posttoday

ความทุกข์ของผู้หญิงในราชวงศ์ญี่ปุ่น ถูกกดดันจนมีปัญหาสุขภาพจิต

11 มกราคม 2565

ปัญหาสุขภาพจิตที่สมาชิกราชวงศ์เพศหญิงหลายคนต้องเผชิญจะเกิดขึ้นซ้ำรอยอีกหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไป

โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) ที่อดีตเจ้าหญิงมาโกะ แห่งราชวงศ์ญี่ปุ่น ได้รับการวินิจฉัยตอกย้ำถึงความกดดันอย่างหนักที่ผู้หญิงในราชวงศ์ญี่ปุ่นต้องเผชิญ นอกจากเจ้าหญิงมาโกะแล้วยังมีสมาชิกราชวงศ์อื่นๆ ที่เกิดปัญหาสุขภาพจิตด้วย

เกิดอะไรขึ้นกับมาโกะ

• มาโกะประกาศหมั้นกับเคอิ โคมุโระ แฟนหนุ่มสามัญชนตั้งแต่ปี 2017 ท่ามกลางความยินดีของชาวญี่ปุ่น แต่เมื่อมีรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ว่าแม่ของโคมุโระติดหนี้และมีปัญหาด้านการเงิน รวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของลูกชาย ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง และมีกระแสต่อต้านการแต่งงานของทั้งคู่

• สื่อญี่ปุ่นพากันขุดคุยชีวิตส่วนตัวของครอบครัวโคมุโระ ไม่ว่าจะเป็นข่าวว่าเขากำพร้าตั้งแต่เด็กเพราะพ่อฆ่าตัวตาย ไปจนถึงข่าวลือเกี่ยวกับการใช้ชีวิตราวเพลย์บอยท่ามกลางสาวๆ หลายคนรวมถึงการเที่ยวกลางคืนขณะศึกษาที่สหรัฐ บางคนยังอ้างว่าโคมุโระมีสายเลือดเกาหลี-ญี่ปุ่น ซึ่งเดิมทีคนญี่ปุ่นเชื้อสายเกาหลีถูกนำเข้ามาในญี่ปุ่นเพื่อเป็นแรงงานทาส

• งานแต่งงานของมาโกะและโคมุโระถูกเลื่อนออกมาเกือบ 3 ปี และมาโกะได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการป่วยด้วยภาวะเครียดอย่างรุนแรงหลังเกิดข่าวลืออื้อฉาวเหล่านี้

• สุดท้ายทั้งคู่ตัดสินใจจดทะเบียนสมรสเมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา โดยมาโกะสละฐานันดรศักดิ์ตามกฎมณเฑียรบาลของญี่ปุ่น และย้ายไปใช้ชีวิตสามัญชนกับสามีที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

• เจ้าชายฟูมิฮิโตะ อากิชิโนะ มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์ญี่ปุ่น ตรัสถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระธิดาของพระองค์ว่า "ข่าวจากสื่อเหล่านั้นมีหลายอย่างที่ถูกแต่งเติมขึ้นมา รวมถึงบทความที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตมีการแสดงความคิดเห็นต่างๆ นานา และบางส่วนก็ใช้คำพูดที่แย่มากจริงๆ คำพูดให้ร้ายเหล่านี้สร้างความเจ็บปวดให้ใครหลายคน และอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้เลย"

• เจ้าชายอากิชิโนะยังตรัสว่าสำนักพระราชวังญี่ปุ่นควรดำเนินการมากกว่านี้ เพื่อกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมในการรายงานข่าว และดำเนินการเมื่อมีผู้กระทำเกินเลย

• การตรัสอย่างตรงไปตรงมาแบบนี้แทบไม่เคยเกิดขึ้นเลยในราชวงศ์ญี่ปุ่นสมัยนี้ เพราะโดยปกติแล้วสมาชิกราชวงศ์ญี่ปุ่นมักถูกคาดหวังให้อดทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ก็ตาม อาจหมายความว่าข่าวลืออื้อฉาวที่มาโกะและโคมุโระต้องเผชิญนั้นหนักหนาเกินกว่าที่ราชวงศ์ญี่ปุ่นจะทนไหว

มาโกะไม่ใช่คนแรกที่ต้องเจ็บปวด

สมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ พระอัครมเหสีในสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ ได้ต่อสู้กับโรคเครียดเมื่อต้องเผชิญกับแรงกดดันที่จะต้องให้กำเนิดทายาทชาย เนื่องจากราชวงศ์ญี่ปุ่นผชิญความเสี่ยงไร้ผู้สืบทอดเพราะขาดแคลนรัชทายาทชาย ด้วยความที่กฎมณเทียรบาลญี่ปุ่นกำหนดให้สมาชิกราชวงศ์ผู้ชายมีสิทธิขึ้นครองราชย์ได้เท่านั้น

• สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่าในปี 2004 สมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ ซึ่งขณะนั้นเป็นมกุฎราชกุมารี ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะการปรับตัวผิดปกติ (adjustment disorder) หรือที่เรียกกันว่าโรคเครียด ซึ่งจากภาวะความกดดัน หลังจากทรงให้กำเนิดเจ้าหญิงไอโกะในปี 2001

• สมเด็จพระจักรพรรดินี เป็นอดีตนักการทูตจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและอ็อกซ์ฟอร์ด พระองค์ทรงทิ้งอาชีพการงานเพื่อเข้าสู่ราชวงศ์ในปี 1993

• หลายคนคาดว่าสาเหตุหลักของความเครียดของพระองค์คือแรงกดดันในการให้กำเนิดทายาทชาย เนื่องจากราชวงศ์ญี่ปุ่นไม่มีรัชทายาทชายตั้งแต่ปี 1965 ภายหลังการประสูติของมกุฎราชกุมารฟุมิฮิโตะ

• ในขณะที่สมเด็จพระจักรพรรดินีพระพันปีหลวง มิชิโกะ สามัญชนคนแรกที่เข้าสู่ราชวงศ์ญี่ปุ่น เคยต้องเก็บตัวเงียบนานหลายเดือน ท่ามกลางการแรงกดดันจากสื่อภายหลังการขึ้นครองบัลลังก์ของพระสวามีในปี 1989

• ในปี 1993 สมเด็จพระจักรพรรดินีพระพันปีหลวงทรงประชวรจนสูญเสียความสามารถในการพูดไปนานถึง 7 เดือน

• ตอนนี้ทุกสายตากำลังจับจ้องไปที่เจ้าหญิงไอโกะ ซึ่งมีพระชนมายุครบ 20 พรรษาในเดือนธ.ค. และพระองค์จะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการในฐานะสมาชิกผู้ใหญ่ของราชวงศ์

• ในอดีตเจ้าหญิงไอโกะทรงถูกเพ่งเล็งจากสาธารณชนหลังจากที่พระองค์ทรงขาดเรียนไปเป็นเวลานาน และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาพระองค์ทรงมีพระวรกายซูบผอม น้ำหนักลดไปเกือบ 10 กิโลกรัมภายในปีเดียว ท่ามกลางคำวิจารณ์ต่างๆ นานา โดยหลายคนคาดว่าน่าจะเกิดจากการที่พระองค์มักถูกตำหนิว่า "อ้วนเกินไป"

• ปัญหาสุขภาพจิตที่สมาชิกราชวงศ์เพศหญิงหลายคนต้องเผชิญจะเกิดขึ้นซ้ำรอยอีกหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไป

ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ

• ซายาโกะ โนบุตะ นักจิตวิทยาชาวญี่ปุ่นให้ความเห็นกับสำนักข่าวเกียวโดว่า "เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับราชวงศ์ญี่ปุ่นเหล่านี้ไม่มีสิทธิมนุษยชนเลย...มาโกะคงรู้สึกว่าหนทางเดียวที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างแท้จริงคือการออกไปจากประเทศญี่ปุ่น"

• ริกะ คายามะ จิตแพทย์และนักวิจารณ์ประเด็นทางสังคมกล่าวว่า "แม้มาโกะจะถูกบอกให้เพิกเฉยต่อคำวิจารณ์ต่างๆ นานาบนโลกออนไลน์ แต่มันก็ห้ามไม่ได้ที่จะต้องพบเห็นคำพูดแย่ๆ เหล่านั้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งมันค่อยๆ บั่นทอนจิตใจก่อนที่พวกเขาจะรู้ตัว"

• ผู้สังเกตการณ์ราชวงศ์ญี่ปุ่นบางคนมองว่ากระแสต่อต้านการสมรสของมาโกะอาจไม่รุนแรงขนาดนี้หากสำนักพระราชวังมีการจัดการอย่างเหมาะสมเหมือนกับราชวงศ์ในต่างประเทศ

• ฮาจิเมะ เซบาตะ รองศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นสมัยใหม่ที่มหาวิทยาลัยริวโคคุกล่าวว่า การสร้างสายสัมพันธ์กับประชาชนผ่านการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ หากสำนักพระราชวังโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับราชวงศ์บนโซเชียลมีเดียหรือสื่ออื่นๆ เป็นประจำเพื่อเข้าถึงประชาชน ก็จะทำให้พวกเขาไว้วางใจราชวงศ์มากขึ้น

Photo by Nicolas Datiche / POOL / AFP, various sources / AFP / Japan OUT