posttoday

สาเหตุที่ 'โดเนตสก์-ลูฮันสก์' คือหัวใจสำคัญของวิกฤตยูเครน

18 กุมภาพันธ์ 2565

'โดเนตสก์-ลูฮันสก์' หัวใจสำคัญของวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

The Washington Post และ Economist ระบุว่าหัวใจสำคัญของวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบันก็คือความขัดแย้งที่มีมายาวนานใน ภูมิภาคดอนบัส โดยสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซียลงมติเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา อนุมัติร่างกฎหมายรับรองสถานะการเป็นรัฐอิสระของ โดเนตสก์ และลูฮันสก์ ซึ่งถือเป็นการเติมเชื้อไฟลงในวิกฤตอย่างรุนแรง

หากประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน รับรองกฎหมายให้สถานะการเป็นรัฐอิสระของดินแดนทั้งสองอย่างเป็นทางการจะยิ่งทำให้ความตึงเครียดทวีคูณขึ้นไปอีก

ฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า หากรัสเซียยอมรับโดเนตสก์ และลูฮันสก์ เป็นรัฐอิสระ ถือเป็นการโจมตียูเครนโดยไม่ต้องใช้อาวุธ และละเมิดอธิปไตยของยูเครน

ด้านดมิทรี คูเลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครน กล่าวว่า การกระทำเช่นนี้ถือว่ารัสเซียถอนตัวออกจากข้อตกลงมินสก์ ซึ่งรัสเซียจะต้องยอมรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

เกิดอะไรขึ้นในโดเนตสก์-ลูฮันสก์

สาเหตุที่ 'โดเนตสก์-ลูฮันสก์' คือหัวใจสำคัญของวิกฤตยูเครน

• ย้อนกลับไปในปี 2014 เกิดสงครามครั้งใหญ่ในยูเครนตะวันออก ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกของยูเครนที่ฝักใฝ่รัสเซียและต่อต้านรัฐบาลยูเครน ในมณฑลโดเนตสก์ และลูฮันสก์ หรือที่มักเรียกรวมกันว่า "ดอนบัส"

• Aljazeera ระบุว่าความขัดแย้งในภูมิภาคดอนบัสจัดว่าเป็นสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน เนื่องจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนถูกกล่าวว่าเป็นผู้แทนเพื่อผลประโยชน์ของรัสเซีย หรือไม่ก็เป็นทหารรัสเซียที่ปลอมตัวมา

• ความตึงเครียดถึงจุดเดือดเมื่อนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนรัสเซียหลายคนถูกเผาทั้งเป็น ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงในเมืองต่างๆ ของยูเครนตะวันออกบุกยึดอาคาร สร้างสิ่งกีดขวาง ทางการยูเครนสั่งให้ "ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย" เข้าปราบผู้ประท้วง จนในที่สุดเกิดเป็นจลาจลด้วยอาวุธ และเข้าสู่สงครามอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งรัสเซียถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนอาวุธและกำลังทหารแก่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน

• รัสเซียและยูเครนร่วมลงนามใน ข้อตกลงมินสก์ ซึ่งมีการตกลงหยุดยิง แต่ก็ยังคงมีการปะทะตามแนวชายแดนเกิดขึ้นเป็นระยะ เหตุปะทะที่ชายแดนรัสเซียและยูเครนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 14,000 คน

• โดเนตสก์และลูฮันสก์แยกตัวออกมาตั้งสาธารณรัฐเอกราช ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่มีรัสเซียคอยหนุนหลัง ในช่วงกลางปี 2015 รัฐบาลยูเครนอ้างว่ามีทหารรัสเซีย 9,000 นายอยู่ข้างกลุ่มแบ่งแยกดินแดน

• รัสเซียแสดงจุดยืนชัดเจนมาโดยตลอดว่าต้องการให้ นาโต หยุดขยายอิทธิพลในยุโรปตะวันออก และไม่ต้องการให้ยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิก จนเมื่อต้นปี 2021 ที่ผ่านมารัสเซียระดมกำลังทหารจำนวนมากเข้าประชิดชายแดนยูเครน รวมถึงบริเวณภูมิภาคดอนบัส

• ส่งผลให้ตะวันตกกังวลว่ารัสเซียกำลังเตรียมที่จะสร้างสงครามกับยูเครนอีกครั้ง โดยมีกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในโดเนตสก์และลูฮันสก์ร่วมด้วย

• วานนี้ (17 ก.พ.) ตามเวลาท้องถิ่นยังมีรายงานว่ากองกำลังยูเครนและกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกเปิดฉากยิงปะทะ ซึ่งเป็นการละเมิดข้อตกลงหยุดยิง ท่ามกลางความตึงเครียด เนื่องจากตะวันตกเตือนมาโดยตลอดว่ารัสเซียสามารถโจมตียูเครนได้ทุกเมื่อ และอาจสร้างสถานการณ์เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการรุกราน

ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวว่าการยิงปืนใหญ่ของกองกำลังกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซียเป็นการยั่วยุครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกบฏกล่าวโทษว่าทหารยูเครนเป็นฝ่ายเปิดฉากยิงก่อน

• ด้าน ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐ ยืนยันคำเดิมว่ารัสเซียมีแผนที่จะจัดฉากสร้างสถานการณ์เพื่อให้เป็นข้ออ้างในการโจมตียูเครน ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ขณะที่รัสเซียยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่มีแผนที่จะรุกรานยูเครนแต่อย่างใด แต่นาโตต้องให้การรับรองว่ายูเครนจะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิก