posttoday

ผู้ยิ่งใหญ่คับฟ้าแห่งซาอุฯ มกุฏราชกุมาร 'โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน'

25 มกราคม 2565

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นทั้งมกุฏราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหมของซาอุดีอาระเบีย และยังได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “ผู้ปกครองตัวจริง” ของประเทศร่ำรวยน้ำมันแห่งนี้

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ อัล ซาอูด หรือที่สื่อตะวันตกมักเรียกว่า MBS เป็นพระโอรสองค์ที่ 7 ของเจ้าชายซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ กษัตริย์องค์ปัจจุบันของซาอุดีอาระเบีย และเป็นบุตรองค์โตสุดของพระชายาคนที่ 3

หลังจบการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยคิงซาอูดซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานทรงใช้เวลาหลายปีทำงานในภาคเอกชนก่อนจะได้รับความไว้วางใจให้เป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของพระบิดา และยังทรงเป็นที่ปรึกษาของคณะผู้เชี่ยวชาญซึ่งทำงานให้กับคณะรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย

ปลายปี 2009 ขณะพระชนมายุ 24 พรรษา ทรงก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองด้วยตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษให้กับกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ พระบิดาซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้ปกครองจังหวัดริยาด

ในช่วงนี้เองที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานมีตำแหน่งหน้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งเลขาธิการสภาการแข่งขันของริยาด ที่ปรึกษาพิเศษให้ประธานบอร์ดมูลนิธิกษัตริย์อับดุลอาซิซเพื่อการวิจัยและจดหมายเหตุ และสมาชิกบอร์ดผู้ดูแลทรัพย์สินสมาคมอัลบีร์ในจังหวัดริยาด ทั้งยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีในปี 2014 ตามด้วยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เลขาธิการราชสำนัก

ผลงานแรกๆ ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมคือ การส่งกำลังทหารเข้าไปในเยเมนร่วมกับชาติอาหรับอื่น ๆ เมื่อ มี.ค. 2015 หลังจากที่กลุ่มกบฏฮูษีเข้ายึดกรุงซานาของเยเมน ขับไล่ผู้นำประเทศให้หนีไปต่างแดน

แต่การสู้รบที่ยืดเยื้อทำให้ชาวเยเมนเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารรุนแรงจากการที่ฝ่ายพันธมิตรปิดล้อมพื้นที่ยึดครองของกลุ่มกบฏและโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่อง ทำให้ซาอุดีอาระเบียและชาติพันธมิตรถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

เดือน เม.ย. 2015 กษัตริย์ซัลมานทรงแต่งตั้งให้เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นมกุฎราชกุมารลำดับที่ 2 ต่อมาวันที่ 21 มิ.ย. 2017 กษัตริย์ทรงเลื่อนเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ขึ้นมาเป็นมกุฎราชกุมารแทนที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ หลานชาย

การแต่งตั้งครั้งนี้ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ทำให้เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานผงาดขึ้นอย่างไม่มีใครหยุดยั้งได้

หลังขึ้นเป็นรัชทายาท เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานทรงเดินหน้าปฏิรูปซาอุดีอาระเบียเพื่อปรับภาพลักษณ์ประเทศ โดยเฉพาะการให้สิทธิเสรีภาพกับผู้หญิงมากขึ้น เช่น ยกเลิกข้อห้ามผู้หญิงขับรถยนต์ อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าสนามกีฬา และทำงานในภาครัฐบาล จนได้รับเสียงชื่นชมจากทั้งในและต่างประเทศ

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญภายใต้การนำของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานคือ แผนปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ “วิสัยทัศน์ 2030” ที่ตั้งเป้าลดการพึ่งพาน้ำมันด้วยการเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในภาคธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน รวมทั้งเทคโนโลยีและการท่องเที่ยว

ทว่าที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนี้คือ การกวาดล้างผู้เห็นต่างและการแสดงความเห็นโดยเสรี กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเผยว่า การจับกุมนักสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นภายใต้การบริหารของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทั้งยังมีรายงานว่าเจ้าชายทรงตั้ง Tiger Squad หรือทีมสังหารที่มีหน้าที่กำจัดคนที่วิพากษ์วิจารณ์ซาอุดีอาระเบียทั้งในและนอกประเทศ

ผู้ยิ่งใหญ่คับฟ้าแห่งซาอุฯ มกุฏราชกุมาร 'โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน'

สำนักงานผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐ (DNI) เผยแพร่รายงานการสวบสวนการเสียชีวิตของ ญะมาล คาชุกญี นักข่าวชาวซาอุดีอาระเบียของสำนักข่าววอชิงตันโพสต์ว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานทรงอนุมัติให้หน่วยปฏิบัติการพิเศษจับตัวและสังหารนักข่าวคนดังกล่าวในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียในกรุงอิสตันบูลของตุรกีเมื่อปี 2018

คาชอกญีมักเขียนบทความวิจารณ์ราชวงศ์และรัฐบาลซาอุดีอาระเบียบ่อยครั้ง ทำให้เจ้าชายโมฮัมเหม็ดมองว่านักข่าวรายนี้เป็นภัยคุกคาม

รายงานระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2017 เจ้าชายโมฮัมเหม็ดทรงมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินพระทัยเกี่ยวกับกิจการทั้งหมดในซาอุดีอาระเบีย ทั้งยังควบคุมหน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยข่าวกรองด้วย จึงเป็นไปได้ยากที่ทีมสังหารทั้ง 15 คนจะลงมือโดยปราศจากการสั่งการจากมกุฎราชกุมาร

แม้เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานจะปฏิเสธ แต่กรณีนี้เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝั่งตะวันตกและทำให้ชื่อเสียงของพระองค์เสื่อมเสียไม่น้อยในระดับนานาชาติทั้งยังมีเสียงเรียกร้องให้ปลดพระองค์ออกจากตำแหน่งมกุฎราชกุมารด้วย

อีกหนึ่งคนที่ชาวโลกมองว่าถูกเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บัน ซัลมานกำจัดให้พ้นทางคือ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ หลานของกษัตริย์ซัลมาน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และอดีตมกุฎราชกุมารที่ถูกปลดก่อนที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานจะขยับขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารแทนเมื่อปี 2017

หลังถูกปลดเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ ถูกคุมตัวไว้ในวังที่ประทับจนกระทั่งถึงเดือน มี.ค. 2020 จากปากคำของบุคคลที่ได้รับการบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ 2 คน ระหว่างถูกคุมตัวเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟถูกคุมขังอย่างโดดเดี่ยว ไม่ให้หลับนอน และถูกแขวนข้อเท้าให้ศีรษะห้อยลงมา

จนถึงขณะนี้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียยังไม่ตั้งข้อหาเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ หรืออธิบายสาเหตุการจับกุมใดๆ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญซาอุดีอาระเบียส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานคงจะกลัวว่าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟจะขวางทางการขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปของพระองค์จึงต้องทรงตัดไฟแต่ต้นลม

นอกจากนี้ ยังควบคุมตัวบรรดาเจ้าชายและนักธุรกิจราว 350 คนไว้ในโรงแรมริตซ์ คาร์ลตัน โดยรัฐบาลระบุว่าเป็นการปราบปรามคอร์รัปชัน แต่คนที่มีท่าทีคัดค้านอย่างชัดเจน รวมทั้งหลานชายใกล้ชิดของกษัตริย์ซัลมานกลับไม่ถูกจับ ทำให้เกิดคำถามถึงจุดประสงค์ของการจับกุมที่แท้จริง

ทั้งนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเหตุใดกษัตริย์ซัลมานจึงทรงโปรดเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานจนถึงขั้นให้เป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ตั้งแต่แรก และสถาปนาขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารแทนที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ ที่เป็นที่ชื่นชอบของทั้งสหรัฐและสหราชอาณาจักรจากบทบาทหน้าที่ในการเป็นหัวหน้าทีมต่อต้านการก่อการร้ายในยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 

ผู้ยิ่งใหญ่คับฟ้าแห่งซาอุฯ มกุฏราชกุมาร 'โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน'

ส่วนประเด็นที่ว่าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานมีอำนาจเหนือกษัตริย์หรือไม่นั้น โดยหลักแล้วขณะนี้เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานทรงจัดการกิจการของประเทศจนกว่ากษัตริย์ซัลมานจะกลับมา โดยขณะนี้กษัตริย์ซัลมานทรงหายหน้าหายตาไปเกือบ 2 ปีแล้ว มกุฎราชกุมารจึงกุมอำนาจอยู่ในมือ

The New York Times ระบุว่า กษัตริย์ซัลมานยังคงเป็นประมุขแห่งรัฐ แต่ก็ชัดเจนว่าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานทรงเป็นผู้ปกครองโดยตรง เป็นผู้ดูแลซาอุดีอาระเบีย และเป็นซีอีโอของประเทศ

การที่กษัตริย์ซัลมานไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของพระองค์ในวัย 86 พรรษา เนื่องจากพระองค์ประชวรด้วยโรคสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองซึ่งอาการไม่รุนแรง

อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองตะวันตกเผยว่า “ในช่วงหลายปีนี้เรื่องนี้ไม่ใช่ปัจจัยหลัก และไม่เกี่ยวกับโควิด แต่ตอนนี้มันกลายเป็นปัญหาแล้ว มันเป็นข้ออ้างให้ MBS เขี่ยพ่อให้พ้นทาง เขาคือคนที่ปกครองซาอุดีอาระเบีย ไม่ใช่พ่อของเขา”

ส่วนบรรดาประเทศในแถบอาหรับ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ บาห์เรน คูเวต และโอมาน ต่างพากันตั้งข้อสงสัยว่ากษัตริย์ซัลมานทรงเลือกออกไปพักผ่อนด้วยการตัดสินใจของพระองค์เอง หรือเป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุมของพระองค์

Photo by Bandar AL-JALOUD / Saudi Royal Palace / AFP