posttoday

เมื่อพ่อมดการเงิน 'โซรอส' ด้อยค่า 'สีจิ้นผิง'

08 กันยายน 2564

วันนี้พ่อมดการเงินคนดัง (ผู้ที่คนไทยรู้จักกันดี) โจมตีสีจิ้นผิงถี่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังทางการจีนจัดระเบียบครั้งใหญ่ในประเทศ แต่เขาไม่ใช่มิตรของสีจิ้นผิงอยู่แล้ว

คนไทยรู้จักจอร์จ โซรอสกันดีคงไม่ต้องพูดพล่ามทำเพลงกันอีก แต่ช่วงหลังหลายคนคงไม่ได้ติดตามความเคลื่อนของเขามากนัก ในระยะไม่กี่เดือนมานานี้โซรอสเอ่ยถึงจีนบ่อยๆ

ท่าทีล่าสุดคือการที่เขาบอกว่า การลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ของ BlackRock Inc (บริษัทจัดการการลงทุนข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน) ในจีนตอนนี้เป็น "ความผิดพลาด" และมีแนวโน้มที่จะเสียเงินของลูกค้า และยังบอกว่า BlackRock แยกแยะรัฐวิสาหกิจของประเทศจีนกับบริษัทเอกชนห่างไกลจากความเป็นจริงเกินไป

ทำไมโซรอสถึงมาโจม BlackRock บริษัทอเมริกันแท้ๆ ? นั่นก็เพราะเมื่อเดือนที่แล้ว BlackRock กลายเป็นผู้จัดการสินทรัพย์ต่างประเทศรายแรกที่ดำเนินธุรกิจกองทุนรวมในประเทศจีนที่ถือหุ้นโดยตนเองทั้งหมดโดยที่รัฐจีนไม่เข้ามายุ่ง เข้ามาโกยกองทุนค้าปลีกที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่ 3.6 ล้านล้านดอลลาร์ พร้อมๆ กับที่รัฐบาลจีนยกเลิกขีดจำกัดการถือครองของต่างชาติในธุรกิจกองทุนเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2020

พูดง่ายๆ คือ BlackRock เข้ามาโกยเงินในจีน เมื่อจีนเปิดเสรีภาคกองทุน แต่โซรอสกลับลุกลี้ลุกลนกับเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่ตัวเขาสนับสนุน "ตลาดเปิด" และ "สังคมเปิด" แท้ๆ แถมยัง "พยากรณ์ในเชิงสาปแช่ง" ให้ BlackRock เจ๊งในจีนเสียอีก

โซรอสไม่แคร์ที่จะถูกมองว่าสองมาตรฐาน เพราะเขาตั้งตัวเป็นศัตรูกับจีน โดยเฉพาะกับสีจิ้นผิงไปเรียบร้อยแล้ว

อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งเขาบอกว่า “จีนไม่ใช่แค่ระบอบเผด็จการเพียงแห่งเดียวในโลก แต่เป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุด แข็งแกร่งที่สุด และล้ำหน้าที่สุดทางเทคโนโลยี” และ “สิ่งนี้ทำให้สีจิ้นผิงเป็นศัตรูที่อันตรายที่สุดของสังคมเปิด” 

มาถึงปีนี้เขาก็ยังโจมตีสีจิ้นผิงและถี่ขึ้นอีก ความเห็นที่สั่นสะเทือนมากเป็นพิเศษมาจากบทความของเขาใน Financial Times ที่ชื่อ "นักลงทุนในจีนภายใต้อำนาจของสี เผชิญกับอาการตาสว่างแบบตั้งตัวไม่ติด"

อาการตาสว่างที่ว่านี้เกิดขึ้นจากการตระหนักว่าจีนไม่ได้เสรีอย่างที่คิดและความเชื่อ (ผิดๆ) ว่าจีนจะวิวัฒนาการเป็นสังคมเสรีนั้นผิดมหันต์ จะเห็นได้จากการจัดระเบียบและกวาดล้างภาคส่วนต่างๆ ของสีจิ้นผิง และยังส่งภาครัฐเข้าไปถือหุ้นและนั่งในบอร์ดของบริษัทใหญ่ๆ เรื่องนี้กระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนภายนอกและเป็นการตัดตอนธุรกิจในประเทศตัวเองไม่ให้โต

โซรอสก็เหมือนคนภายนอกจีนที่เชื่อว่าสักวันจีนต้องพังเแน่ๆ ตัวที่จะทำจีนพังคือภาคอสังหาฯ ที่ถูกปั่นมาหลายปีแล้ว อาจจะเป็นสิบปีด้วยซ้ำ

เนื้อหาของบทความตอนหนึ่งบอกว่า "สีจิ้นผิง ผู้นำจีน ปะทะกับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ การปราบปรามกิจการเอกชนของเขาเป็นแรงฉุดสำคัญต่อเศรษฐกิจ ภาคที่เปราะบางที่สุดคืออสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ประเทศจีนมีความเจริญรุ่งเรืองด้านอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่ตอนนี้กำลังจะถึงจุดสิ้นสุด"

ปรากฎว่าหลังจากบทความนี้ออกไปรัฐบาลจีนสั่งเตือนบริษัทอสังหาฯ ใหญ่ๆ ที่มีปัญหาเรื่องหนี้สิน โดยทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อหลีกเลี่ยงความโกลาหลของตลาดอสังหาฯ เพราะหากอสังหาฯ พังเมื่อไร เศรษฐจีนจะซวนเซทันที เงินออมและเงินลงทุนของประชาชนนั้นส่วนใหญ่ฝากไว้กับภาคนี้

โซรอสเตือนว่า "This could cause a crash" (มันอาจจะพังลงได้) แต่อย่างที่บอกคือผ่านมานับสิบปีแล้ว จีนก็ยังสามารถคุมอสังหาฯ ไม่ให้พังได้ แต่ก็ไม่อาจจะแก้ปัญหามันได้เหมือนกัน

โซรอสอาจจะเดาผิดเหมือน "กูรู" ตะวันตกคนอื่นๆที่เดาเรื่องจีนผิดตลอด แต่มีเรื่องหนึ่งที่โซรอสอาจจะถูกคือ สีจิ้นผิงไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจเหมือนเติ้งเสี่ยวผิง หรืออย่างน้อยไม่ได้คิดจะสานต่อมรดกตลาดเปิดเหมือนเติ้งเสี่ยวผิง

โซรอสคิดว่าจีนจะเป็นจีนได้จะต้องเดินบนเส้นทางทุนนิยมเสรีเท่านั้น ดังนั้นเขาจึงเชื่อว่าสีจิ้นผิงเป็นอันตรายต่อ "รัฐจีน" เขาไม่ได้มองจีนเป็นศัตรู แต่ผิดหวังที่จีนไม่เดินบนเส้นทางทุนนิยม

เขาถึงกับบอกว่า "สีไม่เข้าใจว่าตลาดดำเนินการอย่างไร เป็นผลให้การเทขายถูกปล่อยใม้เกิดขึ้นมากเกินไป เริ่มทำร้ายวัตถุประสงค์ (การดำรงอยู่) ของจีนในโลก"

จุดนี้โซรอสเห็นเหมือนบางคนที่คิดว่าสีจิ้นผิงไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจ และสิ่งที่สีจิ้นผิงทำตอนนี้คือการทำร้ายเศรษฐกิจจีนชัดๆ

แต่โซรอสคงจะลืมไปว่ารัฐจีนยังคงเป็นสังคมนิยมและพร้อมที่จะหวนคืนสู่รากเหง้าเดิมเมื่อสถานการณ์เรียกร้อง พวกฝ่ายซ้ายนั้นเข้าใจเรื่องทุนได้ดีกว่านายทุน แต่ความเข้าใจนั้นมีขึ้นเพื่อป้องกันการขูดรีกอบโกยแบบนายทุน ขณะที่นายทุนรู้จักทุนนิยมและรักตลาดเสรีเพราะทำให้พวกเขากอบโกยได้ง่าย

มีแต่นายทุนเท่านั้นที่ไม่ชอบสังคมนิยม เพราะสังคมนิยมมีศัตรูคือนายทุน เหมือนในบทความก่อนหน้าของผู้เขียนเรื่อง "ได้กลิ่น "การปฏิวัติ" โชยมาแต่ไกลจากในจีน" ที่ชี้่ต่อไปนี้จีนจะมุ่งสู่การแบ่งปันความมั่งคั่งที่เท่าเทียม และหมดยุคของนายทุนที่รวยตามลำพัง

โซรอสนั้นต้องการให้จีนเป็นไปตามแนวทางของเติ้งเสี่ยวผิง ดังจะเห็นได้จากบทความที่โจมตีสีจิ้นผิงโดยตรงใน Wall Street Journal เมื่อเดือนเมษายน ในชื่อ "เผด็จการของสีจิ้นผิงคุกคามรัฐจีน" เขาบอกว่า "ในการแสวงหาอำนาจส่วนตัว เขาได้ปฏิเสธแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจของเติ้งเสี่ยวผิงและเปลี่ยนพรรคคอมมิวนิสต์ให้กลายเป็นกลุ่มคนคล้อยตามเขา"

ข้อความนี้ชัดเจนว่าโซรอสผิดหวังที่จีนไม่เปิดเสรีแบบเติ้งเสี่ยวผิงอีก และยังกระแทกกระทั้นไปที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนว่าได้แต่เออออหม่อหมกกับสีจิ้นผิง

นี่คือความยอกย้อนโดยแท้เพราะชื่อพรรคก็บอกอยู่แล้วว่า "คอมมิวนิสต์"

อีกอย่างคือ ต่อให้สีจิ้นผิงไม่สานต่อมรดกของเติ้งเสี่ยวผิงก็ใช่ว่าเขาทรยศต่อเติ้งเสี่ยวผิง เพราะเติ้งเองชูแนวทาง "สังคมนิยมที่มีคุณลักษณะแบบจีน" มันหมายความว่าจีนยังเป็นสังคมนิยมอยู่ไม่ว่าจะรับทุนนิยมมาแค่ไหนก็ตาม

ที่สำคัญสังคมนิยมมีแต่วิวัฒนาการไปสู้สังคมคอมมิวนิสต์ในท้ายที่สุดไม่มีทางถอยหลังกลับไปสู่สังคมนายทุน และสังคมศักดินา เติ้งเสี่ยวผิงมองไว้ว่าการเปิดตลาดจีนก็เพื่อให้จีนวิวัฒนาการเป็นขั้นตอนที่แท้จริงจากสังคมทุน ไปสู่สังคมนิยมแท้ๆ และสังคมคอมมิวนิสต์ในที่สุด

ทฤษฏี "สังคมนิยมที่มีคุณลักษณะแบบจีน" นั้นมีความจำเป็น มันออกมาตอนที่จีนมีความมั่งคั่งทางวัตถุในระดับที่ค่อนข้างต่ำและจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมก่อนที่จะมุ่งสู่รูปแบบสังคมนิยมที่เท่าเทียมมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ตามที่อธิบายไว้ในลัทธิมาร์กซ์แบบดั้งเดิม

ไม่อย่างนั้นสีจิ้นผิงคงไม่ผลักดันแนวคิด "วงไพบูลย์แห่งความมั่งคั่ง" มันหมายถึงมีกินมีใช้เท่าๆ กันนั่นเอง เพราะตอนนี้จีนเริ่มอิ่มตัวกับทุนนิยมแล้ว เห็นได้จากภาวะการณ์หลายๆ อย่างมุ่งไปสู่ความเสื่อมถอยทางสังคม เพราะผู้คนหลงเงินและวัตถุ เกิดการสั่งสมทุนที่ไม่เท่าเทียม

นี่คือทฤษฎีมาร์กซิสต์แท้ๆ ดังนั้นนายทุนทั้งหลายต้องตระหนักเอาไว้ว่าจีนไม่มีทางเป็นทุนนิยมเสรีอย่างที่เขาใฝ่ฝันหรอก

เพียงแต่สิ่งน่ากังวลคือ สีจิ้นผิงเร่งรัดวิวัฒนาการทางสังคมเร็วไปไหมกับการผลักดันจีนเป็นสังคมนิยมที่เข้มข้นอีก หลังจากทดลองเป็นทุนนิยมมานานกว่า 40 ปีแล้ว - เรื่องนี้เราต้องจับตากันต่อไป

ครั้งสุดท้ายที่จีนเร่งรัดจะเป็นสังคมนิยมบริสุทธิ์ผุดผ่องให้ได้คือทศวรรษที่ 50 (การก้าวกระโดดใหญ่) และทศวรรษที่ 60 (การปฏิวัติวัฒนธรรม) ผลคือพังพินาศไปทุกมิติสังคมและเศรษฐกิจ คนตายไปนับล้าน

จนบัดนี้เหมาเจ๋อตงก็ยังถูกมองว่าเป็นนักยุทธศาสตร์ที่เก่งกาจ แต่อ่อนด้อยเรื่องเศรษฐกิจ จีนต้องอาศัยใบบุญของเติ้งเสี่ยวผิงมาช่วยเก็บกวาดในทัศวรรษที่ 70 และ 80

โซรอสชี้ไว้อย่างถูกต้องว่า "คอมมิวนิสต์ล้มเหลวเพราะปัญหารื่องตัวผู้บัญชาการ ข้อเสนอของคาร์ล มาร์กซ์—ที่ว่าดึงจากทุกคนตามความสามารถและให้ทุกคนตามความต้องการ—เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมาก แต่ผู้ปกครองคอมมิวนิสต์กลับให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ส่วนตนของประชาชน"

ผู้นำจีนอาจไม่สนใจผลประโยชน์ส่วนตน แต่การตัวบุคคลไม่กี่คนอาจทำให้เสียการณ์ได้

สีจิ้นผิงจะเป็นแบบเหมาเจ๋อตงหรือไม่ โซรอสบอกในบทความของ Wall Street Journal ว่า "สหรัฐเป็นตัวแทนของสังคมเปิดที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งบทบาทของรัฐบาลคือการปกป้องเสรีภาพของแต่ละบุคคล สีเชื่อว่าเหมาเจ๋อตง ได้คิดค้นรูปแบบการปกครองที่เหนือกว่า ซึ่งเขากำลังดำเนินอยู่ นั่นคือ สังคมปิดแบบเผด็จการที่บุคคลอยู่ภายใต้รัฐที่มีพรรคเดียว"

ขณะที่โซรอสเยินยอสหรัฐว่าเป็น "ตัวแทนของสังคมเปิดที่เป็นประชาธิปไตย" ในบทความนี้ อีกบทความใน Financial Times เขากลับสนับสนุนที่ทางการสหรัฐออกกฎหมายกีดกันบริษัทจีน คำถามก็คือทำแบบนี้แล้วยังเรียกว่าเป็นสังคมเปิดได้เต็มปากอีกหรือ?

โซรอสบอกว่าสีจิ้นผิงพยายามที่จะรั้งอำนาจตัวเองไว้เพื่อสานต่อการล้างบางในประเทศ เรื่องนี้อาจมีส่วนจริง แต่มันไม่ใช่ทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นในจีนนั้นอาจเป็นผลพวงจากการที่สหรัฐกีดกันและเปิดสงครามการค้ากับจีนด้วย นั่นคือการบีบให้จีนจนมุม จนจีนต้องคลายความเป็นทุนนิยมและสังคมเปิดลงเพราะมันคือจุดอ่อนให้ถูกโจมตี

โซอรสมีมูลนิธิที่ชื่อ Open Society Foundations ซึ่งมีจุดประสงค์ คือการส่งเสริมประชาธิปไตยและสังคมเสรี หรือ "สังคมเปิด" ตามชื่อมูลนิธิ

แต่เราต้องระมัดระวังกับคนที่มักอ้างหลักการประชาธิปไตย เพราะบางคนนั้นอ้างประชาธิปไตยและการเปิดเสรีเพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจด้วย เช่น บางประเทศทำเป็นส่งเสริมประชาธิปไตยทางการเมืองแต่ใจหวังให้เปิดเสรีเศรษฐกิจ และบีบให้ประเทศโน้นประเทศนี้เปิดเสรีด้านต่างๆ

จุดประสงค์แอบแฝงก็เพื่อทำให้ประเทศนั้นเป็น "สังคมเปิด" เมื่อเปิดแล้วก็เจาะเข้าตลาดได้โดยง่าย เข้ามายึดกุมทรัพยากรและโครงสร้างสำคัญของประเทศนั้นไป คือการใช้ประชาธิปไตยเป็นอาวุธอย่างหนึ่ง

แต่ต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยไม่ใช่ของเลวทราม แต่เป็นของดีที่ถูกอำพรางด้วยลัทธิเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจที่เน้นนายทุนมือยาวสาวได้สาวเอา และมันจะกลายเป็นเรื่องมือให้บางคนบ่อนทำลายประเทศหนึ่ง เพื่อเข้าถึงทุนและทรัพยากรของประเทศนั้นๆ

มันไม่ใช่สังคมเปิดที่เขาต้องการ แต่เป็นตลาดที่เปิดอ้าซ่ามากกว่า

คนไทยในศักราชแห่งหายนะทางการเงินปี 2540 ย่อมเข้าใจแจ่มแจ้งว่ากาใช้เสรีนิยมของบางประเทศเพื่อแทรกแซงบ้านเมืองและตลาดของเรามันเป็นเจ็บปวดเพียงใด

จีนในเวลานี้กำลังผนึกตัวเองให้เป็นเอกภาพภายใต้หลักการสังคมนิยมมากขึ้น ลดความเป็นทุนนิยมให้น้อยลง ส่งเสริมค่านิยมฝ่ายซ้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่พวก "สังคมเปิด" (หรือตลาดเปิด) ไม่ต้องการ เพราะทำให้พวกเขาหมดโอกาสทำมาหากิน

โซรอสนั้นชิงชังทรัมป์ถึงขนาดตีโพยตีพายโทษเฟซบุ๊คว่าเป็นเหตุให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง แต่พอทรัมป์จะเล่นงานจีน โซรอสก็รักทรัมป์ขึ้นมาทำที ชมเปาะว่าเป็นนโยบายที่ดีที่สุดของเขา

อนึ่ง ชื่อของมูลนิธิสังคมเปิด Open Society Foundations ของโซรอสนั้นยืมมาจากหนังสือของคาร์ล พอพเพอร์ นักปรัชญาผู้ทรงอิทธิพล (และเป็นอาจารย์ของโซรอสด้วย) ชื่อหนังสือว่า "สังคมเปิดและศัตรูของมัน" เป็นหนึ่งสือที่เชิดชูเสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตกและเปิดเผยศัตรูของมันคือเผด็จการอำนาจนิยม

พอพเพอร์นั้นเป็นนักปรัชญาเต็มตัวจึงไม่มีผลประโยชน์เรื่องเงินๆ ทองๆ กับเสรีประชาธิปไตยและความคิดของเขานั้นมุ่งจะรักษาประชาธิปไตยจริงๆ

แต่จอร์จ โซรอสเป็นเช่นไรนั้น ความเห็นของคนทั่วโลกยังเสียงแตกอยู่

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo 

REUTERS/Kevin Lamarque/File Photo

REUTERS/Lisi Niesner/File Photo