posttoday

มหัศจรรย์เทคโนโลยีที่มาก่อนกาล หลักฐานศัลยกรรมกะโหลกชาวเปรูโบราณ

27 มกราคม 2565

กะโหลกของนักรบเปรูอายุ 2,000 ปีที่ใช้แผ่นโลหะเชื่อมความเสียหายคือหนึ่งในตัวอย่างของการผ่าตัดขั้นสูงที่เก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่งของโลก

กะโหลกศีรษะมนุษย์ชิ้นหนึ่งที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ SKELETONS: Museum of Osteology ในรัฐโอกลาโฮมาของสหรัฐสร้างความฮือฮาในกลุ่มนักโบราณคดีและผู้ที่สนใจ เนื่องจากมีโลหะแผ่นใหญ่ปิดบริเวณกะโหลกที่เสียหาย

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่านักรบเจ้าของกะโหลกชิ้นนี้ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะจากสมรภูมิสู้รบ เมื่อนักรบรายนี้ถูกนำตัวกลับจากสงคราม ศัลยแพทย์ได้ใส่ชิ้นส่วนโลหะเข้าไปในกะโหลกเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ และที่น่าอัศจรรย์คือ นักรบรายนี้รอดทั้งจากอาการบาดเจ็บและการผ่าตัด

ที่บอกว่าน่าอัศจรรย์ก็เพราะในสมัยนั้นยังไม่มียาชาเหมือนที่ใช้ในปัจจุบัน โดยเฟซบุ๊คของพิพิธภัณฑ์ระบุว่า “แม้ว่าเราไม่สามารถการันตีได้ว่ามีการใช้ยาสลบ แต่เราทราบว่าในช่วงเวลานั้นมีการใช้สมุนไพรจากธรรมชาติระหว่างการผ่าตัด” (ชาวอินคาในเปรูอาจจะมีการใช้ใบโคคากับสมุนไพรบางชนิดช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด)

มหัศจรรย์เทคโนโลยีที่มาก่อนกาล หลักฐานศัลยกรรมกะโหลกชาวเปรูโบราณ

และเฟซบุ๊คของพิพิธภัณฑ์ยังชี้ให้เห็นว่า กระดูกกะโหลกที่แตกซึ่งอยู่รอบๆ แผ่นโลหะประสานเข้าด้วยกัน ซึ่งบ่งบอกว่าการผ่าตัดประสบความสำเร็จด้วยดี และบอกอีกว่าโลหะดังกล่าวไม่ได้ถูกเทลงในกะโหลกในรูปของโลหะหลอมเหลว

ตัวแทนของพิพิธภัณฑ์บอกกับ Daily Star ว่า “เราไม่รู้จักโลหะนี้ แต่โดยปกติเงินหรือทองจะถูกนำมาใช้สำหรับขั้นตอนลักษณะนี้”

ถึงตอนนี้กะโหลกนี้กลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่พิสูจน์ว่ามนุษย์ในยุคโบราณมีความสามารถในการลงมือผ่าตัดขั้นสูงที่น่าทึ่งมาก

ทั้งนี้ บริเวณที่ค้นพบกะโหลกศีรษะในเปรูนั้นเป็นที่รู้จักมานานสำหรับศัลยแพทย์ที่คิดค้นขั้นตอนที่ซับซ้อนในการรักษากะโหลกศีรษะที่แตกร้าว

การบาดเจ็บที่ศีรษะถือเป็นเรื่องปกติในเปรูเมื่อหลายพันปีก่อน เนื่องจากในสมรภูมิสงครามมีการใช้ไม้กระบองและเครื่องยิงคล้ายหนังสติ๊กซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ทำให้แพทย์ชาวเปรูต้องหาวิธีรักษาบาดแผลเหล่านั้นและมีความเชี่ยวชาญอย่างมาก

จอห์น เวราโน นักมานุษยวิทยากายภาพของมหาวิทยาลัยทูเลนของสหรัฐเผยกับ The Star ว่า อัตราการรอดชีวิตของการรักษาบาดแผลรุนแรงที่ศีรษะสูงอย่างน่าประหลาดใจคือ ราว 70%

การรักษากะโหลกแตกร้าวเป็นตัวอย่างหนึ่งของการเจาะกะโหลก (Trepanation) ซึ่งมีการปฏิบัติมาช้านานในแถบพื้นที่ที่พบกะโหลกชิ้นนี้ แพทย์ชาวเปรูใช้วิธีการเจาะกะโหลกไม่เฉพาะกับการประกอบพิธีกรรมเท่านั้น แต่ยังใช้รักษาอาการต่างๆ ด้วย

ผู้รักษาจะเจาะหรือขูดกะโหลกในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บสาหัสที่สมอง ทั้งเพื่อนำเศษกะโหลกที่แตกร้าวออก เพื่อลดความดันจากอาการสมองบวม และเพื่อระบายของเหลวที่คั่งในสมอง

เวราโนเผยกับ National Geographic เมื่อปี 2016 ว่า “พวกเขาเรียนรู้ตั้งแต่แรกว่ามันคือการรักษาที่จะช่วยรักษาชีวิต เรามีหลักฐานมากมายที่บอกว่าการเจาะกะโหลกไม่ได้ทำเพื่อให้รู้สึกตัวหรือเป็นการทำพิธีกรรมล้วนๆ แต่มีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง (และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง) กะโหลกร้าว”

การศึกษาที่พีพิมพ์ในวารสาร World Neurosurgery เมื่อปี 2018 พบว่า การเจาะกะโหลกในสมัยอินคามีอัตราการประสบความสำเร็จถึง 80%

มหัศจรรย์เทคโนโลยีที่มาก่อนกาล หลักฐานศัลยกรรมกะโหลกชาวเปรูโบราณ

นอกจากแผ่นโลหะแล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังระบุว่ากะโหลกนักรบเปรูชิ้นนี้ยังผ่านกระบวนการยืดกะโหลก (Elongation) ซึ่งเป็นรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงร่างกายในสมัยโบราณที่นิยมในยุโรปตะวันออก อเมริกา ตะวันออกไกล และแอฟริกา รวมทั้งในเปรู

การยืดกะโหลกให้ยาวออกไปทางด้านหลังต้องทำตั้งแต่ยังเด็กๆ โดยจะใช้เปลือกไม้หรือไม้ 2 ชิ้นมาขนาบด้านข้างแล้วใช้ผ่าพันรอบศีรษะเพื่อบีบกะโหลกเป็นระยะเวลาหนึ่ง

การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Current Anthropology เมื่อปี 2018 ระบุว่า การยืดกะโหลกถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะที่สูงส่งในสังคม ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าเป็นการแสดงถึงความสวยงามและสติปัญญาด้วย

การขุดค้นทางโบราณคดีที่ตามมาพบว่า สตรีชาวเปรูที่มีกะโหลกศีรษะยาวมีโอกาสได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะน้อยกว่าสตรีที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการนี้

ทั้งนี้ เดิมกระโหลกของนักรบชาวเปรูรายนี้ถูกเก็บอยู่ในคอลเลคชันของสะสมส่วนตัวของพิพิธภัณฑ์ SKELETONS: Museum of Osteology และเพิ่งถูกนำมาจัดแสดงต่อสาธารณชนเมื่อปี 2020 เนื่องจากประชาชนให้ความสนใจกันมากหลังมีรายงานข่าวการค้นพบกะโหลกชิ้นนี้

ภาพ: Facebook/Museum of Osteology