posttoday

รู้จัก Omicron-Like สายพันธุ์ย่อยของ Omicron

10 ธันวาคม 2564

Omicron-Like คืออะไร ทำไมจึงเรียกว่าเป็นสายพันธุ์ล่องหน

หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลียรายงานผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนรายใหม่เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทราบภายหลังจากการตรวจเชิงลึกว่า ผู้ป่วยสัญชาติแอฟริกาใต้รายหนึ่งติดเชื้อที่มีรหัสพันธุกรรมแตกต่างจากโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเดิม แต่ยังมีความใกล้เคียงกันอยู่ จึงตั้งชื่อเบื้องต้นว่า สายพันธุ์คล้ายคลึงโอไมครอน หรือ โอไมครอน-ไลก์ (Omicron-Like) ตามรายงานของ Bloomberg

ด้านเว็บไซต์ The Guardian รายงานว่าในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมามีการตรวจพบไวรัสดังกล่าวแล้วอย่างน้อย 7 เคสจากตัวอย่างเชื้อจากแอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย และแคนาดา

นักวิจัยจึงได้แยกย่อยโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนหรือ B.1.1.529 ออกเป็น BA.1 ซึ่งคือโอไมครอนดั้งเดิม และ BA.2 หรือโอไมครอน-ไลก์

โอไมครอน-ไลก์ คืออะไร?

The Guardian ระบุว่ามันคือ "โอไมครอนเวอร์ชันล่องหน" เนื่องจากมีลักษณะบางอย่างที่ไม่เหมือนกับโอไมครอนดั้งเดิม นั่นคือไม่มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมที่ Spike Gene ที่เรียกว่า S-Gene Drop Out ทำให้ตรวจระบุสายพันธุ์ของเชื้อได้ยากขึ้น แม้ว่าจะตรวจหาเชื้อแบบ PCR

• รายงานอธิบายว่า การตรวจหาเชื้อแบบ PCR โดยปกติแล้วจะพุ่งเป้าไปที่ยีน 3 ส่วน หนึ่งในนั้นคือ S Gene แต่หากเป็นสายพันธุ์โอไมครอนดั้งเดิม รวมถึงสายพันธุ์อัลฟา จะตรวจไม่เจอยีนตัวนี้ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่ทำให้สามารถระบุสายพันธุ์ของเชื้อได้

• แต่หากเป็น BA.2 ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ ทำให้อาจถูกระบุว่าเป็นสายพันธุ์เดลตา หรือเบตา จึงเป็นที่มาของชื่อไวรัสล่องหน เพราะสามารถตีเนียนไปกับสายพันธุ์อื่นได้

ต้องกังวลหรือไม่?

• ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสามารถสรุปได้ว่าโอไมครอน-ไลก์ หรือ BA.2 มีพฤติกรรมและวิธีการแพร่เชื้อเหมือนหรือต่างจากโอไมครอนดั้งเดิมอย่างไร แต่ด้วยความที่มีรหัสพันธุกรรมที่ค่อนข้างแตกต่างกัน นักวิจัยจึงคาดว่าไวรัสทั้งสองอาจมีพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมือนกัน

• ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนกังวลว่าหากโอไมครอน-ไลก์มีศักภาพในการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็ว ก็มีสิทธิ์ที่จะกลายเป็นโควิด-19 สายพันธุ์ที่น่ากังวลอีกตัวหนึ่ง

• ผู้เชี่ยวชาญกำลังจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของทั้งโอไมครอนและโอไมครอน-ไลก์ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าศักยภาพในการแพร่เชื้อของไวรัสเป็นอย่างไร ส่งผลให้เกิดอาการป่วยรุนแรงหรือไม่ และสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากหรือน้อยเพียงใด

• อย่างไรก็ตาม นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า โอไมครอน-ไลก์ หรือ BA.2 ไม่สามารถตีเนียนหลอกชุดตรวจได้ เนื่องจากขณะนี้มีการตรวจจำเพาะเจาะจงยีนหลายตำแหน่ง แต่หากในอนาคตมีการกลายพันธุ์มากไปกว่านี้ก็จะต้องพิจารณาปรับสูตรการตรวจเชื้อใหม่ พร้อมขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวล

AFP PHOTO /CENTERS FOR DISEASE CONTROL AND PREVENTION/ALISSA ECKERT/HANDOUT