posttoday

'ฮวัง ดง-ฮยอก' ผู้ฝ่าอุปสรรค 10 ปีกว่าจะมี Squid Game

06 ตุลาคม 2564

ก่อนจะมีวันนี้ Squid Game เคยเกือบไม่ได้ไปต่อ เมื่อผู้สร้างต้องขายแล็ปท็อปแลกเงิน-บทถูกปฏิเสธมาเป็น 10 ปี

Squid Game ซีรีส์จากเกาหลีใต้กำลังได้รับความนิยมจากทั่วโลกบน Netflix ซึ่งเท็ด ซาแรนดอส (Ted Sarandos) ซีอีโอร่วมและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเนื้อหาของ Netflix กล่าวว่านี่อาจเป็นผลงานที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเท่าที่ Netflix เคยมีมา

กระแสของซีรีส์ดังกล่าวนอกจากจะทำให้ทีมนักแสดง เสื้อผ้าและเกมใส่ซีรีส์ได้รับความนิยมและถูกพูดถึงไปทั่วโลกแล้ว อีกคนหนึ่งที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กันคือ "ฮวังดงฮยอก" (Hwang Dong-hyuk) ผู้เขียนบทและผู้กำกับ Squid Game

เส้นทางของผู้กำกับ

ผู้กำกับฮวังเติบโตในกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ และศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล โดยเขาเริ่มฝึกฝนทักษะด้านภาพยนตร์มาตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษา

ฮวังมีผลงานเขียนบทและกำกับตั้งแต่ภาพยนตร์สั้น ไปจนถึงภาพยนตร์สารคดี โดยก่อนหน้านี้เขาโลดแล่นอยู่ในวงการจอเงิน ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง Silenced (2011), Miss Granny (2014) และ The Fortress (2017)

แต่จริงๆ แล้วฮวังมีไอเดียเรื่อง Squid Game มาเป็นสิบปีแล้ว

ผู้กำกับฮวังเผยว่าเขามีแนวคิดที่จะผสมผสานเกมในวัยเด็กกับบทลงโทษสำหรับผู้แพ้มาตั้งแต่ปี 2008 โดยได้ไอเดียตอนที่เขายังอาศัยอยู่กับแม่และยาย แต่เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ก่อนที่จะมีซีรีส์เรื่อง Squid Game ให้ทั่วโลกได้ชมกันนั้น ฮวังต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย

10 ปีกว่าจะมี Squid Game

ในตอนที่ฮวังกำลังเขียนเรื่อง Squid Game อยู่นั้น เขาจำเป็นต้องหยุดเขียนไปพักหนึ่ง เพราะได้ขายแล็ปท็อปคู่ใจไปเพื่อแลกกับเงิน 675 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 22,000 บาทมาใช้ประทังชีวิต

เมื่อกลับมาเขียนต่อได้จนจบเรื่อง ฮวังนำบทของเขาไปเสนอต่อสตูดิโอหลายแห่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่กลับถูกปฏิเสธมาตลอด โดยได้เหตุผลว่าเนื้อเรื่องของเขามันห่างไกลจากความเป็นจริง ยากที่ผู้ชมจะเชื่อและอินกับมันได้

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สังคมเริ่มเปลี่ยนไป เรื่องราวเกี่ยวกับการเอาชีวิตรอดได้รับความนิยมมากขึ้น และเริ่มมีค่านิยมเล่นเกมเพื่อแลกกับเงินหรือรางวัลต่างๆ ซีรีส์ของเขาก็เริ่มเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ

จนกระทั่งในปี 2019 บทของเขาไปเข้าตา Netflix ยักษ์ใหญ่ด้านสตรีมมิง และได้ทำงานร่วมกันจนเกิดเป็นซีรีส์ Squid Game ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกในที่สุด และยังเป็นผลงานซีรีส์เรื่องแรกของเขาอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ยังประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยลงอย่างมาก คนยากจนเริ่มสิ้นหวังกับการหาเงินมาประทังชีวิต ขณะที่ช่องว่างระหว่างความรวยและความจนเริ่มชัดเจนขึ้น และนั่นทำให้ซีรีส์ของเขาเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ

ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

ผู้กำกับฮวังเผยว่า หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน เขาก็ไม่คิดไม่ฝันเหมือนกันว่าผลงานของเขาจะไปได้ไกลขนาดนี้ แต่เมื่อเห็นแบบนี้แล้วก็อยากให้มันกลายเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Netflix

แม้บางคนบอกจะมองว่าส่วนหนึ่งของความสำเร็จครั้งนี้ก็ต้องให้เครดิต Netflix เหมือนกัน เพราะ Squid Game จะไม่สามารถกลายเป็นบล็อกบัสเตอร์ได้เลยหากไม่ได้อยู่บน Neflix ซึ่งฮวังก็เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความคิดเห็นนั้น

"ถ้าไม่ใช่ Netflix ใครจะให้อิสระผมในการสร้างซีรีส์แบบนี้ ด้วยงบประมาณจำนวนเท่านี้ ผมรู้สึกซาบซึ้งจริงๆ ที่พวกเขาให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่" ฮวังกล่าว

นอกจากนี้ ข้อได้เปรียบที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการออนแอร์พร้อมกันทั่วโลก ซึ่งทำให้ซีรีส์ Squid Game ได้รับการตอบรับอย่างเหลือเชื่อภายในสัปดาห์เดียว

ประกอบกับความตั้งใจของฮวังที่ต้องการสร้างซีรีส์ที่ไม่กำจัดเพศ อายุ หรือเชื้อชาติ ด้วยการนำเสนอเกมง่ายๆ ที่ผู้ชมทุกวัยจากทั่วทุกมุมโลกจะสามารถเข้าใจและอินไปกับอารมณ์ของตัวละครได้

นอกจากซีรีส์จะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่แล้ว ยังฉุดให้อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน ดันหุ้นสื่อเกาหลีใต้พุ่งกระฉูดอีกด้วย

ตั้งตารอซีซั่น 2

เมื่อดูจนถึงตอนจบแล้วหลายคนอาจยังคาใจและเรียกร้องให้มีซีซั่น 2 ซึ่งฮวังเผยว่าในตอนแรกเขาไม่ได้วางแผนไว้ แต่เมื่อมีแฟนๆ เรียกร้องกันจำนวนมากพวกเขาอาจอารมณ์เสียไม่น้อยหากเขาปฏิเสธที่จะทำซีซั่น 2 พร้อมเผยว่าในตอนนี้มีแอบคิดเกี่ยวกับภาคต่อไว้บ้างแล้วแต่อาจไม่ใช่เร็วๆ นี้

ที่มา: Insider, Capitalfm, Digitalspy, Hani

ภาพ: REUTERS/Kim Hong-Ji/Illustration/File Photo