posttoday

ราชวงศ์ญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนรัชทายาทชาย

31 ธันวาคม 2564

กฎมณเฑียรบาลที่กำหนดให้สืบทอดบัลลังก์ได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้นกำลังทำให้คนที่จะขึ้นเป็นรัชทายาทเหลือน้อยเต็มที

สำนักข่าว AFP รายงานว่า ราชวงศ์ญี่ปุ่นกำลังเผชิญความเสี่ยงไร้ผู้สืบทอด เนื่องจากขาดแคลนรัชทายาทชาย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางรายมองว่าแนวทางที่คณะกรรมการของรัฐบาลเสนอมาก่อนหน้านี้ไม่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันของราชวงศ์ญี่ปุ่น

ด้วยความที่กฎมณเทียรบาลญี่ปุ่นกำหนดให้สมาชิกราชวงศ์ผู้ชายมีสิทธิขึ้นครองราชย์ได้เท่านั้น ทำให้เจ้าชายฮิซาฮิโตะได้ขึ้นครองตำแหน่งจักรพรรดิต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระชนมพรรษา 61 พรรษา แทนเจ้าหญิงไอโกะที่เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียว

แต่หากในอนาคตเจ้าชายฮิซาฮิโตะไม่มีพระโอรส ราชวงศ์ญี่ปุ่นที่มีอายุยาวนานกว่า 2,600 ปีขาดแคลนรัชทายาทเพื่อสืบสันตติวงศ์ นั่นยังหมายความว่า ภรรยาของเจ้าชายฮิซาฮิโตะต้องเผชิญกับแรงกดดันให้มีรัชทายาทชายเพื่อสืบทอดราชวงศ์ต่อไปด้วย

ขณะที่ผลการสำรวจความคิดเห็นพบว่า ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่สนับสนุนให้สมาชิกราชวงศ์หญิงรับตำแหน่งจักรพรรดินี ทว่าแรงกดดันจากนักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมที่ให้ยึดมั่นในกฎที่มีมาช้านานทำให้การสืบทอดราชบัลลังก์โดยผู้หญิงเป็นไปได้ยาก

AFP รายงานว่า ทางการญี่ปุ่นพยายามระดมสมองเพื่อหาทางออกให้ปัญหานี้ และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วคณะกรรมการพิเศษได้ยื่นข้อเสนอแนะ 2 ข้อให้รัฐบาลญี่ปุ่น

ทางเลือกแรกคือ อนุญาตให้สมาชิกราชวงศ์ผู้หญิงคงฐานันดรและการปฏิบัติกรณียกิจไว้หลังจากเสกสมรสกับสามัญชน โดยปัจจุบันนี้สมาชิกราชวงศ์หญิงยังต้องออกจากราชวงศ์ อาทิ อดีตเจ้าหญิงมาโกะ โคมุโระ วัย 30 ปี พระธิดาองค์โตของเจ้าชายฟูมิฮิโตะ ที่สละฐานันดรหลังแต่งงานกับเพื่อนชายสามัญชนร่วมมหาวิทยาลัยเมื่อเดือน ต.ค.

ทางเลือกที่สองคือ อนุญาตให้ผู้ชายที่มีเชื้อสายอยู่ในตระกูลเก่า 11 ตระกูลของราชวงศ์ญี่ปุ่นที่ถูกยกเลิกไปในสมัยปฏิรูปหลังสงครามกลับเข้าร่วมราชวงศ์สายตรงอีกครั้งผ่านกระบวนการรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม

รายงานของคณะกรรมการพิเศษแนะนำว่า รัฐบาลควรรักษากฎมณเทียรบาลให้สมาชิกราชวงศ์ผู้ชายขึ้นครองราชย์ไว้จนกว่าเจ้าชายฮิซาฮิโตะ พระชันษา 15 ปี พระราชนัดดาในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระภาติยะในสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ และรัชทายาทลำดับ 2 ของญี่ปุ่นจะขึ้นครองตำแหน่งจักรพรรดิ โดยมีเจ้าชายฟูมิฮิโตะ พระบิดาของเจ้าชายฮิซาฮิโตะ และพระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะเป็นรัชทายาทลำดับ 1

อย่างไรก็ดี มาโกโตะ โอกาวะ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชูโอในกรุงโตเกียวเผยกับ AFP ว่า แนวคิดดังกล่าวไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของราชวงศ์ญี่ปุ่น หรือแนวคิดเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ

“ผมคิดว่าชาวญี่ปุ่นกำลังสงสัยว่าทำไมเจ้าหญิงไอโกะถึงไม่ได้สืบราชบัลลังก์ต่อ” โอกาวะเผย และยังบอกอีกว่าแนวคิดที่ว่าญี่ปุ่นไม่ควรตัด “สายเลือดจักรพรรดิที่ไม่ขาดตอน” ของนักอนุรักษนิยมเป็นตรรกะที่บกพร่อง เนื่องจากเจ้าหญิงไอโกะเป็นทั้งทายาทสายตรงของสมเด็จพระจักรพรรดิและอายุมากกว่าเจ้าชายฮิซาฮิโตะ

ส่วน ฮิเดยะ คาวานิชิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยนาโงยาเตือนว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการไม่ได้แก้ที่ต้นตอของปัญหา

คาวานิชิมองว่า สมาชิกราชวงศ์หญิงบางคนที่เสกสมรสแล้วอาจไม่ต้องการอยู่ภายใต้กรอบที่เข้มงวด และการรับสมาชิกราชวงศ์เก่าซึ่งเติบโดตมาแบบสามัญชนทั่วไปเป็นบุตรบุญธรรมอาจยุ่งยากซับซ้อน

ทั้งนี้ ตลอดประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นมีจักรพรรดินีถึง 8 พระองค์ แม้ว่าการปกครองดังกล่าวจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น โดยจักรพรรดินีองค์สุดท้ายคือ สมเด็จพระจักรพรรดินีโกะซากูรามาจิ ครองราชย์บัลลังก์เมื่อราว 250 ปีก่อน

Photo by Yuichi Yamazaki / POOL / AFP