posttoday

โฮป คุก หญิงอเมริกันราชินีองค์สุดท้ายของสิกขิม 

24 กันยายน 2564

เปิดเส้นทางชีวิตของหญิงสาวสามัญชนชาวอเมริกันที่ได้พบรักกับเจ้าชายจนได้ครองรักกันและเธอก้าวขึ้นเป็นราชินีองค์สุดท้ายของสิกขิม 

พรมลิขิตทำให้หญิงสาวจากนิวยอร์กได้พบเจ้าชายของรัฐสิกขิมและเปลี่ยนชีวิตสาวสามัญชนให้เป็นราชินี และก็คงเป็นโชคชะตาอีกเช่นกันที่ทำให้เธอกลายเป็นราชินีองค์สุดท้ายของดินแดนเล็กๆ กลางหุบเขาหิมาลัยที่บัดนี้กลายเป็นรัฐหนึ่งของอินเดียไปแล้ว

โฮป คุก (Hope Cooke) คือราชินีคู่บุญของกษัตริย์ปาลเดน ทอนดัป นัมเกล (Palden Thondup Namgyal) กษัตริย์องค์ที่ 12 และองค์สุดท้ายแห่งสิกขิมซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐภายใต้การอารักขาของอินเดีย

คุกเป็นสาวสังคมจากนิวยอร์กซิตีของสหรัฐ กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก จอหน์ เจ. คุก พ่อของเธอจากไปไม่นานหลังจากเธอเกิด ส่วน โฮป นอยส์ ผู้เป็นแม่ซึ่งเป็นนักบินสมัครเล่นเสียชีวิตในปี 1942 ขณะประสบอุบัติเหตุทางเครื่องบิน ซึ่งขณะนั้นคุกอายุเพียง 2 ขวบ

หลังจากแม่เสียชีวิตคุกและพี่สาวต่างมารดาย้ายมาอยู่ที่อพาร์ทเม้นต์ในนิวยอร์กซิตีที่คุณตาและคุณยายซื้อให้โดยมีพี่เลี้ยงคอยดูแล และมีอพาร์ทเม้นต์ของคุณตาคุณยายอยู่ใกล้ๆ

ทว่าเมื่อคุกอายุ 12 ปีเธอก็เสียคุณตาไปอย่างไม่มีวันกลับ และ 3 ปีหลังจากนั้นคุณยายก็จากไปอีกคน คราวนี้สองพี่น้องต้องไปอยู่กับลุงซึ่งเป็นอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำอิหร่านและเปรูและป้าซึ่งเป็นญาติฝั่งแม่ โดยคุกจบมัธยมปลายจากโรงเรียนในอิหร่าน

โฮป คุก หญิงอเมริกันราชินีองค์สุดท้ายของสิกขิม 

ปี 1959 คือปีที่เปลี่ยนโชคชะตาชีวิตของคุก หญิงสาวนักศึกษาปี 1 ในวัย 19 ปีจากภาควิชาเอเชียศึกษาของวิทยาลัยซาราลอว์เรนซ์ของสหรัฐ ตัดสินใจเดินทางไปเที่ยวอินเดียในช่วงซัมเมอร์และไปเรียนคอร์สพิมพ์ดีดที่เมืองดาร์จีลิง

การเดินทางครั้งนี้ทำให้เธอได้พบกับ ปาลเดน ทอนดัป นัมเกล มกุฎราชกุมารแห่งสิกขิม ที่ล็อบบี้ของโรงแรมวินดาเมียร์ในเมืองดาร์จีลิ่ง ซึ่งขณะนั้นมกุฎราชกุมารแห่งสิกขิมมีพระชนมายุ 36 พรรษา และผ่านการเสกสมรสมาแล้ว 1 ครั้งโดยมีพระโอรส 2 องค์ และพระธิดา 1 องค์

ทั้งคู่มีวัยเด็กที่เหมือนกันคือค่อนข้างโดดเดี่ยวจึงเริ่มเข้าใจกันและพัฒนาความสัมพันธ์นับจากนั้น คุกเผยกับสื่อภายหลังว่า “ฉันตกหลุมรักตาแสนเศร้าของเขา ครั้งที่สองที่เราพบกัน เขาขอฉันแต่งงาน แล้วฉันก็ตอบว่า ‘แต่ง แต่ง แต่ง’”

ทั้งคู่หมั้นหมายกัน 2 ปีหลังจากนั้นคือในปี 1961 แต่เนื่องจากโหราจารย์ทั้งในสิกขิมและอินเดียเตือนว่าปี 1962 ไม่เป็นมงคลสำหรับการเข้าพิธีเสกสมรส จึงต้องเลื่อนมาจัดในเดือน มี.ค. 1963

การเสกสมรสระหว่างเจ้าชายแห่งสิกขิมและสาวสังคมไฮโซชาวอเมริกันได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมากมาย ทั้งยังมีแขกคนสำคัญเข้าร่วม อาทิ สมาชิกราชวงศ์อินเดีย นายพลสิกขิมและอินเดีย และจอห์น เคนเนธ กัลเบรธ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำอินเดีย

คุกต้องสละสัญชาติอเมริกันตามกฎของสิกขิมและยังเป็นการแสดงให้ชาวสิกขิมเห็นว่าเธอไม่ใช่มือไม้ของอเมริกันในหุบเขาหิมาลัย ถึงอย่างนั้นก็ยังมีข้อครหาว่าเธออาจเป็นเจ้าหน้าที่ CIA ของสหรัฐ

สำหรับคนทั่วไปการแต่งงานของคุกไม่ต่างจากเทพนิยาย ทว่า ซังมู เทนดัพ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสิกขิมอธิบายว่า ในสายตาของผู้สังเกตการณ์นานาชาติ การแต่งงานของทั้งคู่ถูกมองเป็นเรื่องการเมือง เนื่องจากขณะนั้นจีนยึดทิเบตไปแล้ว และในอดีตทิเบตมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสิกขิม มันดูเหมือนสหรัฐจับมือกับสิกขิม และอินเดียอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ส่วนจีนและรัสเซียอยู่อีกฝั่งหนึ่ง

มกุฎราชกุมารปาลเดน ทอนดัป นัมเกล ขึ้นเป็นผู้ปกครองสิกขิมเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 1963 หลังจากพระบิดาสวรรคต และเข้าพิธีราชาภิเษกเป็นกษัตริย์องค์ที่ 12 ของสิกขิมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 1965 ส่วนคุกได้รับการสถาปนาเป็นกยัมโม (ราชินี) แห่งสิกขิม

ต่อมาชีวิตคู่ของทั้งคู่เริ่มระหองระแหง โดยกษัตริย์ปาลเดน ทอนดัป นัมเกล ทรงมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับหญิงชาวเบลเยียมที่แต่งงานแล้ว ส่วนราชินีก็มีความสัมพันธ์กับสหายชาวอเมริกันระหว่างที่เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด

ขณะที่การเมืองระหว่างประเทศของสิกขิมก็ตึงเครียดเช่นกัน สิกขิมเริ่มถูกนานาประเทศกดดันให้ยกเลิกระบอบกษัตริย์ ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 อินเดียเริ่มล็อบบี้ให้สิกขิมเข้าเป็นส่วนมาเป็นรัฐอีกรัฐหนึ่งของอินเดีย นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวประท้วงที่พระราชวังเรียกร้องให้ยกเลิกระบอบกษัตริย์

กษัตริย์ปาลเดน ทอนดัป นัมเกล เริ่มถูกพรรคแห่งชาติสิกขิมที่โปรอินเดียและต้องการไปรวมกับอินเดียกดดันอย่างหนัก จากนั้นนายกรัฐมนตรี อินทิรา คานธี ของอินเดียส่งทหารเข้ามาล้อมพระราชวังและปลดกษัตริย์ปาลเดน ทอนดัป นัมเกลในวันที่ 10 เม.ย. 1975 และในวันที่ 16 พ.ค.ปีเดียวกันสิกขิมถูกผนวกกลายเป็นรัฐที่ 22 ของอินเดีย

กษัตริย์ปาลเดน ทอนดัป นัมเกลผู้สูญเสียราชบัลลังก์ถูกกักขังไว้ในบ้านโดยไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศหรือให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ขณะที่คุก ราชินีองค์สุดท้ายของสิกขิมเดินทางกลับเมืองแมนฮัตตันของสหรัฐพร้อมกับลูกชาย 1 คน ลูกสาว 1 คน และลูกเลี้ยงอีก 1 คน ต่อมาปี 1978 อดีตกษัตริย์ปาลเดน ทอนดัป นัมเกลและคุกแยกกันอยู่อย่างเป็นทางการ และอีก 2 ปีหลังจากนั้นก็หย่าขาดจากกัน

ส่วนอดีตกษัตริย์หลังจากถูกเนรเทศออกจากสิกขิมได้เสด็จสวรรคตที่นิวยอร์กในปี 1982 ด้วยโรคมะเร็ง

หลังกลับบ้านเกิดนักการเมืองสหรัฐบางคนพยายามช่วยให้คุกได้รับสัญชาติอเมริกันคืน แต่วุฒิสมาชิกหลายคนคัดค้านร่างกฎหมายจนต้องเปลี่ยนเป็นการขอสถานะผู้มีถิ่นพำนักถาวรในสหรัฐ หรือกรีนการ์ดแทน โดยประธานาธิบดี เจอรัลด์ ฟอร์ด ลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายในปี 1976

ในการเลี้ยงดูบุตรนั้นโฮปได้รับเงินค่าเลี้ยงดูจากอดีตกษัตริย์ปาลเดน ทอนดัป นัมเกล และเธอได้รับมรดกจากปู่ย่าของเธอเองด้วย จึงทำให้ไม่ลำบากเท่าไร เธอผันตัวมาเป็นนักเขียน อาทิ คอลัมน์รายสัปดาห์ชื่อ Undiscovered Manhattan  ในหนังสือพิมพ์ Daily News รวมทั้งเขียนหนังสืออีกหลายเล่ม รวมทั้ง Time Change: An Autobiography อัตชีวประวัติของเธอเองในฐานะราชินีสิกขิม

ภาพ:United States Library of Congress's Prints and Photographs division