 ล้านคน (รวมพลเรือนและทหาร) ในจำนวนนี้ 8.8 ล้านคนตายในระหว่างปฏิบัติหน้าที่

ความเสียหายเกิดขึ้นมากในช่วงแรกที่นาซีเยอรมันรุกรานสหภาพโซเวียต สตาลินซึ่งเป็นผู้นำในขณะนั้นไม่แยแสคำเตือนจากข่าวกรองว่าจะมีการรุกราน เมื่อมีการรบกันขึ้นมา แท็กติกการรบของโซเวียตยังไม่มีประสิทธิภาพ ขาดผู้บัญชาการที่เชี่ยวชาญ (เพราะถูกปลดหรือประหารไปมากจากการกวาดล้างทางการเมือง) ทำให้เสียทหารไปมากมาย แต่ก็ยังดึงดันที่จะส่งไปแนวหน้าพร้อมด้วยคำสั่งหมายเลข 227(Order No. 227) คือห้ามทหารถอยเป็นอันขาด

ปัญหาเรื่องแท็คติกเกิดมาจากสตาลินลงมือกวาดล้างผู้นำในกองทัพครั้งใหญ่ (Red Army Purge) ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสงคราม ทำให้เสียผู้บัญชาการระดับอัจฉริยะไปมากมาย นี่เป็นเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้โซเวียตเสียทหารไปมากมายแบบที่ไม่ควรเป็น เมื่อบวกกับความเลินเล่อของสตาลินก็ยิ่งไปกันใหญ่

น่าสนใจที่การกวาดล้างนายทหารในกองทัพแดงนั้นจะป้ายสีว่าเป็นพวก "นาซี" กล่าวหาว่านายทหารเหล่านี้สมคบกับนาซีเยอรมันบ้างหรือวางแผนจะโค่นล้มสตาลินบ้าง รวมแล้ว 30,000 ถูกปลดจากตำแหน่งอีกหลายพันถูกจับและประหาร

เหตผลของการกวาดล้างนายทหารครั้งนั้นยังเป็นที่ดีเบตกันจนถึงทุกวันนี้ (เพราะสตาลินระแวงหรือเพื่อรวบอำนาจ) แต่ประเด็นก็คือมันสะท้อนว่าผู้นำรัสเซีย/โซเวียตนั้นยอมเสียทั้งกองทัพได้เพื่อเป้าหมายทางการเมืองของตน

อีกกรณีของความเลินเล่อคือช่วงที่สหภาพโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถานเพื่อสนับสนุนผู้นำอัฟกานิสถานฝ่ายซ้ายเอียงโซเวียต และเพื่อปราบการลุกฮือของพวกชนเผ่าที่ต่อต้านการปฏิรูปสังคมนิยม การส่งทหารไปคราวนั้น โซเวียตมีทหารเหนือกว่าพวกชนเผ่าต่างๆ มาก แต่จำนวนทหารไม่ใช่ปัจจัยแห่งชัยนชนะเสมอไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกองทัพนั้น "เป้าหมายไม่ชัดเจน" หรือ "ตั้งสมมติฐานผิดๆ"

โซเวียตเข้าใจว่าจะเข้ากุมอัฟกานิสถานได้รวดเร็วแล้วค่อยตั้งกองทัพประจำการ แบบที่ปราบการลุกฮือต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเชคโกสโลวาเกียปี 1968 แต่นั่นเป็นการรบกับคนมือเปล่าในเมืองใหญ่ที่บอบบาง ในอัฟกานิสถานนั้นเต็มไปด้วยชนเผ่าที่ดุดัน และแม้จะต่างเผ่ากันแต่มาสามัคคีกันเพราะมีโซเวียตเป็นศัตรู

โซเวียตเข้าใจว่าถ้ายึดเมืองหลักแล้วจะคุมสถานการณ์ได้ แล้วพอช่วยรัฐบาลที่เป็นสมุนตนให้มั่นคงแล้วก็จะยกทัพกลับไป แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น โซเวียตประเมินการลุกฮือต่ำเกินไป ชนเผ่าที่ลุกฮือนั้นแม้จะมีแสนยานุภาพต่ำแบบเทียบกันไม่ได้ แต่มีความมุ่งมั่นสูง หมายจะโค่นรัฐบาลเอียงโซเวียตที่บังคับให้พวกเขาละทิ้งขนบและศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องคอขาดบาดตายในสังคมอัฟกัน และทำให้กลุ่มชนเผ่าที่เคยขัดแย้งกันรวมตัวกันได้เพื่อทำ "สงครามศักดิ์สิทธิ์" หรือ ญิฮาดกับศัตรูแห่งอิสลามและขนบแห่งอัฟกัน

การไม่เข้าใจหัวอกคนท้องถิ่นนั้น ทำให้โซเวียตถูกต่อต้านหนักหน่วงแบบที่ส่งกองทัพมาเป็นหมื่นเป็นแสนก็ไม่พอ

ยังไม่นับการทหารที่ส่งมารบในอัฟกานิสถานยังเป็นพวกทหารจากสาธารณรัฐในเครือโซเวียตแถบเอเชียกลางที่เป็นเครือญาติด้านภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมกับคนอัฟกัน เมื่อคนเหล่านี้มารบที่อัฟกานิสถานก็ทราบความจริงว่าไม่ได้มารบกับ "ศัตรูแห่งสังคมนิยม" คือพวกอเมริกันอย่างที่นายโกหก แต่เป็นพี่น้องทางเชื้อชาติกัน ทหารโซเวียตเหล่านี้นอกจากจะไม่ยอมรบด้วยแล้ว ยังมอบอาวุธให้พวกกลุ่มนักรบชนเผ่าหรือพวกมุญาฮิดีนเสียอีก

กว่าโซเวียตจะรู้ตัวด้วยการเปลี่ยนหน่วยทหารเป็นพวกชนชาติสลาฟก็สายไปแล้ว เพราะนั่นคือปลายทศวรรษที่ 80 อีกไม่นานโซเวียตก็ต้องซมซานถอยทัพออกไป จากนั้นตามมาติดๆ ด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

จากตัวอย่างของ 2 กรณีนี้เราจะเห็นบางอย่างที่สะท้อนมาให้เห็นในทุกวันนี้ด้วย คือ การอ้างเรื่อง "ภัยคุกคามจากนาซี" และต้องกวาดล้างมัน และสองคือการบอกไม่หมดกับผู้ใต้บังคับบัญชา และใช้ทหารผิดประเภทในการรบ ผลจบลงด้วยการสูญเสียมหาศาล

อย่างเช่น ที่อัฟกานิสถาน พวกทหารโซเวียตไม่รบและมอบอาวุธให้พวกมุญาฮิดีน ส่วนที่ยูเครนทหารรัสเซียยอมแพ้หรือทำลายยานพาหนะตัวเอง (จากรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ)

แต่ย้ำว่านี่คือสมติฐานเท่านั้น และเป็นการสมมติบนการสมมติว่ากองทัพรัสเซียใช้กองทัพที่ไร้ประสบการณ์และไม่ได้บอกความจริงทั้งหมดกับทหารของตน ทำให้ทหารของตนไม่ยอมรบหรือตายเป็นใบไม้ร่วง

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เหมือนกับที่จอห์น เมียร์ไชเมอร์บอกไว้ "ผมไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น? ไม่เลย ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น"

เพราะปูตินเป็นชายที่คาดเดาได้ยากที่สุดในโลก (เหมือนสตาลิน)

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by WANG Zhao / AFP