posttoday

ครั้งหนึ่งคนอเมริกันถูก "พยานเก๊" ปั่นเรื่องเท็จเพื่อให้สนับสนุนสงคราม

21 กุมภาพันธ์ 2565

คำให้การของนายิราห์ (Nayirah testimony) เป็นคำให้การเท็จที่เด็กสาววัย 15 ปี ชื่อนายิราห์ได้ให้ไว้ต่อที่รัฐสภาคองเกรสแห่งสิทธิมนุษยชนของรัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2533 มันเป็นการปั้นน้ำเป็นตัวเพื่อหาความชอบธรรมในการรุกรานอิรัก

1. ในปี 1990 อิรักทำให้โลกต้องตะลึงเมื่อส่งกองทัพรุกรานคูเวต โดยกล่าวหาคูเวตว่า คูเวตได้ขโมยน้ำมันของอิรักโดยการขุดเจาะน้ำมันแบบเฉียงเข้ามาใต้ดินแดนอิรัก แต่บางความเห็นก็ว่าการโจมตีครั้งนี้ เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลอิรักเป็นหนี้คูเวตอยู่กว่า 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากการกู้มาใช้จ่ายในช่วงสงครามอิรัก-อิหร่าน และหลังจากนั้นคูเวตก็ได้ผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดจำนวนมหาศาลส่งผลให้ราคาน้ำมันตกต่ำ ทำให้อิรักไม่มีรายได้มากพอจะมาชำระหนี้ก้อนนี้

2. การบุกครองคูเวตเริ่มขึ้นในเวลาตีสองของวันที่ 2 สิงหาคม1990 เนื่องจากกำลังทหารที่มากกว่าประกอบกับมีอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยจากการสนับสนุนของชาติตะวันตกในช่วงสงครามอิรัก-อิหร่าน ทำให้อิรักใช้เวลาเพียงสองวันในการบุกครองคูเวต กำลังทหารส่วนใหญ่ของคูเวตก็ต้องล่าถอยไปยังซาอุดีอาระเบียและบาห์เรนซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน คูเวตถูกผนวกดินแดนเข้ากับอิรัก

3. หลังจากนั้นมีรายงานข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชน การปล้นชิง และการทำลายล้างของอิรักต่อคูเวต แม้จะมีการกดดันจากประชาคมโลกอิรักก็ยังไม่ยอมถอนตัวจากคูเวต แต่สหรัฐยังไม่สามารถเข้าแทรกแซงได้ จนกระทั่งในเดือนกันยายนเริ่มมีรายงานว่าอิรักได้ปล้นโรงพยาบาลและเริ่มมีรายงานว่าอิรักปล้นตู้อบทารกแรกเกิดทำให้เด็กตายไป "เรื่องเล่า" เกี่ยวกับความโหดร้ายของอิรักนี้จะเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Kuwaiti baby story

4. "สตอรี่" นี้ The Washington Post สืบมาได้ว่า "มีต้นกำเนิดมาจากจดหมายจากเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสาธารณสุขของคูเวตที่ถูกลักลอบเข้าประเทศโดยนักการทูตยุโรป" โดยเล่าว่าอิรักปล้นชิงอุปกรณ์ทางการแพทย์กลับไปยังประเทศตัวเองหนึ่งในนั้นคือตู้อบทารกแรกเกิด อย่างไรก็ตาม The Washington Post ระบุว่ายืนยันข้อเท็กจจริงเรื่องนี้ไม่ได้

5. แต่มันได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางหลังจากที่ผู้แทนสหประชาชาติของคูเวตส่งจดหมายลงวันที่ 5 กันยายน 1990 ไปถึงเลขาธิการสหประชาชาติ ระบุว่า "เราได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้อย่างยิ่งในสถาบันสุขภาพของคูเวตว่าเจ้าหน้าที่การยึดครองอิรักได้ก่ออาชญากรรมที่โหดร้ายต่อไปนี้ ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ: ... 2. ตู้อบทารกในโรงพยาบาลแม่และเด็กที่ใช้สำหรับเด็กที่มีอาการปัญญาอ่อน (เด็กที่คลอดก่อนกำหนด) ถูกนำออกไป ทำให้เด็กที่อยู่ในระหว่างการรักษาเสียชีวิตทั้งหมด"

6. จนกระทั่งในวันที่ 29 กันยายน 1990 ในการพบปะระหว่างประธานาธิบดีจอร์จ บุชกับเชคญาบิร อัลอะห์มัด อัลญาบิร อัศเศาะบาห์ ผู้นำคูเวตบอกกับประธานาธิบดีบุชว่าชาวอิรักกำลัง "บุกโรงพยาบาล นำทารกออกจากตู้อบ และนำผู้คนออกจากเครื่องช่วยชีวิตเพื่อส่งอุปกรณ์กลับไปอิรัก" ในช่วงเวลาดังกล่ามีรายงานจากรัฐมนตรีคูเวตว่ามีทารกตายไป 22 รายเพราะน้ำมืออิรัก

7. แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า Kuwaiti baby story เป็นเรื่องจริงแค่ไหน แม้แต่บุชเองก็กล่าวระหว่างแถลงข่าววันที่ 30 กันยายนว่า "ตอนนี้ ผมไม่รู้ว่าเรื่องเหล่านี้สามารถพิสูจน์ว่าจริงได้กี่เรื่อง แต่ผมรู้ว่าเมื่ออาเมียร์ (ผู้นำคูเวต) มาอยู่ที่นี่ เขาพูดจากใจจริง และหลังจากนั้นก็ยังมี Amnesty International ที่ได้ซักถามหลายๆ คนที่ชายแดน ซึ่งมันน่าสะอิดสะเอียดมาก"

10. หลังจากนั้น Kuwaiti baby story ก็อยู่ในความสนใจเรื่อยมาท่ามกลางกระแสการเมืองระหว่างประเทศที่กดดันอิรักหนักขึ้น แต่ไม่มีใครรู้ว่าตอนนี้กำลังจะมี "ละคร" แสร้งอำพรางเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือกันระหว่างองค์กรของชาวคูเวตที่เคื่อนไหวเพื่อให้ชาวอเมริกันเห็นด้วยกับการส่งทหารเข้าแทรกแซงอิรัก คือกลุ่ม Citizens for a Free Kuwait ในวอชิงตันซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้ของคูเวตเพื่อเดินสายทงการเมืองผลักดันให้สหรัฐส่งกองทัพไปช่วยคูเวต กับบริษัทพีอาร์ Hill & Knowlton ในนิวยอร์ก

11. Hill & Knowlton ได้ทุ่มเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อศึกษาและกำหนดวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้คนอเมริกันสนับสนุนการทำสงครามกับอิรัก ผลการศึกษาพบว่าการเน้นที่ความทารุณโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องตู้อบเด็กทารกนั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุด ในที่สุดบริษัทนี้กับกลุ่มล็อบบี้ชาวคูเวต ก็ตกลงจะ "ปั่น" เรื่องนี้ผ่านทางกลุ่มร่วมสองพรรคในรัฐสภา (หรือคอคัส/Caucus) คือ กลุ่มคอคัสรัฐสภาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Congressional Human Rights Caucus)

12. วันที่ 10 ตุลาคม 1990 กลุ่มคอคัสรัฐสภาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็เปิดเวทีให้หญิงสาววัย 15 ปีที่ชื่อ "นายิราห์" ซึ่งระบุตัวตนว่าเป็น "นางพยาบาลนาริยาห์" (Nurse Nayirah) ให้ปากคำ (โดยไม่ได้สาบานว่าเป็นความจริง) ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในคูเวตจากน้ำมือผู้รุกรา การให้การ 4 นาทีเต็มไปด้วยถ้อยคำที่บีบหัวใจ ตอนหนึ่งเธอบอกว่า "สิ่งที่ฉันเห็นเกิดขึ้นกับเด็กๆ ของคูเวตและประเทศของฉันได้เปลี่ยนชีวิตของฉันไปตลอดกาล ได้เปลี่ยนชีวิตของชาวคูเวตทั้งหมด ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เด็กธรรมดาหรือเด็กยิ่งกว่านั้น"

13. เธอบอกว่า "ขณะที่ฉันอยู่ที่นั่น ฉันเห็นทหารอิรักนำปืนมาที่โรงพยาบาล พวกเขาเอาทารกออกจากตู้อบ เอาตู้ไป และปล่อยให้เด็กตายบนพื้นเย็นๆ มันน่ากลัว ฉันอดไม่ได้ที่จะนึกถึงหลานชายที่คลอดก่อนกำหนดและอาจเสียชีวิตในวันนั้นเช่นกัน" นอกจากเรื่องเด็กทารกเธอยังเล่าถึงการทรมานผู้ใหญ่ด้วยว่า "ฉันพบและพูดคุยกับเพื่อนของฉันหลังจากที่เขาถูกทรมานและปล่อยตัวโดยชาวอิรัก เขาอายุ 22 แต่ดูเหมือนเป็นคนแก่ ชาวอิรักจุ่มศีรษะลงในสระว่ายน้ำจนเกือบจมน้ำตาย พวกเขาดึงเล็บของเขาออกแล้วใช้ไฟฟ้าช็อตาส่วนของร่างกายที่บอบบางและเป็นส่วนตัวของเขา เขาโชคดีที่รอดมาได้"

14. เหมือนกับต้องการให้ชาวอเมริกันรู้สึกมีอารมณ์ร่วมมากขึ้นเธอบอกว่า "ชาวอิรักล้อเลียนประธานาธิบดีบุช" คืนนั้น ส่วนหนึ่งของคำให้การที่ออกอากาศทางช่อง ABC's Nightline และ NBC Nightly News เข้าถึงผู้ชมชาวอเมริกันได้ประมาณ 35 ถึง 53 ล้านคน หลังจากนั้นมีวุฒิสมาชิก 7 อ้างคำให้การของนายิราห์ในสุนทรพจน์ที่สนับสนุนการใช้กำลังต่ออิรัก ประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุชเล่าเรื่องนี้ซ้ำอย่างน้อยสิบครั้งในสัปดาห์ถัดมา

15. อิรักปฏิเสธเรื่องนี้อย่างแข็งกร้าว รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารของอิรักกล่าวว่า "ตอนนี้ (บุช) ใช้ในสิ่งที่ (ผู้นำคูเวต) บอกเพื่อให้สภาคองเกรสผ่านความเห็นชอบงบประมาณของคุณซึ่งขาดดุลเพราะนโยบายของคุณ" และอิรักยังได้เชิญผู้สื่อข่าวไปยังโรงพยาบาลแม่และเด็กของคูเวต ซึ่งแพทย์ที่นั่นปฏิเสธเรื่อง Kuwaiti baby story

16. แต่ในที่สุดวุฒิสภาสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารด้วยคะแนนเสียง 52–47 เสียง ซึ่งปฏิบัติการทางทหารนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคงที่ได้ผ่านมติ 678 ซึ่งให้เวลาอิรักจนถึงวันที่ 15 มกราคม 1991 ให้ถอนตัวจากคูเวต และให้อำนาจประเทศต่างๆ ใช้ "วิธีการที่จำเป็นทั้งหมด" เพื่อบังคับให้อิรักออกจากคูเวตหลังเส้นตาย ซึ่งสหรัฐตอบสนองด้วยการระดมพันธมิตรส่งกำลังไล่ต้อนอิรักออกจากคูเวต ในปฏิบัติการพายุทะเลทราย (Operation Desert Storm) ในวันที่ 17 มกราคม 1991

17. ในเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงเห็นชอบใน "วิธีการที่จำเป็นทั้งหมด" ซึ่งรวมถึงการทหารด้วย ทำไมจึงต้องมีการให้การเรื่อง Kuwaiti baby story ต่อสมาชิกรัฐสภาและเผยแพร่คำให้การนี้ต่อชาวอเมริกันนับล้าน? นั่นก็เพราะกลุ่มล็อบบี้ของคูเวตในวอชิงตันต้องการให้คนอเมริกันสนับสนุนรัฐบาลบุชในการส่งกำลังทหารไปช่วยคูเวตนั่นเอง มันคือ "ปฏิบัติการพีอาร์" เพื่อขับเคลื่อนมติการเมือง และใช้มติการเมืองบัญชาการปฏิบัติการทางทหาร

18. จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 6 มกราคม 1992 The New York Times ได้ตีพิมพ์ผลงานชิ้นหนึ่งโดยจอห์น แมคอาร์เธอร์ (John MacArthur) เรื่อง "Remember Nayirah, Witness for Kuwait?" (จำนาริยาห์ พยานของคูเวตได้หรือเปล่า?) ผู้เขียนค้นพบว่านาริยาห์เป็นลูกสาวของเอกอัครราชทูตคูเวตประจำสหรัฐอเมริกา คือ ซาอูด นาซีร์ อัศเศาะบาห์ และตั้งข้อสังเกตว่า "เรื่องราวของตู้อบทารกบิดเบือนวิวาทะของชาวของอเมริกาอย่างหนักเรื่องที่ว่าจะสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารหรือไม่"

19. ในเวลาต่อมา นายิราห์ถูกเปิดเผยว่ามีความเชื่อมโยงกับบริษัทพรอาร์ Hill & Knowlton โดยผ่านการโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวคูเวต Citizens for a Free Kuwait ซึ่งความเกี่ยวพันยังไม่หมดแค่นั้น เพราะกลุ่มนี้เช่าที่ทำการผ่านกลุ่มคอคัสรัฐสภาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ด้วยสนราคาเช่าแบบกันเองด้วย แสดงว่าทั้งเด็กสาวคนนี้ (ซึ่งจริงๆ เป็นลูกทูตไม่ใช่พยาบาลหรือแม้แต่คนธรรมดา) และบริษัทพีอาร์ กลุ่มล็อบบี้ชองคูเวต และกลุ่มของสภาคองเกรสทำงานกันเป็นทีม

20. ทั้งหมดนี้ทำงานเป็นทีมเพื่อ "ปั่น" ให้คนอเมริกันเกิดอารมณ์ร่วมสนับสนุนการส่งทหารไปทำสงครามกับอิรัก มันอาจจะไม่ถึงเป็นการ "ปั้นน้ำเป็นตัว" เสียทีเดียว เพราะหลังสงครามแล้วรอยเตอร์รายงานว่าอิรักส่งอุปกรณ์การแพทย์คืนให้คูเวตถึง 98 คันรถ รวมถึงตู้อบทารก ทำให้ฝ่ายคูเวตชี้ว่านี่คือหลักฐานว่า Kuwaiti baby story เป็นความจริง

แม้บางคนจะอาจคิดว่าไม่ถึงกับโกหก (เพราะอิรักทำจริง) แต่มันเป็นเป็นกลเม็ดหลอกลวงเพื่อทำให้ประชาชนและสื่อถูกปั่นหัว "มั่นก็คือการโกหกรูปบบหนึ่ง" นั่นเอง

และแม้ไม่มีหลักฐานว่าทำเนียบขาวเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่การทำงานของบริษัทพีอาร์มันมีร่องรอยของลักษณะการทำงานของทำเนียบขาวอยู่ นี่คือความเกี่ยวข้องเดียวกับรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งก็ไม่สามารถฟันธงได้อีกว่ามีการร่วมมือกันจริงๆ

แต่อย่างน้อยเราจับทางได้ว่าเพราะพยานเก๊รายนี้แหละ ที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐได้รับเสียงสนับสนุนล้นหลาม จนได้รับไฟเขียวให้ส่งกำลังไปจัดการกับอิรักได้