posttoday

ล้ำค่ามาก! จีนพบ ‘พลั่วจากงาช้าง’ อายุ 99,000 ปี ในซานตง

25 พฤศจิกายน 2564

ไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่จะพบวัตถุจากยุคสมัยที่มีอายุเกือบแสนปี ยิ่งเป็นวัตถุที่ทำจากงาช้างด้วยแล้วยิ่งเป็นเรื่องที่แทยจะเหลือเชื่อ

จี่หนาน, 24 พ.ย. (ซินหัว) — คณะนักโบราณคดีจีนได้ขุดพบพลั่วจากงาช้างอายุราว 99,000 ปี ที่แหล่งขุดค้นยุคหินเก่าแห่งหนึ่งในมณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน โดยเจ้าหน้าที่เชื่อว่าพลั่วจากงาช้างดังกล่าวเป็นหนึ่งในเครื่องมือจากกระดูกสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการค้นพบในจีน

หลี่กัง  นักวิจัยจากสถาบันโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีซานตง กล่าวว่าชั้นหินของแหล่งขุดค้นดังกล่าวในอำเภออี๋สุ่ย มีความหนาเกือบ 8 เมตร โดยมีการค้นพบชั้นดินทางวัฒนธรรม 8 ชั้น และพบสิ่งประดิษฐ์จากหิน กระดูก ฟัน และเขาสัตว์ ตลอดจนซากสัตว์มากกว่า 5,000 ชิ้น

นับเป็นเรื่องยากในทั่วโลกที่จะค้นพบชิ้นส่วนงาช้าง ที่ถูกใช้เป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้งานได้จริงเมื่อประมาณ 100,000 ปีที่แล้ว

หลี่กล่าวว่าพลั่วงาช้างและดินในชั้นหินเดียวกันจากแหล่งขุดค้นนั้น ถูกระบุอายุด้วยวิธีอนุกรมยูเรเนียม (uranium series) และวิธีโฟโตลูมิเนสเซนซ์ (photoluminescence) โดยข้อมูลการระบุอายุพบว่าพลั่วงาช้างและดินมีอายุ 99,000 และ 104,000 ปีตามลำดับ

แฟ้มภาพซินหัว : แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีที่ซากปรักหักพังหลางหยาไถในเมืองชิงเต่า มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน วันที่ 21 ธ.ค. 2019 (ภาพและเนื้อหาข่าวด้วยความร่วมมือกับสำนักข่าวซินหัว)