posttoday

บางทีจีนอาจจะคิดถูกที่ปิดประเทศ

30 พฤศจิกายน 2564

ก่อนหน้าที่จะมีโอไมครอน โอกาสที่จีนจะเปิดประเทศนั้นเป็นประเด็นถกเถียงกันหนักขึ้น แต่เมื่อเกิดโอมไครอนแล้ว โอกาสของมันยิ่งน้อยลงไปอีก

สัก 2 - 3 สัปดาห์ หลายประเทศทะยอยกันเปิดบ้านรับการมาเยือนของคนนอกแบบไม่ต้องกักตัวกันยาวๆ อีกต่อไป หนึ่งในนั้นคือประเทศไทยของเรา ซึ่งจะเรียกได้ว่า "ก้าวหน้า" (หรือประมาท?) ที่สุดในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในขณะที่ไทยเปิดประเทศรับหกสิบกว่าประเทศเข้ามาแบบ "ตรวจด่วน" โดยไม่ต้องกักตัวนั้น เพื่อนบ้านร่วมภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ก็กำลังจะเปิดเหมือนกันแต่ในดีกรีที่ค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าอัตราการฉีดวัคซีนจะสูงกว่าไทยหลายเท่าก็ตาม

ที่เกริ่นถึงสิงคโปร์เพราะจะพูดถึงผลของการเปิดประเทศในภายหลังว่ามันคุ้มหรือไม่คุ้มอย่างไร

เพราะประเด็นที่เราจะพูดถึงกันก่อนคือกรณีของจีน ที่เริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2 - 3 สัปดาห์ก่อนว่าเมื่อไรจะเปิดประเทศรับคนนอกสักที หมายถึงการเปิดรับคนนอกเข้าแบบไม่ต้องเจอกับมาตรการเหล็กที่เข้มงวดจนผิดปกติ

ระดับเบสิค หากคนนอกเข้าจีนจะต้องจเอกักตัวอย่างน้อย 14 วันก่อน แต่ผ่านด่านนี้แล้วไม่ใช่ว่าจะจบ เพราะบางพื้นที่กักครบ 14 วันยังไม่พอยังขอให้กักต่ออีก 7 วัน (รวมเป็น 21 วันแล้ว) แต่บางแห่งยังไม่พอใจสั่งจับตาต่ออีก 7 วันก็มี (รวมเป็น 28 วันแล้ว) มาตรการหลังไม่ได้ขอให้แกร่วอยู่ในบ้านหรือโรงแรม แต่ให้ออกไปโลกภายนอกได้ โดยมีการตรวจสุขภาพเป็นระยะผ่านแอป)

นี่คือความเขี้ยวลากดินของจีน เขี้ยวจนกระทั่งคนจีนเองยังรู้สึกอึดอัดไปด้วย

แต่พวกเขาเลือกที่จะไม่บ่น ไม่ใช่เพราะกลัวรัฐบาล แต่เพราะกลัวว่าถ้าเกิดด่านแตกขึ้นมา จีนจะแบกรับไม่ไหว เพราะมีประชากรมากที่สุดในโลก

คุณหมอจงหนานซาน ผู้เป็นเสมือนแม่ทัพใหญ่ของการแพทย์จีนบอกไว้ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนว่า “นโยบาย (แบบนี้ในจีน) จะยังคงอยู่เป็นเวลานาน” และ "จะอยู่ได้นานแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การควบคุมไวรัสทั่วโลก"

นั่นเป็นตอนที่โลกยังไม่เจอกับโอไมครอน และบางส่วนของโลกเริ่มเย้ยจีนว่าจะปิดประเทศไปถึงไหน? จะเลิกยึดมั่นถือมั่นกับนโยบาย "โควิดเป็นศูนย์" เมื่อไร?

แน่นนอนว่า เมื่อโลกภายนอกได้ยินคำพูดของคุณหมอจงหนานซานบอกต่างก็ "ขำ"

เพราะถึงเวลานี้หมอต่างๆ ถูก "ยำเละ" กันถ้วนหน้า ตั้งแต่หมอฟอซีของสหรัฐจนถึงคุณหมอยงของเมืองไทย ด้วยเหตุที่คนจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ใช่น้อยๆ หมดความเคารพในหมอและวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องการเมืองหรือเรื่องที่ทนไม่ไหวกับข้อมูลของโควิด-19 ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา (เพราะมันเป็นโรคอุบัติใหม่ ไม่ใช่เพราะหมอและนักวิทยาศาสตร์ให้ข้อมูลผิด)

แต่หมอจงหนานซานมีสถานะที่ไม่เหมือนแพทย์ใหญ่ในประเทศอื่นๆ ในประเทศจีนน้อยคนที่จะ "กล้า" ท้าทายแนวคิดของคุณหมอเรื่อง "โควิดเป็นศูนย์" ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการที่คุณหมอจะถูกล้อ เย้ย หรือด่าทอเหมือนหมอใหม่ในบ้านเมืองอื่น

แนวคิดเรื่อง "โควิดเป็นศูนย์" ของจีนถูกวิจารณ์จากโลกภายนอกก่อนจะเจอโอไมครอนว่ามันไม่เวิร์ก ในจีนเองก็มีเสียงวิจารณ์ทำนองนี้เหมือนกัน แต่คนที่ติงเรื่องนี้และเป็นแพทย์ชั้นนำเหมือนจงหนานซาน ถูกถล่มเละ ลามปามไปถึงการขุดพื้นเพอาชีพการงาน จนแทบเสียผู้เสียคน

ยิ่งในระยะไม่กี่สัปดาห์นี้จีนเจอคลัสเตอร์ในประเทศบ่อยๆ ผู้คนยิ่งไม่ค่อยจะโลเลกับแนวคิดปิดประเทศ

ที่บอกว่า "ไม่ค่อยจะโลเล" เพราะไม่ได้หมายความทุกคนจะคล้อยตามกับการปิดประเทศ เสียงบ่นเริ่มเห็นประปรายในโลกโซเชียลของจีนหรือมาในรูปของการ "แซะ" แบบมีชั้นเชิง

คนในรัฐบาลก็ทราบดีว่าหากโลกภายนอกใช้ชีวิตปกติกันเรื่อยๆ ขณะที่จีนยังมีสภาพเหมือนนกในกรง ประชาชนจะเปลี่ยนความคิดเอาง่าายๆ

การตระหนักของรัฐบาลจีนสะท้อนผ่านบทบรณณาการของหูซีจิ้น บรรณาธิการของ Global Times สื่อของทางการจีนที่เป็นปากเป็นเสียงให้รัฐบาลมาตลอด เขาบอกว่า “ในขณะที่จีนค่อยๆ กลายเป็น 'เกาะโดดเดี่ยว' ที่พยายามไม่ให้มีการติดเชื้อ ความได้เปรียบเมื่อเทียบกับโมเดลการเปิดประเทศก็มีแนวโน้มที่จะค่อยๆ ลดลง”

หมายความว่า ขณะที่จีนโดดเดี่ยวตัวเอง จีนเริ่มเสียเปรียบประเทศอื่นๆ ที่เปิดประเทศแล้ว

ความได้เปรียบเสียเปรียบยงไม่เท่าไร หูซีจิ้นยังชี้ว่า แนวทางของจีนจะยิ่งไม่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เห็นประเทศอื่นเข้าเปิดแล้วแต่ทำไมเราไม่เปิด

หูซีจิ้นเขียนแบบนี้ไม่ใช่ว่าเขาเชียร์ให้รัฐบาลเลิกปิดประเทศ ตรงกันข้าม เขาชี้ว่ามันเกิดแนวโน้มแบบนี้ รัฐจะต้องทำให้เหตุผลของนโยบายโควิดเป็นศูนย์ มีความหนักแน่นขึ้น

นั่นเป็นเมื่อตอนต้นเดือนพฤศจิกายน ตอนที่โลกกำลังเริ่มศักราชใหม่ ขณะที่จีนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

แต่แล้ว นับจากต้นเดือนพฤศจิกายนสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว!

จู่ๆ ยุโรปก็เกิดการระบาดขึ้นามาอีก มันเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ จนปลายเดือนบางประเทศเริ่มล็อคดาวน์อีกครั้งในอัตราที่แรกขึ้นเรื่อยๆ เช่น ออสเตรียที่ตอนแรกบอกว่าจะล็อคเฉพาะคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน คล้อยหลังไม่กี่วันต้องปรับแผนใหม่มาสั่งล็อคทั้งหมดทุกกลุ่มคน เพราะ "เวฟที่สี่" มาแรงเกินต้าน

ในขณะเดียวกันประเทศที่ใช้แนวทางอยู่ร่วมกับโควิดอย่างสิงคโปร์ก็อาการรร่อแร่ ทันทีที่เลิกปิดตัวเองมาอยู่กับโควิด โควิดก็มาอยู่กับพวกเขาในทันที ทำให้สิงคโปร์เจอกับอัตราการติดเชื้อที่หนักสุดในรอบปี แต่ก็ยังพยายามปลอบใจตัวเองโดยบอกว่าอย่างน้อยระบบสาธารณสุขยังไม่ล่ม (แต่ก็จวนเจียน)

กลับมาที่ออสเตรีย หลังจากประกาศใช้การล็อคดาวน์วันที่ 22 พฤศจิกายน บางประเทศในยุโรปก็ใช้มาตรการคล้ายๆ กัน บ้างก็เริ่มทบทวนกันว่าควรจะใช้ยาแรงขนาดไหนดี เพราะหากแรงไป ประชาชนจะรับไม่ไหว ดังจะเห็นได้ว่ามีการประท้วงต้านการล็อคดาวน์และฉีดวัคซีนในยุโรปหนักขึ้นเรื่อยๆ

ทันใดนั้นในสัปดาห์นั้นเองโลกก็เจอเข้ากับโอไมครอน

แม้ว่ามันจะพบครั้งแรกในแอฟริกาตอนใต้ แต่มันลุกลามไปยังยุโรปอย่างรวดเร็ว จนยุโรปกลายเป็นภูมิภาคที่พบผู้ติดเชื้อหลายประเทศที่สุดไปแล้ว ณ เวลาที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้น

วันที่เขีนเรื่องนี้ ทางการเนเธอร์แลนด์ยังเพิ่งเผยเรื่องน่าตกใจด้วยว่า เชื้อไม่ได้เจอกันวันสองวันที่ผ่านมาไล่หลังแอฟริกาตอนใต้ แต่มันเข้าในเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน!

นี่อาจเป็นผลมาจากการเปิดประเทศแบบไม่แคร์โควิดหรือไม่?

ส่วนประเทศที่ล้อมตัวเองอย่างเหนียวแน่นอย่างจีนก็ไม่ลัลเลที่จะ "โชว์เหนือ" ว่าตัวเองมาถูกทางแล้วกับแนวทาง "ข้างนอกป้องกันเข้ามา ข้างในป้องกันเด้งกลับ" (ไว่ ฝาง ซูรู่, เน่ย ฝาง ฝ่านถาน)

สำนักข่าวซินหัวรายงานวันที่ 30 พฤศจิกายนว่า คณะผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของจีนเปิดเผยว่ากลยุทธ์ของจีนในการป้องกันผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่มาจากต่างประเทศ และการกลับมาระบาดของโรคโควิด-19 ในท้องถิ่น มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอไมครอน

และเผยว่าศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติจีนกำหนดวิธีการทดสอบกรดนิวคลีอิกแบบพิเศษ ซึ่งมุ่งเป้าไปที่เชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ล่าสุดนี้ และเฝ้าติดตามการลำดับพันธุกรรมของการติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นในขณะที่ประเทศเพื่อน ต้องมานั่งก่ายหน้าผากกันอีกครั้งว่าจะเปิดหรือปิด จะแบนกี่ประเทศ หรือจะฉีดวัคซีนยังไงกันดี จีนไม่ต้องเตรียมอะไรมาก เพราะทุกอย่าง "คงที่" เพียงแต่ปรับมาตรการตรวจเชื้อนิดหน่อย

ในสถานการณ์แบบนี้ จีนที่เคยถูกเย้ยเรื่องขังตัวเองและความกังวลของผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศเรื่องประชาชนต่อทนกับ "โควิดเป็นศูนย์" ไม่ไหว ก็ไม่เป็นปัญหาอีก เพราะเห็นๆ อยู่ว่าจีนน่าจะต้านไปได้อีกเวฟหนึ่ง

กับคำถามว่าจีนคิดถูกหรือไม่?

หากตั้งบนสมมติฐานว่าเชื้อกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ จีนย่อมคิดถูกแล้วที่ปิดประเทศไปก่อน จนกว่าเชื้อจะกลายพันธุ์จนอ่อนแอไปเองหรือจนกระทั่งวัคซีนเอาอยู่ทุกการกลายพันธุ์ ตราบนั้นจีนจะเปิดประเทศชัวร์

จีนจะไม่เปิดจนกว่าจะแน่ใจว่าประเทศที่ทนไม่ไหวแล้วลองอยู่กับโควิดจะทำได้สำเร็จแค่ไหน นี่จะเป็นมาตรวัดการเปิดประเทศของจีน เหมือนกับที่จงหนานซานบอกว่าแนวทางของจีนนั้น "จะอยู่ได้นานแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การควบคุมไวรัสทั่วโลก"

ตอนนี้จีนจะดูว่าโลกภายนอกจะจัดการโอไมครอนแบบไหน และวัคซีนต่างๆ จะต้องปรับกันกี่ตลบ จีนจะสังเกตการณ์จากภายในแบบไม่รีบร้อน

การทดลองของโลกภายนอกจีน คือตัวชี้วัดอนาคตของจีนนั่นเอง

กับคำถามว่าแล้วถ้าจีนคิดถูกจริงๆ ประเทศอื่นๆ ควรจะใช้วิธีแบบจีนด้วยการปิดตัวเองต่อไปหรือไม่? เรื่องนี้ตอบว่า "ไม่ได้"

เพราะในขณะที่จีนขังตัวเองนั้น จีนได้พัฒนาตัวเองจนมีการพึ่งพาภายในสูง พึ่งพาภายนอกลดลง นี่เป็นธรรมชาติที่วิวัฒนาการขึ้นมาตั้งแต่ช่วงสงครามการค้า บวกกับการปลุกกระแสชาตินิยม ประหนึ่งว่าประเทศกำลังเผชิญกัยสงครามย่อยๆ การพึ่งพาภายนอกน้อย ทำให้จีนไม่หวั่นไหวกับการจะเปิดหรือไม่เปิดประเทศ

ตรงกันข้ามกับประเทศที่พึ่งพาภายนอกสูง เช่น ไทยที่รอวันรอคืนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา การปิดประเทศ เป็นทางเลือกที่ "เจ็บปวด" สำหรับเศรษฐกิจและอนาคตของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประเทศอย่างไทยหรือแม้แต่สิงคโปร์จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากพึ่งวัคซีนลูกเดียวและต้องอยู่กับโควิดให้ได้ เพื่อเปิดประเทศสถานเดียว

อย่างไรก็ตาม ที่เกริ่นถึงสิงคโปไว้ตอนแรกว่ามันคุ้มหรือไม่คุ้มอย่างไรกับการเปิดประเทศ สำนักข่าว Bloomberg ประเมินจากประสบการณ์ของสิงคโปร์พบแล้วว่ามันไม่คุ้ม เพราะมีคนเข้ามาน้อยจนน่าใจหาย (ประเมินไว้ว่าจะรองรับ 164,500 คนต่อวัน แต่มาจริง 20,510 คนต่อวัน)

แถมสิงคไปร์ยังตัดสินใจระงับมาตรการเปิดประเทศในระดับต่อไปด้วยเพื่อรอประเมินว่าโอไมครอนจะร้ายแค่ไหน

ส่วนใหญ่ก็ต่องใช้แนว "กันไว้ก่อน" ทั้งนั้น ไม่ใช่กับประเทศแอฟริกาตอนใต้ แต่ควรกันภูมิภาคที่พบโอไมครอนมากกว่าที่อื่นด้วย

ยิ่งมาเจอโอไมครอนในยุโรปแบบรัวๆ ยิ่งทำให้ประเทศที่ต้องการ "ทัวร์ฝรั่ง" ต้องชั่งผลดีผลเสียให้ดีๆ ว่า จะเอาเงินหรือจะเอาโอไมครอน?

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Anthony WALLACE / AFP