posttoday

ผีไม่น่ากลัวเท่าความจน เมื่อคนฟิลิปปินส์ต้องใช้สุสานเป็นบ้าน

12 พฤศจิกายน 2564

นอกจากจะเป็นที่อยู่สุดท้ายของคนตายแล้วสุสานที่ใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ยังมีอีกหน้าที่หนึ่งนั่นคือเป็นสิ่งก่อสร้างที่คนยากคนจนที่นั่นเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่า “บ้าน”

ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรเร็วที่สุดในเอเชีย ขณะที่กรุงมะนิลาเป็นหนึ่งในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในโลก และเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรในเมืองหลวงแห่งนี้ที่มีอยู่กว่า 14.1 ล้านคนอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด

ที่สร้างความตะลึงไปกว่านั้นคือ ท่ามกลางวิกฤตขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่นับวันมีแต่จะร้ายแรงขึ้นและความยากจน ทำให้พื้นที่ชวนขนลุกอย่าง “สุสาน” กลายเป็น “บ้าน” ของกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนตายกลายเป็นชุมชนแออัด หรือสลัมสุสานแห่งใหญ่ในกรุงมะนิลา

สุสาน Manila North Cemetery (สุสานมะนิลาเหนือ) สร้างตั้งแต่ปี 1904 เป็นหนึ่งในสุสานที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของฟิลิปปินส์ มีพื้นที่ราว 540,000 ตารางเมตร ที่อัดแน่นไปด้วยหลุมศพเรียงซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ รวมกันราว 1 ล้านร่าง ร่างของอดีตประธานาธิบดี นักแสดง เซเลคนดังก็ฝังที่สุสานแห่งนี้

ทว่านอกจากจะเป็นที่พักแห่งสุดท้ายของผู้เสียชีวิตแล้ว สุสานกลางเมืองหลวงแห่งนี้ยังเป็นที่พักที่ตั้งรกรากของคนจนในอินโดนีเซียหลายพันครอบครัว ส่วนจำนวนคนนั้นบ้างก็ระบุว่ามีราว 6,000 คน บ้างก็บอกว่ามีมากถึง 10,000-50,000 คน

พื้นปูนของสุสานถูกใช้เป็นพื้นรองรับกระท่อมหลังเล็กๆ บางคนก็ใช้สุสานต่างเตียงนอนไปเลย โดยไม่ต้องสร้างอะไรเพิ่มเติมอีก

หรือบางคนก็ใช้สุสานเป็นบ้านหลังนำร่างผู้เสียชีวิตที่อยู่ภายในออก เนื่องจากสุสานแห่งนี้มีกำหนดระยะเวลาให้เช่าเพียง 5 ปี หลังจากนั้นหากญาติไม่จ่ายเงินค่าเช่าต่อ ร่างผู้เสียชีวิตจะถูกขุดขึ้นมาแล้วนำกระดูกซึ่งบางชิ้นยังถูกเสื้อผ้าพันไว้ใส่กระสอบรวมกันไว้ให้เห็นเป็นภาพชินตา หรือร้ายหน่อยก็ถูกทิ้งไว้ตามทางเดิน

แน่นอนว่าอยู่กันแบบนี้สิ่งจำเป็นพื้นฐานอย่างน้ำสะอาดและไฟฟ้าย่อมเข้าไม่ถึง ชาวสลัมสุสานต้องลักลอบต่อไฟฟ้าจากเสาไฟฟ้าหลักของทางการ ส่วนน้ำก็ต้องใช้จากบ่อที่ขุดขึ้นภายในสุสานที่ต้องไปต่อคิวขนน้ำกลับบ้าน บวกกับรถเก็บขยะไม่ค่อยเข้าไปเก็บที่สุสานจึงเกิดปัญหาด้านสุขอนามัยตามมา

แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาเหล่านั้นก็ยังเต็มใจที่จะยึดสุสานแห่งนี้เป็นบ้าน เพราะอย่างน้อยก็ปลอดภัยและเงียบสงบกว่าสลัมทั่วไป เด็กๆ ก็วิ่งเล่นกันไม่ต่างจากอยู่ในสนามเด็ก

สายตาคนภายนอกอาจเห็นความยากลำบากต่างๆ แต่คนที่นั่นใช้ชีวิตไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นและไม่กลัวว่าผีจะหลอกด้วย แถมยังมีสิ่งสร้างความบันเทิงใจไม่ต่างจากชุมชนทั่วไป อาทิ สนามบาสเก็ตบอล ร้านสะดวกซื้อที่ของแน่นๆ ร้านอาหาร อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ หรือแม้แต่ร้านคาราโอเกะ

ผู้อาศัยที่นั่นบางคนแทบไม่มีรายได้ บางคนก็อาศัยเลี้ยงชีพจากงานที่เกี่ยวข้องกับสุสาน เช่น คนดูแลสุสานรายได้ราวปีละ 393บาท เป็นผู้นำในการสวดให้กับสมาชิกในครอบครัวที่มาเยี่ยมสุสาน ช่างก่ออิฐสุสาน หรือช่างสลักป้ายชื่อสุสานสำหรับพิธีฝังศพที่เกิดขึ้นวันละ 80-100 งาน

ผู้อาศัยในสุสานบางรายเผยว่า หากเลือกได้พวกเขาก็ไม่อยากให้ลูกๆ อาศัยอยู่ที่นี่ตลอดไป

ภาพ: wikimedia