posttoday

มีอะไรที่สำคัญกว่าเพชร? เหตุผลที่ซาอุฯ ต้องคืนดีกับไทย

26 มกราคม 2565

วิเคราะห์เหตุผลและผลของการฟื้นคืนสัมพันธ์ครั้งนี้ จากทัศนะเชิงข่าวต่างประเทศและความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของทั้งสองฝ่าย และประเทศอื่นๆ รอบๆ ไทยกับซาอุดีอาระเบีย

ถึงเวลานี้คงไม่ต้องสาธยายกันแล้วว่า "กรณีเพชรซาอุฯ" คืออะไรและสำคัญอย่างไร เพราะคนไทยจำนวนมากคงรู้กันดี เพียงแต่มันมีปริศนาคาใจมานานสามทศวรรษแล้วว่า "ตกลงมันไปอยู่ในมือใคร?" ท่ามกลางกระแสข่าวลือที่ไม่เคยจบสิ้น แม้กระทั่งในวันที่ซาอุดีอาระเบียและประเทศไทยตัดสินใจรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตเต็มรูปแบบอีกครั้ง

ทำไมถึงต้องรอนานถึง 30 กว่าปีกว่าจะคืนดี? ที่จริงแล้วไทยไม่เคยรอให้ซาอุดีอาระเบียคืนดีเอง แต่เป็นพยายามหลายครั้งหลายหนที่จะสะสางเรื่องคาใจนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยคนแล้วคนเล่าของรัฐบาลสมัยแล้วสมัยเล่าเดินทางไปซาอุดีอาระเบียเพื่อหารือด้วยตนเองในประเด็นต่างๆ หลังจากความสัมพันธ์ถูกลดระดับลงเหลือแค่เพียงอุปทูต

ขณะที่ซาอุฯ เองก็มีความเปลี่ยนแปลงด้านฝ่ายบริหารหลายครั้งไม่ต่างจากไทย ทั้งระดับสมเด็จพระราชาธิบดี (ซาอุดีอาระเบียปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กษัตริย์มีสถานะประหนึ่งนายกรัฐมนตรี) และระดับมกุฏราชกุมาร (ซึ่งมีสถานะเทียบรองนายกรัฐมนตรี หรือบางครั้งเป็นเสมือนผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)

แต่การเปลี่ยนตัวระดับนำในซาอุฯ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เพราะประมุขและผู้นำฝ่ายบริหารล้วนแต่คิดเหมือนกันๆ และโดยตามธรรมเนียมในการแต่งตั้งระดับผู้นำจะต้องมีวัยใกล้กันๆ คืออาวุโสสูง/ผู้สูงวัยเกือบทั้งสิ้น จนซาอุดีอาระเบียถูกมองว่าเป็น "สังคมที่ปกครองโดยผู้สูงวัย" คิดอะไรย่ำอยู่กับที่

จนกระทั่งซาอุดีอาระเบียเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน ทรงแต่งตั้ง มุฮัมมัด บิน ซัลมาน พระโอรสขึ้นเป็นมกุฏราชกุมาร และทรงถอดพระญาติคือมุฮัมมัด บิน นาเยฟจากตำแหน่ง การถอดและตั้งมกุฏราชกุมารในซาอุฯ เกิดขึ้นประปราย มีความเกีย่วข้องกับเรื่องวัยและอายุของผู้ดำรงตำแหน่งมากกว่าเรื่องการเมือง (อย่างที่กล่าวไปว่าซาอุฯ ปกครองโดยกลุ่มเชื้อพระวงศ์อาวุโสมาก) แต่กรณีของตั้ง มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ทรงขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารด้วยเหตุผลทางการเมืองมากกว่า และที่สำคัญมีพระชนมายุน้อยมากเพียง 37 พรรษา (หรือ 32 พรรษาคราวที่รับตำแหน่ง)

มุฮัมมัด บิน ซัลมานทรงมีอิทธิพลสูงมากและว่ากันว่าทรงมีอิทธิพลที่แท้จริงในประเทศมากกว่าพระราชบิดาเสียอีก (อ่านเพิ่มเติมจากเรื่อง "ผู้ยิ่งใหญ่คับฟ้าแห่งซาอุฯ มกุฏราชกุมาร 'โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน') ทรงใช้อำนาจที่แข็งกร้าวในการกวาดล้างผู้ที่อาจเป็นเสี้ยนหนามอำนาจ จับกุมตัวบุคคลสำคัญของประเทศมากมาย และปรับโครงสร้างการบริหารประเทศเสียใหม่

แต่จุดเด่นของพระองค์คือการผลักดันซาอุฯ สู่ทิศทางใหม่ในอนาคต จากเดิมที่พึ่งพาน้ำมันเป็นหลัก หันมากระจายการลงทุนที่หลากหลายขึ้น เพราะอนาคตของน้ำมันไม่แน่นอนขึ้นทุกวัน หลังจากทราบกันแล้วว่าน้ำมันคือตัวการของภาวะโลกร้อนที่เลวร้ายลงทุกที

มุฮัมมัด บิน ซัลมานเคยใช้แทคติกเพื่อดึงน้ำมันให้ถูกลงเพื่อบีบให้ผู้ผลิตรายเล็กล้มละลาย แต่น้ำมันก็ยังผันผวนได้ง่าย และถึงแม้น้ำมันยังทำรายได้สูงและเป็นรายได้หลักของประเทศ แต่อนาคตมันไม่แน่ไม่นอน เมื่อถึงวันที่น้ำมันหมดอนาคตแล้วซาอุดีอาระเบียอาจจะกลายเป็นประเทศจนๆ ในพริบตาถ้าหมดน้ำมันหรือน้ำมันหมดความสำคัญ เช่นเดียวกับ นาอูรู ปรเะทศเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ร่ำรวยด้วยฟอสเฟตและขุดขายจนมั่งคั่ง ทำให้ประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่พอฟอสเฟตหมดสิ้น นาอูรูกลายเป็นประเทศยาจกในทันที

นี่คือที่มาของ Vision 2030 นโยบายสำคัญของมุฮัมมัด บิน ซัลมาน หัวใจสำคัญคือการเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจพึ่งพาน้ำมันมาเป็นเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น ด้านพลังงานหันมาลงทุนพลังงานหมุนเวียน พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง และเทคโนโลยีชีวภาพ โดยเฉพาะการตัดแต่งพันธุกรรม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับอีกหนึ่งเป้าหมายที่องค์ชายทรงตั้งไว้คือการทำให้ซาอุฯ มีความมั่นคงด้านอาหาร ทั้งการพลิกแผ่นดินทะเลทรายสร้างไร่นาสีเขียว และการทุ่มลงทุนเพื่อรับประกันว่าซาอุฯ จะมีแหล่งอาหารที่มั่นคงในต่างประเทศ

นักลงทุนซาอุฯ ได้รับการสนับสนุนให้ไปลงทุนในประเทศต่างๆ เพื่อกุมความมั่นคงด้านอาหารโดยรัฐบาลเสนอรายชื่อ 10 ประเทศที่ควรลงทุนในกลุ่มอาหาร/พืชอาหารนั้นๆ กับคนที่ยังคิดว่าน้ำมันคือทุกสิ่งทุกอย่าง อาจคิดว่ามันไม่จำเป็น จนกระทั่งกระแสต่อต้านน้ำมันเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ในเวทีด้านสิ่งแวดล้อมโลก ตามด้วยการลดการใช้น้ำมันของประเทศใหญ่ๆ คนที่เคยคิดว่านโยบายอาหารของซาอุฯ ไม่จำเป็นอาจต้องเปลี่ยนความคิด เพราะเห็นแล้วว่าน้ำมันอาจจะเป็นแหล่งเงินในตอนนี้ แต่ในวันข้างหน้า "ข้าวปลาเป็นของจริงมากกว่า"

ในช่วงสิบปีกว่ามานี้ ซาอุฯ รุกคืบเรื่องการเสาะหา "ที่ดิน" เพื่อใช้เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวเพื่อป้อนประเทศตัวเอง เป้าหมายมีทั้งในแอฟริกา (เช่นประเทศมาลีและเซเนกัล) ในตะวันออกกลางด้วยกัน (เช่นในอิรักแถบแม่น้ำไทกริสยูเฟรติส) และในแถบทะเลดำที่อุดมสมบูรณ์ (ประมาณ 10 ประเทศบริเวณนั้น) บริษัทจากซาอุฯ จะไปดีลกับเจ้าของที่ดินในประเทศเหล่านี้ เพื่อให้เพาะปลูกข้าวหรืออาหารจำเป็นเพื่อป้อนซาอุฯ โดยเฉพาะ หรือ Contract farming

การลงทุนเหล่านี้มีมาก่อน Vision 2030 แต่มันเป็นเหมือนสัญชาติญาณของซาอุฯ ที่ต้องให้ตัวเองมั่นใจว่าจะมีข้าว/อาหารเพียงพอดำเนินการมาก่อนหน้านั้นหลายปีแล้ว และอันที่จริงไทยเคยเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการกว้านซื้อที่ดินเพื่อทำ Contract farming เพื่อผลิตข้าวให้ซาอุฯ มาแล้ว ในสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (กล่าวกันว่าเป็นการริเริ่มของนายกรัฐมนตรียุคนั้น) แต่โครงการนี้ถูกต่อต้านอย่างหนัก นี่คือตัวอย่างหนึ่งในการรุกคืบเรื่องนี้ของซาอุฯ และเกือบจะทำให้ไทยขยับเข้าใกล้ซาอุฯเข้ามาอีกนิดหนึ่งในยุคสมัยหนึ่ง

หลังจากมี Vision 2030 ของมกุฏราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ประเทศแรกๆ ที่ทรงติดต่อเพื่อผลักดันความมั่นคงด้านอาหารคืออินเดียเมื่อปี 2019 โดยเป็นการช่วยกันพึ่งพา ฝ่ายหนึ่งพึ่งพาแหล่งข้าว อีกฝ่ายหนึ่งพึ่งพาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซาอุฯ นั้นยกยออินเดียว่าเป็นแหล่งข้าว เนื้อแดง น้ำตาล เครื่องเทศ และนมผงที่ดีที่สุดสำหรับซาอุฯ (อาหารเหล่านี้ไทยก็สามารถส่งออกได้ดี) ในส่วนของข้าวนั้นซาอุฯ เน้นข้าวบาสมตีถึง 70% (ข้าวเมล็ดยาว) และ 70% นี้มาจากอินเดีย ส่วนข้าวเจ้า 10% เคยมาจากไทย

มีอะไรที่สำคัญกว่าเพชร? เหตุผลที่ซาอุฯ ต้องคืนดีกับไทย

น่าสนใจว่าการฟื้นสัมพันธ์กับไทยในครั้งนี้ หนึ่งในเหตุผลของซาอุฯ จะเกี่ยวข้องการการเสาะหาดินแดนที่จะช่วยรับประกันความมั่นคงด้านอาหารหรือไม่? แม้จะยังไม่มีคำตอบชัด แต่จนถึงทุกวันนี้ มีเพียงอินเดียเท่านั้นที่ซาอุฯ ประกาศกระชับความมั่นคงด้านอาหารกับอินเดียในระดับรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้เพราะข้าวที่ซาอุฯ นำเข้าส่วนใหญ่มาจากอินเดีย รองลงมาคือปากีสถาน (แหล่งข้าวบาสมตีเช่นกัน) อันดับ 3 คือสหรัฐ และอันดับที่ 4 คือไทย ในบรรดาทั้ง 4 ประเทศนี้การนำเข้าข้าวจาก 3 อันดับแรกเติบโตสูงสุด (สถิติจากปี 2019)

Vision 2030 ยังมีโครงการก่อสร้างระดับเมกะโปรเจกต์ที่สำคัญคือเมือง Neom ในแคว้นตะบูกริมทะเเลแดงใกล้กับจอร์แดน โดยตั้งเป้าให้เป็นสมาร์ทซิตี้ขนาดมหึมามีพื้นที่ 26,500 ตร.กม. ไปตามแนวริมทะเลแดงยาว 460 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนประมาณ 500,000 ล้านดอลลาร์ มันเป็นเมืองแห่ง Vision 2030 ที่แท้จริง เพราะจะเน้นพลังงานทางเลือก ไม่ใช่น้ำมัน มีเมืองย่อยหลายเมือง เช่น The Line เป็นเมืองแนวยาวความยาว 170 กม. ที่จะไม่มีรถยนต์เลย ดังนั้นมันคือการพลิกซาอุฯ ไปสู่อนาคตที่เลิกพึ่งพาน้ำมันอย่างแท้จริง

การฟื้นความสัมพันธ์ครั้งนี้จะมีผลดีต่อแรงงานจากไทยโดยตรง เพราะด้วยโครงการ Neom จะทำให้ซาอุฯ ต้องการแรงงานมีฝีมือจำนวนมหาศาล ซึ่งไทยขึ้นชื่อในเรื่องนี้และในช่วงที่ยังร้าวฉานกันนั้นซาอุฯ ก็ยังอุตส่าห์จ้างแรงงานไทยถึง 10,000 คน ซึ่งถือว่ามากพอสมควร แต่มันจะดีหากตัวเลขกลับไปเท่ากับช่วงก่อนกรณีเพชรซาอุและสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกที่ "ว่ากันว่า" สูงถึง 200,000 คน

มีอะไรที่สำคัญกว่าเพชร? เหตุผลที่ซาอุฯ ต้องคืนดีกับไทย

ถามว่าหลังจากนี้เป็นไปได้ไหมที่ตัวเลขจะกลับไปเท่าเดิม? ตอบว่าเป็นไปได้ เพราะโครงการ Neom แห่งเดียว เพิ่งจะมีการประมูลสัมปทานโครงการสร้างที่พักให้คนงานถึง 100,000 คนเมื่อปีที่แล้ว (โดยเมืองย่อยจะแบ่งที่พักอาศัยคนงานไซต์ละ 10,000 คน) หมายความว่าการสร้างเมืองแห่งนี้ต้องใช้แรงงานประมาณนั้น และแรงงานไทยหลายหมื่นอาจมีโอกาสได้ทำมาหากินที่นี่ แน่นอนมันจะช่วยนำเงินเข้าไทยได้ปีละอาจจะนับพันล้านดอลลาร์ (จากที่ไทยต้องเสียโอกาสไปถึง 200,000 ล้านดอลลาร์)

อีกหนึ่งโอกาสของไทยคือการท่องเที่ยว หลังจากกรณีเพชรซาอุไทยต้องเสียโอกาสจากการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากซาอุฯ อย่างเต็มที่มานานถึง 30 กว่าปี ท่ามกลางมาตรการห้ามกันซึ่งๆ หน้าจากทางการซาอุฯ ไม่ให้ประชาชนเดินทางมายังไทย ไปจนถึงการเตือนไม่ให้มา และหากจะมาก็มีความยุ่งยากเกินไป ทำให้ไทยเสียรายได้มหาศาลจากนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงจากประเทศเศรษฐีน้ำมันแห่งนี้

แต่หลังจากนี้ การเดินทางระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศจะสะดวกเช่นเดิม เพราะหลังการพบปะระหว่างมกุฏราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมานกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา สายการบินซาอุดิอาระเบียก็ประกาศว่าเที่ยวบินสู่ประเทศไทยจะกลับมาให้บริการในเดือนพฤษภาคม

มีข้อพึงสังเกตว่าแม้ไทยจะดูเหมือนเป็นฝ่ายพยายามคืนดีมากกว่า แต่ซาอุฯ ก็พยายามจะสะสางเรื่องคาใจเหมือนกัน ไม่ใช่เพราะเสียดายการลงทุนมหาศาลที่ต่างเสียกันไป แต่เพราะมีเงื่อนไขทางการเมืองด้วย เช่น ตามทัศนะของแฟรงค์ จี. แอนเดอร์สัน (Frank G. Anderson) คอลัมนิสต์ของสำนักข่าว UPI ตั้งข้อสังเกตไว้ตั้งแต่ปี 2009 ว่าในเวลานั้นซาอุฯ กับไทยดูเหมือนจะเลิกเย็นชากันเล็กน้อย เชื่อว่าเพราะการชิงดีชิงเด่นระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน โดยที่อิหร่านเริ่มมีอิทธิพลต่อไทยมากขึ้น ขณะที่ซาอุฯ เสียโอกาสเข้าถึงไทยเพราะกรณีเพชร

มีอะไรที่สำคัญกว่าเพชร? เหตุผลที่ซาอุฯ ต้องคืนดีกับไทย

ผ่านมา 10 กว่าปี ทฤษฎีนี้ก็อ่อนพลังลงไปตามกาลเวลา แต่ตอนนี้ซาอุฯ ต้องการจะจัดการกับอิทธิพลอิหร่านมากกว่าช่วงเวลาใด เพราะอิหร่านคือแบ็คอัพให้กับกองกำลังฮูษีในเยเมน กองกำลังนี้กลายเป็นนักรบสงครามตัวแทนของอิหร่านในการโจมตีซาอุฯ อยู่เนืองๆ ซึ่งก็พอเข้าใจได้ เพราะผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีส่งกำลังซาอุฯ ไปแทรกแซงสถานการณ์ในเยเมนก็คือมกุฏราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมานนั่นเอง

แม้ไทยคงไม่มีบทบาทอะไรอีกแล้วในมิติการเมืองระหว่างอิหร่าน-ซาอุฯ แต่ยังมีผู้กังวลว่าการคืนดีระหว่างไทยกับซาอุฯ นั้นจะทำให้ไทยเป็นเป้าการก่อการร้าย (จากกลุ่มฮูษี) หรือไม่? ขอตอบว่าไม่ เพราะฮูษีไม่ใช่กลุ่มก่อการร้ายอีกต่อไปและมีปฏิบัติการแค่ในซาอุฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งเป็นคู่กรณีเท่านั้น (แต่สหรัฐพยายามจะกำหนดให้เป็นกลุ่มก่อการร้ายอีกครั้ง)

สำหรับบางคนในเมืองไทยที่ยังกังขากับกรณีเพชรซาอุฯ ก็คงจะห้ามความกังขาไม่ได้ แต่ดูหมือนว่าซาอุฯ ที่เป็นโจทก์กับไทยจะ "มูฟออน" ไปแล้ว โดยไม่ต้องถามว่ารัฐบาลไทยอยากจะมูฟออนหรือไม่ เพราะพยายามมาหลายคนจนสำเร็จเสียที (ซึ่งไทยจะทำสำเร็จไม่ได้ถ้าไม่มีความเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนในซาอุฯ)

ดังนั้น หากบางคนยังสงสัยเรื่องเพชรซาอุที่มีมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์ก็คงต้องสงสัยกันต่อไป ขณะที่รัฐบาลสองประเทศและพลเมืองสองชาติที่เตรียมรับทรัพย์ พร้อมเดินหน้าเพื่อโกยความมั่งคั่งร่วมกันมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในอนาคตอีกไม่นาน

บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by various sources / AFP