posttoday

ยังไหวไหม? ส่องแผนการ 'อยู่ร่วมกับโควิด' เพราะปิดประเทศต่อไม่ได้อีก

27 ตุลาคม 2564

หลายประเทศเลิกสนใจตัวเลขผู้ติดเชื้อ หันไปให้ความสำคัญกับวัคซีนเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยอาการหนักและการเสียชีวิตจากโควิด-19

ขณะนี้หลายประเทศเลือกที่จะใช้ยุทธศาสตร์อยู่ร่วมกับโควิด-19 แทนการกำจัดโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยเปลี่ยนจากการจับตาตัวเลขผู้ติดเชื้อไปให้ความสำคัญกับอัตราการฉีดวัคซีนแทน เพื่อลดความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้

สิงคโปร์

สิงคโปร์เป็นอีกประเทศที่เดินหน้าใช้ยุทธศาสตร์อยู่ร่วมกับโควิด-19 โดยอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว จาก 8 ประเทศ เดินทางเข้าสิงคโปร์ได้โดยไม่ต้องกักตัว แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจะยังคงเพิ่มขึ้น

ลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวว่า "สิงคโปร์ไม่สามารถอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์และปิดประเทศได้ตลอดไป ต้องยอมรับความจริงที่ว่าเชื้อไวรัสจะยังคงอยู่และเราต้องอยู่ร่วมกับมัน"

โดยกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์เปิดเผยเมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมาว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 3,277 คน และผู้เสียชีวิต10 คน อายุระหว่าง 66 ถึง 98 ปี ซึ่งทั้งหมดมีโรคประจำตัวหรือยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ส่งผลให้สิงคโปร์มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นวันที่ 37 ติดต่อกัน

ขณะที่ผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 179,095 คน กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,787 คน และเสียชีวิต 339 คน

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นได้เพิ่มความตึงเครียดและแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยอัตราการใช้ห้องไอซียูในสิงคโปร์ในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 79.2 ส่งผลให้ขณะนี้สิงคโปร์มีเตียงรองรับผู้ป่วยในห้องไอซียูเหลือเพียง 60 เตียง แต่หากฉีดวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยอาการหนักลงไปได้อย่างมีนัยสำคัญ

โดยกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ระบุว่า ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาอัตราผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วและยังไม่ได้รับวัคซีนซึ่งต้องเข้าห้องไอซียูอยู่ที่ 0.5 และ 4.2 ต่อประชากร 100,000 คนตามลำดับ

ขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนครบโดสและไม่ได้รับวัคซีนซึ่งเสียชีวิตอยู่ที่ 0.1 และ 0.8 ต่อประชากร 100,000 คนตามลำดับ

สำหรับกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่า จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสและไม่ได้รับการฉีดวัคซีนซึ่งต้องเข้าห้องไอซียูอยู่ที่ 2.3 และ 30.1 ต่อประชากร 100,000 ตามลำดับ

ส่วนจำนวนผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนครบโดสและไม่ได้รับวัคซีนซึ่งเสียชีวิตคือ 0.4 และ 8.0 ต่อประชากร 100,000 ตามลำดับ

กระทรวงสาธารณสุขจึงเรียกร้องให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันตนเองและบรรเทาความตึงเครียดของระบบสาธารณสุข ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนควรหลีกเลี่ยงการเดินทางและกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น

ทั้งนี้ ชาวสิงคโปร์ประมาณ 4.63 ล้านคนหรือ 85% ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส โดยประมาณ 4.67 ล้านคนหรือ 84% ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว และมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว 709,525 คน หรือคิดเป็น 13% ของประชากรทั้งหมด

ขณะที่การจัดอันดับการฟื้นตัวจากโควิด-19 โดย Bloomberg ครั้งล่าสุด พบว่า สิงคโปร์ร่วงลงมา 20 อันดับจากเดือนที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 39 หลังจากที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงสุดเป็นประวัติการณ์

สหราชอาณาจักร

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ยืนกรานว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแผนเพื่อควบคุมโควิด-19 แม้ว่าผู้ติดเชื้อในประเทศจะเพิ่มขึ้นทะลุ 5 หมื่นคนต่อวัน โดยเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขอังกฤษรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ 52,009 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากอีกฝ่ายที่ต้องการให้รัฐบาลปรับแผนเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาด เพราะเกรงว่าผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงฤดูหนาว

ขณะที่รัฐบาลยืนยันว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ได้เพิ่มขึ้นเกินความคาดหมาย และสถานการณ์ขณะนี้ดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้วเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลกำลังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วยความระมัดระวัง

ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษประกาศคลายล็อกดาวน์และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา โดยเรียกว่าวันแห่งเสรีภาพ (Freedom day) แม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อขณะนั้นยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแตะที่กว่า 40,000 คนต่อวัน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการผ่อนคลายมาตรการครั้งนี้อาจส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึง 200,000 รายต่อวัน

ด้านศาสตราจารย์ เซอร์ แอนดรูว์ พอลลาร์ด หัวหน้าคณะทำงานด้านวัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด กล่าวว่า อังกฤษเป็นประเทศหนึ่งที่มีการตรวจหาเชื้อมากที่สุดในโลก และมากกว่าบางประเทศประมาณ 10 เท่าต่อหัวประชากร ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่จะมีจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการสูงกว่าประเทศอื่นๆ

แต่สิ่งที่สำคัญกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อคือผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิต ซึ่งผู้ป่วยในภาวะวิกฤตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ อังกฤษฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 85.3 ล้านโดส โดยมีประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วราว 38.2 ล้านคนหรือคิดเป็น 68.3%

อย่างไรก็ตาม การไม่มีข้อจำกัดในช่วงเทศกาลวันหยุดประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตากลายพันธุ์ AY4.2 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าอาจมีศักยภาพในการแพร่ระบาดได้มากกว่าสายพันธุ์เดลตาดั้งเดิมกว่า 10% ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าอาจเกิดโควิด-19 อีกระลอก

สหรัฐอเมริกา

สหรัฐประกาศว่าจะยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางสำหรับชาวต่างชาติใน 33 ประเทศที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. เป็นต้นไป หลังจากที่บังคับใช้มานานถึง 21 เดือน

นับว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ไม่หวังให้ผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศลดลงจนเหลือศูนย์ แต่ให้ความสำคัญในการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันอาการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากโควิด-19

โดยการศึกษาของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ ชี้ว่าชาวอเมริกันที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสมีโอกาสเสียชีวิตจากโควิด-19 น้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนอย่างมีนัยสำคัญ โดยขณะนี้มีชาวอเมริกันกว่า 57% ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว นอกจากนี้ยังได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนของ Pfizer กับเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปี

ในขณะที่ผู้ป่วยและการรักษาตัวในโรงพยาบาลลดลงอย่างต่อเนื่องในสหรัฐอเมริกา

จีน

ในทางกลับกันบางประเทศเลือกใช้ยุทธศาสตร์ควบคุมโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ อาทิ ประเทศจีนซึ่งมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกครั้งในหลายมณฑล หลังจากที่ก่อนหน้านี้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้วจนประชาชนสามารถเดินทางท่องเที่ยวในประเทศกันอย่างคึกคัก

แต่ขณะนี้หลายพื้นที่ได้บังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดอีกครั้งเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการเดินทางข้ามมณฑล สั่งล็อกดาวน์บางพื้นที่ ยกเลิกเที่ยวบินในประเทศหลายร้อยเที่ยว รวมทั้งปิดโรงเรียน และเร่งตรวจเชิงรุก

• หลายประเทศเดินหน้าใช้ยุทธศาสตร์อยู่ร่วมกับโควิด-19 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศที่ชะลอตัวมานานกว่า 1 ปี

• โดยให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยอาการหนักและการเสียชีวิตจากโควิด-19 และไม่กังวลหากตัวเลขผู้ติดเชื้อจะสูงแต่อัตราป่วยหนักและเสียชีวิตน้อยเพราะประชาชนได้รับวัคซีนแล้ว

• ขณะที่บางประเทศยังคงเลือกที่จะป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดเพราะเกรงว่าจะเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหญ่อีกครั้ง แต่ท้ายที่สุดแล้วโควิด-19 จะไม่หายไปแต่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งเราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับมันให้ได้

ณิชมน โลหะขจรพันธ์

ภาพ REUTERS/Dawn Chua