posttoday

ยานฉางเอ๋อ-5 ตรวจพบ ‘น้ำผิวดิน’ จากแหล่งกำเนิดบนดวงจันทร์

09 มกราคม 2565

คณะนักวิทยาศาสตร์จีนเผยว่ายานลงจอดของภารกิจฉางเอ๋อ-5 (Chang’e-5) สามารถตรวจจับร่องรอยของน้ำได้ จากแหล่งกำเนิดบนดวงจันทร์ ซึ่งช่วยส่งมอบหลักฐานใหม่เกี่ยวกับความแห้งแล้งของดาวบริวารดวงนี้

ผลการศึกษาข้างต้น ซึ่งเผยแพร่ในวารสารไซเอนซ์ แอดวานซ์ (Science Advances) เมื่อวันเสาร์ (8 ม.ค.) ระบุว่าดินของดวงจันทร์บริเวณจุดที่ยานลงจอดมีน้ำอยู่น้อยกว่า 120 พีพีเอ็ม (พีพีเอ็ม = หนึ่งส่วนในล้านส่วน) หรือ 120 กรัมต่อตัน ขณะหินลักษณะโพรงข่ายน้ำหนักเบาก้อนหนึ่ง มีน้ำประกอบอยู่ 180 พีพีเอ็ม โดยถือว่าน้อยกว่าบนโลกมาก

อุปกรณ์บนยานลงจอดดำเนินการวัดความสะท้อนเชิงสเปกตรัม (spectral reflectance) ของชั้นผิวดินและหินก้อนนี้ ซึ่งนำไปสู่การตรวจจับร่องรอยน้ำ ณ จุดดังกล่าวเป็นครั้งแรก

คณะนักวิจัยจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) เผยว่าผู้เชี่ยวชาญสามารถประเมินปริมาณความชื้นในดินได้ เนื่องจากโมเลกุลของน้ำหรือสารประกอบหมู่ไฮดรอกซิลนั้นมีการดูดซึมที่อัตราราว 3 ไมโครเมตร พร้อมเสริมว่าลมสุริยะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ดินบนดวงจันทร์มีความชื้น เพราะมันเป็นตัวนำพาไฮโดรเจนอันเป็นส่วนประกอบของน้ำ ส่วนน้ำในหินอีก 60 พีพีเอ็มอาจมีที่มาจากพื้นที่ชั้นในดวงจันทร์

ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าหินโพรงข่ายข้างต้นมีแหล่งกำเนิดจากหินบะซอลต์ที่เก่าแก่และมีความชื้นมากกว่า ก่อนจะถูกขับออกไปตกที่จุดลงจอดและพบโดยยานฉางเอ๋อ-5

ยานฉางเอ๋อ-5 ตรวจพบ ‘น้ำผิวดิน’ จากแหล่งกำเนิดบนดวงจันทร์

ขณะเดียวกันผลการศึกษาพบว่าดวงจันทร์จะแห้งแล้งมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง โดยอาจมีปัจจัยจากปริมาณก๊าซในชั้นเนื้อดาวที่ลดลง

ทั้งนี้ ยานอวกาศฉางเอ๋อ-5 ได้ลงจอดบนหนึ่งในหินบะซอลต์ใหม่ที่สุด ณ ละติจูดกลาง-สูงบนดวงจันทร์ พร้อมตรวจวัดน้ำและเก็บรวบรวมตัวอย่างดวงจันทร์น้ำหนัก 1,731 กรัมกลับสู่โลก

หลินหงเหล่ย นักวิจัยจากสถาบันธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน กล่าวว่าตัวอย่างที่รวบรวมมานั้นเป็นชิ้นส่วนผสมจากทั้งบนพื้นผิวและใต้พื้นผิวดวงจันทร์ ทว่าอุปกรณ์บนยานสามารถตรวจวัดได้ที่ชั้นนอกสุดของพื้นผิวดาวบริวารดวงนี้

หลินเสริมว่าการจำลองสภาพพื้นผิวดวงจันทร์ของจริงบนโลกนั้นเป็นเรื่องท้าทาย การตรวจวัดในแหล่งกำเนิดจึงเป็นภารกิจสำคัญอย่างยิ่ง

ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับการวิเคราะห์ตัวอย่างดวงจันทร์ที่ได้จากจากยานอวกาศฉางเอ๋อ-5 ในขั้นต้น อีกทั้งให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ภารกิจฉางเอ๋อ-6 (Chang’e-6) และฉางเอ๋อ-7 (Chang’e-7) ของจีนด้วย

อนึ่ง การตรวจสอบปริมาณน้ำสำรองบนดวงจันทร์กลายเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากจีนอยู่ระหว่างการวางแผนก่อสร้างสถานีวิจัยบนดวงจันทร์ที่มีมนุษย์ควบคุมในทศวรรษหน้า

เนื้อหาข่าวและภาพด้วยความร่วมมือกับสำนักข่าวซินหัว