posttoday

รู้จักเชื้อล่องหน Omicron BA.2 แพร่เร็วหลายประเทศ

28 มกราคม 2565

ทั่วโลกเฝ้าระวัง Omicron BA.2 อาจแพร่เชื้อเร็วขึ้น แต่ยังไม่จัดเป็นสายพันธุ์น่ากังวล

CBS News รายงานว่านักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วโลกกำลังจับตาการแพร่ระบาดของโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นเวอร์ชันล่องหน โดยขณะนี้พบว่าแพร่กระจายไปแล้วอย่างน้อย 40 ประเทศ

ทำไมเรียกเชื้อล่องหน?

โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนหรือ B.1.1.529 ถูกแยกย่อยออกเป็น BA.1 ซึ่งคือโอมิครอนดั้งเดิม และ BA.2 ที่ถูกเรียกว่าเป็นเวอร์ชันล่องหนหรือโอมิครอน-ไลก์ (Omicron-Like)

นักวิทยาศาสตร์ให้เหตุผลว่า BA.2 มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่ทำให้จำแนกว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้ยากขึ้น โดยมีลักษณะบางอย่างที่ไม่เหมือนกับโอมิครอนดั้งเดิม นั่นคือไม่มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมที่ Spike Gene ที่เรียกว่า S-Gene Drop Out ทำให้ตรวจระบุสายพันธุ์ของเชื้อได้ยากขึ้น แม้ว่าจะตรวจหาเชื้อแบบ PCR

รายงานจาก The Guardian อธิบายว่าการตรวจหาเชื้อแบบ PCR โดยปกติแล้วจะพุ่งเป้าไปที่ยีน 3 ส่วน หนึ่งในนั้นคือ S Gene แต่หากเป็นสายพันธุ์โอมิครอนดั้งเดิม รวมถึงสายพันธุ์อัลฟา จะตรวจไม่เจอยีนตัวนี้ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่ทำให้สามารถระบุสายพันธุ์ของเชื้อได้

แต่หากเป็น BA.2 ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ ทำให้อาจถูกระบุว่าเป็นสายพันธุ์เดลตา หรือเบตา จึงเป็นที่มาของชื่อไวรัสล่องหน เพราะสามารถตีเนียนไปกับสายพันธุ์อื่นได้ กล่าวคือยังตรวจเจอเชื้อแต่ยากที่จะจำแนกว่าเป็นสายพันธุ์ใด

อันตรายกว่าเดิม?

ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งเชื่อว่าเชื้ออาจแพร่กระจายได้ดีกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า BA.2 จะมีศักยภาพในการแพร่เชื้อมากกว่า BA.1 หรือไม่ และส่งผลให้เกิดโรครุนแรงเพียงใด ตลอดจนความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจน

ขณะที่สหราชอาณาจักรจัดให้เป็นสายพันธุ์ภายใต้การสอบสวน (VUI) โดยอ้างถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในประเทศและต่างประเทศ ถึงกระนั้นโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมยังคงเป็นสายพันธุ์หลักในสหราชอาณาจักร

ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำเตือนว่าผู้ติดเชื้อ BA.2 เพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่พิจารณาให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

แพร่ไปถึงไหนแล้ว?

นับตั้งแต่กลางเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว BA.2 ได้แพร่กระจายไปทั่วเอเชียและยุโรป โดยขณะนี้พบแล้วอย่างน้อย 40 ประเทศ โดยเฉพาะในเดนมาร์กซึ่งพบ BA.2 คิดเป็น 45% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดในช่วงกลางเดือนม.ค.

นอกจากนี้ยังพบมากในอินเดีย, สวีเดน และสิงคโปร์ ด้านสหรัฐพบผู้ติดเชื้อดังกล่าวแล้วเกือบ 100 ราย

ในประเทศไทยก็ตรวจพบเชื้อดังกล่าวแล้วเช่นกัน ซึ่งนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ชี้ว่ายังไม่มีประเด็นที่ต้องกังวล เนื่องจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ไม่ได้เหนือไปกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.1 อย่างเห็นได้ชัด

Photo by Joseph Prezioso / AFP