posttoday

สถานการณ์ฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ ศรีลังกาพังเพราะหนี้สาธารณะท่วมหัว

15 กันยายน 2564

ศรีลังกาเคยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุดในเอเชียใต้แต่ตอนนี้เศรษฐกิจกำลังจะพัง

เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา ของศรีลังกาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ หลังราคาอาหารพุ่งสูงซ้ำยังเกิดภาวะขาดแคลน ขณะที่เงินตราต่างประเทศกำลังจะหมด

หลังจากประกาศดังกล่าวสินค้าอุปโภคบริโภคนำเข้า อาทิ น้ำตาล นมผง ซีเรียล ข้าว แทบจะหมดจากชั้นวางของในห้างสรรพสินค้าที่ดำเนินการโดยรัฐบาล ประชาชนบางคนต้องรอคิวเพื่อจับจ่ายนานนับชั่วโมงแต่ก็ไม่ได้สินค้าเพราะหมดเสียก่อน

คำถามก็คืออะไรทำให้เศรษฐกิจของศรีลังกาที่เคยแข็งแกร่งที่สุดในเอเชียใต้ดำเนินมาถึงจุดที่วิกฤตที่สุดในรอบ 73 ปี

สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานตั้งแต่ปี 1983-2009 ทำให้เศรษฐกิจของศรีลังกาได้รับผลกระทบหนัก อุตสาหกรรมหลักของประเทศจึงมีเพียงอุตสาหกรรมสิ่งทอ สินค้าส่งออกสำคัญมีเพียงชา สิ่งทอ และอัญมณี ขณะที่ต้องนำเข้าสินค้าจำเป็นเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งอาหารและเชื้อเพลิง ศรีลังกาจึงขาดดุลการค้าต่อเนื่อง เงินตราต่างประเทศจึงเริ่มร่อยหรอ

รัฐบาลศรีลังกาแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินจากต่างประเทศ หนี้สาธารณะของศรีลังกาเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 86% ของจีดีพีในปี 2009 หลังสงครามกลางเมืองจบลงรัฐบาลศรีลังกาต้องกู้เงินจากต่างประเทศเพิ่มอีกเพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน หนี้ต่างประเทศของศรีลังกาจึงพุ่งขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะการกู้ยืมเงินจากจีนตั้งแต่ปี 2005-2015 จนผิดนัดชำระหนี้และถูกจีนยึดท่าเรือฮัมบันโตตา

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจากการระบาดของ Covid-19 ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจของศรีลังกาแย่ลงไปอีก โดยปีนี้หนี้ต่างประเทศของศรีลังกาพุ่งไปถึง 101% ของจีดีพี ส่งผลให้เศรษฐกิจกำลังจะพังทลาย

วิกฤตเศรษฐกิจครั้งล่าสุดของศรีลังกาเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของศรีลังกามีสัดส่วน 10% ของจีดีพี และเป็นแหล่งของเงินตราต่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ

มาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อสกัด Covid-19 ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างหนัก จากข้อมูลของ Trading Economics พบว่า ปีนี้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวของศรีลังหาลดลงเหลือเดือนละ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ จากที่เคยสูงถึง 450 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อ 2 ปีก่อน

เมื่อขาดแหล่งรายได้จากเงินตราต่างประเทศ เงินสำรองระหว่างประเทศก็ลดลงเหลือเพียง 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเดือน ก.ค. จากที่มี 7,500 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2019 หลังจากรัฐบาลศรีลังกาใช้เงินสำรองระหว่างประเทศชำระหนี้ต่างประเทศจำนวน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

เงินสำรองระหว่างประเทศที่เหลืออยู่นี้เพียงพอสำหรับนำเข้าสินค้าได้อีกไม่ถึง 2 เดือน ยังไม่นับหนี้ต่างประเทศที่จะครบกำหนดชำระในปีหน้าอีก 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

เมื่อเงินสำรองต่างประเทศร่อยหรอลง จำนวนเงินที่ศรีลังกาต้องใช้ในการซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อใช้ในการนำเข้าสินค้าจำเป็นจึงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินรูปีลดลงไปราว 8% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และต้องไม่ลืมว่าศรีลังกาพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างหนัก เมื่อค่าเงินรูปีลดลง ทำให้เงินเฟ้อ ราคาสินค้านำเข้าจึงสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

อีกสาเหตุหนึ่งคือ คำสั่งห้ามใช้สารเคมี เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้ทำเกษตรแบบออร์แกนิก 100% ทว่าการเปลี่ยนแปลงวิธีการเพาะปลูกกะทันหันโดยไม่ได้เตรียมดินอย่างเหมาะสมส่งผลให้ผลผลิตที่ได้ลดลงถึง 50% โดยเฉพาะชาและธัญพืชอื่นๆ ทำให้อาหารขาดแคลนและนำมาสู่วิกฤตด้านอาหารในที่สุด

นอกจากนี้ รายได้ของรัฐบาลยังไม่เป็นไปตามเป้าเนื่องจากมาตรการสกัด Covid-19 กระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

แล้วรัฐบาลทำอะไรบ้าง?

รัฐบาลศรีลังกาโบ้ยว่าเป็นความผิดของนักเก็งกำไรที่กักตุนสินค้าจำเป็นจนราคาพุ่ง ทั้งยังอาศัยอำนาจจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินส่งทหารเข้าไปยึดสินค้าต่างๆ จากผู้ค้าแล้วนำมาขายให้ชาวศรีลังกาในราคาที่เป็นธรรม รวมทั้งจำกัดการใช้เงินตราต่างประเทศสำหรับนำเข้าสินค้าจำเป็นเท่านั้น

ช่วงต้นปีธนาคารกลางศรีลังกายังห้ามผู้ค้าแลกเงินดอลลาร์หรัฐเกิน 200 รูปีและห้ามทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ช่วยแก้หรือซ้ำเติมปัญหา?

ทว่า การเปลี่ยนแนวทางมาสู่เกษตรออร์แกนิกกลางคันอาจทำให้ผลผลิตในประเทศลดลงยิ่งดันให้ราคาสูงขึ้นอีก ส่วนการตั้งเพดานราคาอาหารอาจทำให้ขาดแคลนยิ่งขึ้น เนื่องจากดีมานด์สูงกว่าซัพพลายที่รัฐบาลกำหนดราคาไว้

เช่นเดียวกับข้อจำกัดของธนาคารกลางที่อาจกระทบกับสินค้าจำเป็นที่ต้องนำเข้า ยกตัวอย่างเช่น ผู้ค้าข้าวที่ต้องการจ่ายเงินดอลลาร์สหรัฐในการนำเข้ามากกว่า 200 รูปีอาจไม่สามารถทำการค้าขายได้ และหากไม่ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ช่วยให้ผู้ค้าไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน ผู้ค้าหลายรายอาจไม่เต็มใจนำเข้าสินค้าจำเป็น การนำเข้าสินค้าจึงติดขัด ตามมาด้วยภาวะขาดแคลนสินค้าจำเป็น

หากสถานการณ์ออกมาในรูปแบบนี้ปัญหาก็จะวนเป็นงูกินหางไปเรื่อยๆ

Photo by ISHARA S. KODIKARA / AFP