posttoday

จีนกับขุมทรัพย์ 'ลิเทียม' และ 'แรร์เอิร์ธ' ในอัฟกานิสถาน

17 สิงหาคม 2564

อัฟกานิสถานมีแหล่งลิเทียมและแรร์เอิร์ธที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง หลังตอลิบานยึดครองประเทศแร่สำคัญเหล่านี้จะตกเป็นของจีนที่ผูกมิตรกันเรียบร้อยแล้วหรือไม่  

หลังจากเข้ายึดกรุงคาบูลเมื่อวันที่ 15 ส.ค. กลุ่มตอลิบานไม่เพียงแต่โค่นอำนาจรัฐบาลอัฟกานิสถานเท่านั้น พวกเขายังมีสิทธิ์ที่จะควบคุมการเข้าถึงแหล่งแร่ธรรมชาติขนาดใหญ่ รวมทั้งแร่แรร์เอิร์ธที่กำลังเป็นที่ต้องการของหลายประเทศและอาจเป็นแหล่งรายได้มหาศาลของอัฟกานิสถานที่ยังต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากนานาชาติอยู่

เมื่อปี 2010 นักธรณีวิทยาและเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐค้นพบแหล่งแร่ปริมาณมหาศาล ทั้งเหล็ก ทองคำ ทองแดง ลิเทียม และแร่แรร์เอิร์ธมูลค่าประมาณ 1-3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากพอที่จะทำให้ประเทศที่บาดเจ็บจากสงครามมาหลายทศวรรษกลายเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกแร่รายสำคัญของโลกเลยทีเดียว

และมากพอที่เอกสารภายในของกระทรวงกลาโหมสหรัฐถึงกับเรียกอัฟกานิสถานว่าเป็น “ซาอุดีอาระเบียแห่งลิเทียม” โดยเปรียบเทียบกับแหล่งน้ำมันของซาอุดีอาระเบียที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีวันหมด

ยุคนี้แร่ลิเทียมและแร่แรร์เอิร์ธเป็นที่ต้องการในการผลิตแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้าและสมาร์ทโฟน ไปจนถึงอุปกรณ์ล้ำสมัยทางการทหารและเรือดำน้ำ

ข้อมูลขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า ภายในปี 2040 ความต้องการลิเทียมทั่วโลกจะพุ่งขึ้นจากความต้องการในปี 2020 อีก 40 เท่าตัว (ความต้องการของปี 2020 อยู่ที่ 47,300 ตัน) เช่นเดียวกับทองแดง โคบอลต์ และแร่อื่นๆ ที่อัฟกานิสถานมีอยู่มหาศาล

ทว่ากว่า 10 ปีที่ผ่านมาแหล่งแร่สำคัญพวกนี้แทบจะไม่ถูกแตะต้องเลย ทั้งจากรัฐบาลอัฟกานิสถานและจากสหรัฐ ทั้งๆ ที่ตอนที่สหรัฐประกาศว่าเจอแร่พวกนี้ใครๆ ก็คิดว่าส้มจะหล่นใส่สหรัฐแล้ว โดยเฉพาะแรร์เอิร์ธที่กลายเป็นของหายากและเป็นสินค้าสำคัญของสหรัฐ

และเมื่อดูพฤติกรรมเก่าๆ ของสหรัฐอย่างการใช้ข้ออ้างต่างๆ นานากำจัด ซัดดัม ฮุสเซน แล้วเข้าไปดูดน้ำมันของอิรักแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่สหรัฐจะยอมปล่อยมือจากขุมทรัพย์อื้อซ่านี้ไปง่ายๆ แต่วันนี้สหรัฐกลับตัดบัวแบบไม่เหลือใยด้วยการถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานหลังจากคุมอยู่กว่า 20 ปี

แล้วทำไมสหรัฐยอมถอยทั้งที่มีของดีและเป็นที่ต้องการ?

เพราะรัฐบาลอัฟกานิสถานไม่มีเอกภาพแถมยังคอร์รัปชันกันจนเป็นที่เอือมระอาจึงตั้งเหมืองไม่ได้ หรือหากตั้งได้ก็ถูกกลุ่มตอลิบานเข้าไปถล่มอยู่ดี เพราะแหล่งแร่บางแหล่งตั้งอยู่ในเขตที่กลุ่มตอลิบานปกครอง

นอกจากนี้ กลุ่มตอลิบานยังลักลอบทำเหมืองแร่โดยเฉพาะแร่ลาพิสลาซูรีซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่นำมาใช้ในการก่อการราวปีละ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ น่าจะไม่ยอมให้ใครเข้ามายุ่มย่ามกับแหล่งรายได้ง่ายๆ

กรณีนี้ไม่ต่างจากช่วงที่สหภาพโซเวียตเข้ามายึดอัฟกานิสถาน รัสเซียอุตส่าห์วางโครงการเพื่อจะเข้าควบคุมแหล่งก๊าซธรรมชาติของอัฟกานิสถานอย่างดิบดีแต่ก็ต้องพับโครงการไปหลังจากกลุ่มตอลิบานเข้ามาควบคุมอัฟกานิสถาน

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายในการทำเหมืองแร่ในอัฟกานิสถานอีกนั่นคือ การขาดโครงสร้างพื้นฐานในการทำเหมือง รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนหนทาง รางรถไฟ และโรงงานผลิตไฟฟ้า จะเห็นได้จากการที่นักลงทุนจีนต้องขนเงินไปทิ้งกับการทำเมืองทองแดงในอัฟกานิสถานถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2007 แต่ไม่สามารถผลิตอะไรได้เลย เพราะเจอปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ว่านี้

โดยรวมก็คือ สภาพบ้านเมืองของอัฟกานิสถานไม่เอื้อต่อการทำเหมืองของสหรัฐ ผิดกับแหล่งน้ำมันของอิรัก ที่อิรักรัฐบาลมีความเป็นเอกภาพระดับหนึ่ง และที่สำคัญคือมีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อยู่แล้ว เมื่อสหรัฐเข้าไปก็ดูดน้ำมันได้เลยไม่ต้องลงทุนลงแรงเพิ่มเติม 

แต่วันนี้กลุ่มตอลิบานคุมอัฟกานิสถานได้ทั้งประเทศแล้วการสร้างเหมืองจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะตอลิบานเองก็ต้องการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนของต่างชาติด้วย และดูเหมือนว่าตอลิบานจะหมายตาจีนไว้แล้ว เพราะการพบกับ หวางอี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีนเมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่เมืองเทียนจิน มุลเลาะห์ อับดุล ฆานี บาราดาร์ บุคคลระดับสูงของตอลิบานเกริ่นไว้ว่า ตอลิบานหวังว่าจีนจะมีบทบาทมากขึ้นในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของอัฟกานิสถาน

หากเป็นเช่นนี้ก็เข้าทางจีน ในเมื่อจีนต้องการแร่ และอัฟกานิสถานมีแร่ การเปลี่ยนพันธมิตรอย่างจีนให้เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจถือเป็นโอกาสใหญ่ของตอลิบาน (และจีนด้วย)

ปี 2008 หลังจากกลุ่มตอลิบานถูกกองทัพสหรัฐปราบ บริษัทจีนแห่งหนึ่งได้รับสัมปทานทำเหมืองทองแดง ในเมืองเมสไอนัค จังหวัดโลการ์ซึ่งเชื่อว่ามีแร่ทองแดงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นเวลา 30 ปี มูลค่า 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่โครงการนี้คืบหน้าช้ามาก และรัฐบาลอัฟกันในขณะนั้นยังทำท่าจะออกกฎหมายมาควบคุมการร่วมทุนนี้ด้วย

เช่นเดียวกับโครงการขุดเจาะบ่อน้ำใน 3 บ่อในจังหวัดฟาร์แยบและซาร์เอโปของ China National Petroleum Corporation ที่ชนะการประมูลสัมปทาน 25 ปีมูลค่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐแต่ก็ไม่คืบหน้า แต่จีนก็ยังไม่ยอมแพ้

รายงานของ Brookings Institute ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนและผู้เชี่ยวชาญด้านอัฟกานิสถานยอมรับว่าจีนพยายามประมูลโครงการเหล่านี้เพื่อจองสิทธิ์และกันท่าไม่ให้ประเทศอื่นเข้ามาทำเหมืองในอัฟกานิสถาน ทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่าคงจะไม่ได้เริ่มโครงการสัมปทานนี้ในเร็วๆ นี้แน่นอน เนื่องจากความไม่มั่นคงและการคอรร์รัปชันของรัฐบาลอัฟกานิสถาน

คำยอมรับนี้บ่งบอกว่า จีนเองก็รอเวลาให้สถานการณ์สุกงอมอยู่เหมือนกัน ดังนั้นการกลับสู่อำนาจของกลุ่มตอลิบานในเวลานี้จึงอาจเป็นตัวเร่งให้โครงการเหล่านี้เดินหน้า และอาจมีโครงการอื่นๆ ตามมาอีกในอนาคต

และการได้ครอบครองแหล่งแร่ลิเทียมและแรร์เอิร์ธที่ยังไม่เคยถูกแตะต้องของอัฟกานิสถานมีแต่จะเป็นประโยชน์กับจีนที่กำลังแย่งชิงความเป็นหนึ่งในการผลิตลิเทียมและแรร์เอิร์ธกับสหรัฐและยุโรป โดยในปี 2019 สหรัฐต้องนำเข้าแรร์เอิร์ธจากจีนถึง 80% ส่วนสหภาพยุโรปนำเข้า 98%

อย่าลืมว่าลิเทียมและแรร์เอิร์ธเป็นหนึ่งวัตถุดิบการผลิตสำคัญที่ถูกจีนใช้เป็นตัวประกันในระหว่างสงครามการค้ากับสหรัฐด้วย

โดย จารุณี นาคสกุล