posttoday

อินโดนีเซียเจรจา Merck ตั้งโรงงานผลิตยาเม็ดต้านโควิด

20 ตุลาคม 2564

รัฐบาลอินโดนีเซียเจรจาบริษัท Merck ตั้งโรงงานผลิตยา Molnupiravir ในอินโดนีเซีย

สื่อท้องถิ่นอินโดนีเซียรายงานว่ารัฐบาลอินโดนีเซียกำลังเจรจากับบริษัท Merck ของสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิต Molnupiravir (โมลนูพิราเวียร์) ยารักษาโควิด-19 เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตยาดังกล่าวในอินโดนีเซีย

ลูฮัต บินซาร์ ปันด์ไจตัน (Luhut Binsar Pandjaitan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนของอินโดนีเซีย เผยว่า วันนี้ (20 ต.ค.) ตนพร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อเจรจากับบริษัทผู้ผลิตยาในประเด็นดังกล่าว

พร้อมเสริมว่า อินโดนีเซียต้องการเป็นมากกว่าผู้ซื้อ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการลงทุนและตั้งโรงงานผลิตยา Molnupiravir ในอินโดนีเซียในอนาคต

ด้านบูดี กูนาดี ซาดิคิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย กล่าวว่า หากใช้ยาดังกล่าวควบคู่ไปกับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้เราสามารถต่อสู้กับโควิด-19 ให้กลายเป็นเพียงโรคประจำถิ่นได้เร็วยิ่งขึ้น

ท่ามกลางการจับตามองว่ายา Molnupiravir จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมในการต่อสู้กับโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก หลังจากที่ผลการทดลองระยะที่ 3 พบว่ายาดังกล่าวสามารถลดความเสี่ยงของอาการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ถึงครึ่งหนึ่ง ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศเจรจาสั่งซื้อยาดังกล่าวแล้ว

โดยขณะนี้ Merck กำลังขออนุมัติยา Molnupiravir ในกรณีฉุกเฉินจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ

ทั้งนี้ อินโดนีเซียสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือต่ำกว่า 1,000 รายต่อวัน ซึ่งลดลงอย่างมากจากผู้ป่วยกว่า 500,000 รายต่อวันในช่วง 3 ถึง 4 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ผู้เสียชีวิตตอนนี้ลดลงเหลือวันละต่ำกว่า 100 ราย

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าผู้ผลิตยาของฟิลิปปินส์หลายรายได้เริ่มหารือกับ Merck เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะขออนุญาตผลิตยา Molnupiravir ในท้องถิ่นในประเทศ

ขณะที่ผู้ผลิตยาในอินเดีย 5 รายได้ร่วมมือกับ Merck เพื่อผลิตยา Molnupiravir เพื่อเร่งความพร้อมในอินเดียในการจัดการกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวทำให้บริษัทต่างๆ ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจัดหายาดังกล่าวให้กับอินเดียและอีกกว่า 100 ประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง

Photo by Merck & Co Inc/Handout via REUTERS