posttoday

สตาร์ทอัปทุ่ม 15 ล้านเหรียญคืนชีพแมมมอธสู่ขั้วโลก

15 กันยายน 2564

นักวิทยาศาสตร์และบริษัทสตาร์ทอัพสหรัฐเล็งคืนชีพช้างแมมมอธที่สูญพันธุ์ไปหลายพันปีที่แล้วให้กลับมาอยู่ที่ขั้วโลก

บริษัทด้านชีววิทยาศาสตร์และพันธุศาสตร์ Colossal ของสหรัฐซึ่งร่วมก่อตั้งโดย เบ็น แลมม์ ร่วมกับ จอร์จ เชิร์ช ศาสตราจารย์ด้านพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ดผู้บุกเบิกแนวทางการตัดต่อพันธุกรรม ระดมทุน 15 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 493.35 ล้านบาท เพื่อเตรียมคืนชีพช้างแมมมอธกลับสู่ทุ่งทุนดราของอาร์กติกหรือขั้วโลกเหนืออีกครั้ง

เบื้องต้นนักวิทยาศาสตร์จะสร้างตัวอ่อนลูกผสมช้างและแมมมอธในห้องปฏิบัติการ โดยการใส่ดีเอ็นเอของแมมมอธที่เก็บจากชิ้นส่วนที่ได้รับการรักษาอย่างดีอยู่ภายใต้ชั้นดินเยือกแข็ง (permafrost) และทุ่งหญ้าสเต็ปป์เยือกแข็ง เข้าไปในจีโนมของช้างเอเชีย ซึ่งมีความคล้ายกันของดีเอ็นเออยู่ที่ 99.6%

จากนั้นจะนำตัวอ่อนไปฝังไว้ในแม่อุ้มบุญหรืออาจเป็นมดลูกที่สังเคราะห์ขึ้นมา และหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนไม่มีอะไรผิดพลาด นักวิจัยหวังว่าจะได้ลูกช้างเซ็ตแรกใน 6 ปี

เชิร์ชเผยกับ The Guardian ว่า “จุดมุ่งหมายของเราคือการสร้างช้างที่สามารถทนต่อความหนาวเย็น แต่มันจะมีหน้าตาและพฤติกรรมเหมือนแมมมอธม่ใช่เพราะว่าเราต้องการหลอกลวงผู้คน แต่เพราะเราต้องการบางสิ่งที่ทำหน้าที่เหมือนแมมมอธที่จะมีความสุขกับอุณหภูมิติดลบ 40 องศาเซลเซียส และทำสิ่งที่ช้างและแมมมอธทำ โดยเฉพาะการล้มต้นไม้”

ส่วนแลมม์เชื่อว่า การนำฝูงแมมมอธไปปล่อยในทุ่งหิมะทุนดราแถบขั้วโลกเหนืออาจช่วยฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของขั้วโลกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนที่เชื่อว่าการคืนชีพแมมมอธจะเป็นไปได้และมองว่าควรนำเงินจำนวนดังกล่าวไปช่วยชีวิตสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับรากเหง้าของสาเหตุการสูญพันธุ์มากกว่า บางส่วนยังมองว่าการคืนชีพแมมอธเป็นเรื่องเกินจริงและเข้าใจผิด

นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยว่าแมมมอธหรือสัตว์อื่นที่สูญพันธุ์ไปแล้วจะมีชีวิตรอดอยู่ในสภาพแวดล้อมปัจจุบันหรือไม่

The Havens Studio/Handout via REUTERS