posttoday

ท้าวเวสสุวรรณ ให้หวยรวยทรัพย์ จริงหรือ?

13 มกราคม 2565

สำรวจแนวคิดเรื่อง "ท้าวเวสสุวรรณ" จากความเชื่อในไทยและต่างประเทศ อะไรใหม่ อะไรเดิม อะไรปลอมแปลง?

คติเรื่อง "ท้าวเวสสุวรรณ" ตอนนี้แตกแขนงเป็นความเชื่อว่าท่านให้โชคลาภ ใบ้หวย ช่วยปลดทรัพย์ กลายเป็น "ลัทธิอุปโลกน์เจ้าพ่อ ขอให้รวย" ที่ดาษดื่นในสังคม เช่น กระแสก่อนหน้านี้ที่แรงมากแต่ตลาดวายไปอย่งรวดเร็วคือกรณีไอ้ไข่

ท้าวเวสสุวรรณนี้ที่จริงต้องเรียกว่า "ท้าวเวสวัณ" ตามที่ปรากฏในพระบาลีคือพระไตรปิฎกและอรรถกถาปกรณ์ต่างๆ คำว่า "เวสสุวรรณ" เป็นการลากเข้าความสะดวกปากของคนไทย ซึ่งไม่ได้ลากเสียงให้เรียกง่ายตามจริตตนเท่านั้น แต่ยังสร้างความเชื่อใหม่ๆ เรื่องท้าวเวสวัณให้สะดวกกับนิสัยของคนไทยด้วย นั่นคือเรื่องตั้งเจ้าพ่อเพื่อขอให้รวย

ดังที่บางวัดตั้งฉายานามให้ท่านเสียใหม่ว่า “ท้าวปลดหนี้”

ว่ากันตามเนื้อผ้าท้าวเวสวัณในพระไตรปิฎกเป็นหนึ่งในสี่จตุโลกบาลหรือจาตุมหาราช คือหัวหน้าเทพในระดับ "มหาราช" ชั้นจาตุมหาราชิกาทั้ง 4 องค์ ที่มีหน้าที่รักษาทิศทั้ง 4 และควบคุมกำลังพลเทพ อสูร คนธรรพ์ นาค (ในภาษาจีนเรียกว่าแปดเทพอสูรมังกรฟ้า คืออมนุษย์ทั้ง 8 เหล่าตามคติพุทธศาสนา)

ท้าวเวสวัณ ประจำรักษาโลกด้านทิศเหนือ ทำหน้าที่ปกครองยักษ์ หากใครเคยได้ยินพิธีกรรมที่เรียกว่า "สวดภาณยักษ์" มาก่อน ขอให้ทราบว่าผู้ที่กราบทูลพระพุทธเจ้าให้สวดคือท้าวเวสวัณนั่นเอง โดยกราบทูลว่ายักษ์บางเหล่าก็เป็นยักษ์พาล ไม่พอใจที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รักษาศีล บางเหล่าก็เป็นยักษ์ดีมีคุณธรรม มีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พวกยักษ์พาลนี้ท้าวเวสวัณท่านเกรงว่าจะมาก่อกวนผู้นับถือพุทธศาสนา

ดังนั้น ท้าวเวสวัณจึงกราบทูลว่า "ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงเรียนการรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะเพื่อให้ยักษ์พวกนั้นเลื่อมใส คุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของอุบาสกอุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณีทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า"

"การรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะ" ที่ว่านี้คือ "อาฏานาฏิยสูตร" นั่นเองซึ่งท้าวเวสวัณถวายแก่พระพุทธเจ้าเพื่อให้พุทธบริษัทได้เรียนไว้ ไว้สวดสาธยาย หากพบกับอมนุษย์ที่เป็นลูกน้องท้าวเวสสวัณคือพวกยักษ์ที่เป็นอันธพาลจะได้ใช้พระสูตรนี้สวดปราบ จึงเรียกกันว่า "ภาณยักษ์"

โดยคำว่า "ภาณ" หมายถึง หมวดหมู่หนึ่ง คือหมวดหมู่การเรียบเรียงบทสวด หมวดทั้งหมดเรียกว่า "ภาณวาร" คือกลุ่มบทสวดมนต์หรือพระสูตรที่เรียบเรียงไว้สวดในงานพระราชพิธีหรืองานมงคลพิธีต่างๆ

ถ้าตามพระไตรปิฎกนี้จะเห็นว่าท้าวเวสวัณมีหน้าที่ควบคุมพวกยักษ์ ซึ่งมีทั้งที่ดีและไม่ดี บางครั้งพวกอันธพาลยักษ์ไปทำเกเรกับพุทธบริษัทรอดหูรอดตาท่าน ท่านจึงสอน "ภาณยักษ์" เอาไว้ปราบพวกมัน โดยอ้างชื่อของเจ้านายยักษ์คือท้าวเวสวัณนั่นเอง หากได้ยินชื่อหัวหน้าแล้วยังซ่าก็เห็นจะเจอดี

แต่ว่ากันตามหลักศาสนวิทยา (การศึกษาที่มาที่ไปและความเชื่อทางศาสนา) ท้าวเวสวัณในศาสนาพุทธ (ในพุทธศาสนามหายานเรียกว่าไวศฺรวณหรือพระไพศรพณ์) เป็นองค์เดียวกับเทพกุเวร/กุเพรในศาสนาพระเวทคือศานาฮินดูในปัจจุบัน

ท้าวกุเวรเป็นกึ่งยักษ์กึ่งเทพ เป็น "ทิกปาล" คือผู้รักษาทิศเหนือ และเป็น "โลกปาล" คือผู้รักษาโลก ที่เรียกว่า "กุเวร" เพราะทรงมีรูปลักษณ์เป็นคนแคระ พุงพลุ้ย คำว่ากุเวรในภาษาสันสกฤตนั้นแปลว่า ผิดรูป หรือไม่สมส่วน

บ้างก็ว่ากุเวร/กุเพรมาจากรากศัพท์ว่า กุมพะ แปลว่า ปกปิด คำนี้ดูจะเข้ากับคำพรรณนาที่คัมภีรณ์ศตปถะ พราหมณะ ในคัมภร์หมวดอาถรรพเวทเรียกท่านว่าเป็นเจ้าแห่งโจร และอาชญากร เป็น "นายผี" (ภูเตศ) เจ้าแห่งรากษสหรืออสูรกินเนื้อ (รากษัสอธิปติ) เป็นเจ้าแห่งยักษ์ (ยักษปติ)

ศาสนาพระเวทนั้นมีวิวัฒนาการต่อเนื่อง ดังนั้นเทพเจ้าเคยมีหน้าที่หนึ่งก็อาจไปรับอีกหน้าที่หนึ่งได้เมื่อเวลาผ่านไป อย่างท้าวกุเวรเคยเป็นเจ้าแห่งโจร ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์กำหนดใหม่ให้ท่านเป็นเทพผู้อุปถัมภ์พ่อค้าวาณิชย์ ในคัมภีร์วิษณุธรรโมตตระ ปุราณะ ยกให้ท่านเป็นเทพแห่ง "อรรถะ" คือความมั่งคั่ง ทรัพย์ และเกียรติยศ ดังมีฉายานามของท่านอีกอย่างว่า "ธนาธิปติ" (เจ้าแห่งความมั่งคั่ง) และ "ธนทะ" (ผู้มอบความมั่งคั่ง)

ดูเผินๆ อาจจะงงว่าเหตุใดเทพแห่งยักษ์ร้าย ผีร้าย เจ้าแห่งโจรและคนชั่ว กลายเป็นเทพแห่งความมั่งคั่งได้อย่างไร? อาจเป็นเพราะเดิมนั้นความมั่งคั่งซุกซ่อนเอาไว้ (ดังรากศัพท์ความหมายของชื่อกุเพร) อีกทั้งโจรและผีสางบางตนรู้ดีว่าทรัพย์ถูกเก็บซ่อนไว้ที่ใด บ้างอาจจะถูกสาปให้เฝ้าทรัพย์ หรือหวงทรัพย์จนตัวตายกลายเป็นผีเฝ้าทรัพย์ ดังนั้นผู้เป็นนายแห่งผี รากษส ยักษ์ และโจรย่อมต้องรู้ดีว่าทรัพย์อยู่ที่ไหนและได้มาอย่างไร

ถามว่าทำไมต้องไปซ่อนทรัพย์เอาไว้? เพราะสมัยก่อนนั้นไม่มีธนาคาร วิธีรักษาทรัพย์สมบัติคือเอาไปซุกในดินบ้างในซอกหลืบของเรือนบ้าง ดังนั้นการมีทรัพย์สินในสมัยก่อนต้องมาพร้อมกับการซุกซ่อน

นอกจากผีร้ายและยักษ์ที่เป็นบริวารของท้าวกุเวรแล้วยังมีอมนุษย์ที่เรียกว่า "คุหยกะ" แปลว่าพวกที่ซุกซ่อน ไม่ต้องถามว่าซ่อนอะไรถ้าไม่ใช่ความมั่งคั่ง

นอกจากท้าวกุเวรยังรวยทรัพย์แล้ว พระเทวีของพระองค์ยังมีชื่อเป็นมงคลด้วยคือ "ภัทรา" (โชคดี) และ "ฤทธิ" (สัมฤทธิ์ผล) ดังนั้น ผู้คนในศาสนาฮินดูจึงไหว้พลีท้าวกุเวรเพื่อช่วยบันดาลทรัพย์

โดยที่ท้าวกุเวรเป็นองค์เดียวกับท้าวเวสวัณ/พระไพศรพณ์กับในศาสนาพุทธ ในคติความเชื่อพุทธศาสนาในประเทศอื่นๆ เช่นญี่ปุ่น จึงถือว่าท้าวเวสวัณ/พระไพศรพณ์ช่วยเกื้อหนุนความมั่งคั่งด้วย

ในญี่ปุ่นท้าวเวสวัณ/พระไพศรพณ์ หรือที่เรียกที่นั่นว่า "บิฌะมงเท็ง" มาจากภาษาจีนว่า "ผีซาเหมินเทียน" คำว่า ผีซาเหมินและบิฌะมงนี่ก็เพี้ยนมาจากคำว่าไพศรพณ์นั่นเอง

พระสูตรมหายานมีสูตรหนึ่งชื่อว่า "ไวศฺรวณเทวราชปุณฺยสูตร" ญี่ปุ่นเรียกว่า "บิฌะมงเท็นโนโกโตะกุเกียว" พรรณนาคุณานิสงส์ของการบูชาบิฌะมงเท็งเอาไว้ว่ามี "โชคลาภ" อย่างไรบ้างและจะบูชาอย่างไรจึงจะได้ผล

ด้วยเหตุนี้กระมัง บิฌะมงเท็งจึงถือเป็นหนึ่งใน "เทพเจ้าแห่งโชคลาภทั้งเจ็ด (ชิจิฟุกุจิน)" ซึ่งมีทั้งเทพท้องถิ่นในศาสนาชินโตและเทพในศาสนาฮินดู/พุทธ การบูชาบิฌะมงเท็งในฐานะเทพแห่งความมั่งคั่งเริ่มต้นในยุคกลางของญี่ปุ่นโดยแต่แรกไม่ได้รวมอยู่ในกลุ่มเทพเจ้าแห่งโชคลาภทั้งเจ็ด แต่ในปลายยุคมุโรมะจิ (ราวปลายศศตวรรที่ 16) จึงถูกรวมเป็นหนึ่งในเทพเจ้าแห่งโชคลาภทั้งเจ็ด ในสมัยเอโดะ (ศตวรรษที่ 17 - 19) ชาวญี่ปุ่นเชื่อบูชาท่านแล้วจะให้คุณในด้านเล่นการแข่งขันหรือการพนัน

ปัจจุบันคนญี่ปุ่นก็ยังบูชาท่านในฐานะเทพเจ้าแห่งโชคลาภทั้งเจ็ดอยู่

แต่ก็เช่นเดียวกับในอินเดียที่ท้าวกุเวร/เวสวัณเดิมเป็นเทพแห่งโจรและคนร้ายต่อมาเป็นเทพของพ่อค้าและความมั่งคั่ง เดิมทีนั้นในญี่ปุ่นบูชาบิฌะมงเท็งในฐานะเทพแห่งสงคราม คตินี้น่าจะเริ่มตั้งสมัยองค์ชายโฌโตะกุ ผู้วางรากฐานพุทธศาสนาในญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 6 - 7

ในยุคนั้นชาวญี่ปุ่นบางกลุ่มยังตั้งตัวต่อต้านศาสนาพุทธและยั่งบั่นทอนเสถียรภาพของราชสำนัก องค์ชายโชโตกุจึงทำการปราบปราม เล่ากันว่าก่อนที่พระองค์จะทำศึกนั้นบิฌะมงเท็งมาปรากฏตัวบอกวิธีเอาชนะฝ่ายตรงข้าม เมื่อทรงทำศึกยังได้นิมิตแห่งชัยชนะจากท้าวจาตุมหาราชิกา (หนึ่งในนั้นคือบิฌะมงเท็ง) หลังจากชนะศึกปราบฝ่ายต่อต้านพุทธศาสนาแล้ว จึงทรงสร้างวัดขึ้นชื่อว่าวัดชิเท็นโนจิ (วัดท้าวจาตุมหาราชิกา) ยังมีอยู่ใน จ. โอซาก้าจนถึงทุกวันนี้ อีกวัดสร้างถวายบิฌะมงเท็งโดยเฉพาะ คือวัดโจโกซนชิจิ ใน จ. นาระ

ความเชื่อนี้น่าจะสืบทอดมาถึงยุคสงครามกลางเมืองศตวรรษที่ 16 หรือยุคเซ็งโงกุ เป็นยุคที่ขุนศึกในญี่ปุ่นตั้งตนเป็นเจ้าแคว้นห้ำหั่นกัน ต้องทำสงครามอยู่ตลอดเวลา จึงต้องมีเทพเอาไว้คอยยึดเหนี่ยวจิตใจ และบิฌะมงเท็งก็ดูเหมาะที่สุดเพราะรูปเคารพของบิฌะมงเท็งบางปางนั้นทำรูปสวมเกราะศึกและหมวกศึก มือถือตรีศูล เรียกว่าปาง "โทบัตสึ บิฌะมงเท็ง"

นอกจากจะมีหลายชื่อ ทั้ง เวสสุวรรณ เวสสวัณ ไวศฺรวณ ไพศรพณ์ กุเวร กุเพร บิฌะมงเท็ง ทะมงเท็ง ฯลฯ เทพองค์นี้ยังมีฟังก์ชั่นมากมาย ตั้งแต่เป็นเจ้าแห่งผี เจ้าแห่งยักษ์ เจ้าแห่งโจร เจ้าแห่งพ่อค้า เจ้าแห่งโภคทรัพย์ เจ้าแห่งสงคราม ฯลฯ

ดังนั้น ผู้ศรัทธาเชื่อถือจะบูชาท่านในฐานะใดก็ได้ จะได้ผลหรือไม่ก็แล้วแต่เมตตาของเทพเจ้าและบุญทำกรรมแต่งของแต่ละคน

สำหรับชาวพุทธที่ใฝ่ธรรมะนั้นแม้ไม่แสวงหาคุณจากท้าวเวสสุวรรณในด้านโชคลาภ ก็สามารถระลึกได้ว่าท่านเป็น "ไวศฺรวณ" (จีนและญี่ปุ่นแปลว่า ตัวเหวินเทียน/ทะมงเท็ง) แปลว่า ผู้สดับฟังมาก

หมายความว่าท่านเป็นผู้ฟังธรรมมาก เพราะคอยอารักขาพระพุทธเจ้าในยามทรงแสดงธรรม ทำให้ท่านย่อมมีความรู้เรื่องธรรมะมากไปด้วย

นี่คือคุณสมบัติที่ผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อการหลุดพ้นไม่ว่าชาติศาสนาใดปรารถนาที่สุด

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo - Kornkit Disthan / Ozan KOSE (AFP) / The Shimbi Shoin 1915