posttoday

สัญญาณชีพร่อแร่ เกิดอะไรขึ้นกับเงินบาทที่เคยแกร่งสุดในเอเชีย

11 สิงหาคม 2564

วิบากกรรมเศรษฐกิจไทย จากที่เคยเป็นสกุลเงินที่แข็งที่สุดในเอเชียในเวลาไม่เท่าไรก็กลายเป็นสกุลเงินที่อ่อนที่สุดและแย่ที่สุด มันคือสัญญาณหายนะอะไรหรือไม่?

ในช่วง 1 ปีของการระบาด มีเรื่องที่สถานการณ์กลับตาลปัตรอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรก เราคิดว่าเราเอาอยู่กับการระบาดปีที่แล้ว แต่ในปีนี้ปรากฏว่าเราเป็นหนึ่งในประเทศที่สาหัสที่สุด เรื่องสอง เงินบาทที่เคยแข็งแกร่งที่สุดในเอเชีย ในปีนี้มันกลายเป็นเงินที่อ่อนค่าอย่างหนักที่สุดในภูมิภาค

เมื่อการระบาดหนักกำลังกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่ดีอันมีสัญญาณมาจากค่าเงินที่ทรุดอย่างหนัก ผลลัพธ์ก็คือเศรษฐกิจที่ถูกจัดอันดับให้ฟื้นตัวช้าที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของสำนักข่าว Nikkei Asia

มันเกิดเรื่องแบบนี้กับประเทศไทยได้อย่างไร?

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อนเงินบาทเป็นสกุลเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในเอเชีย บาทเริ่มแข็งค่าอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2562 ว่ากันตามหลักการแล้วการแข็งค่าของเงินน่าจะหมายถึงสัญญาณเศรษฐกิจที่ดี ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเช่นนั้น เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลและทุนสำรองต่างประเทศจำนวนมาก รวมถึงท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ค่อนข้างจะใช้นโยบาย "สายเหยี่ยว" คือการตรึงดอกเบี้ยไม่ให้ต่ำมากจนกระทั่งปี 2019

ปัจจัยเหล่านี้เป็นเหตุให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น สองปัจจัยแรกนั้นทำให้นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ ส่วนปัจจัยหลังทำให้นักลงทุนหันมาถือเงินบาทมากขึ้นเพราะดอกเบี้ยสูงช่วยให้การถือเงินบาทมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น ทั้งหมดทั้งมวลนี้ช่วยให้เงินบาทมีความแข็งแกร่ง

เงินบาทแข็งก็มีข้อดีในแง่ที่ทำให้การชำระหนี้ต่างประเทศมีต้นทุนต่ำลง แต่มันไม่ควรจะลากยาวเกินไป เพราะเมื่อเงินบาทแข็งค่านานข้ามปี มันทำให้สินค้าของไทยแพงขึ้นมาในตลาดโลก ทำให้การส่งออกของไทยแย่ลง จะไปแข่งกับใครก็ลำบาก

แม้ว่าพื้นฐานบางอย่างของไทยจะดี แต่บางอย่างก็ไม่ดีสำหรับประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างไทยการแข็งค่าข้ามปีข้ามชาติเป็นหายนะโดยแท้รวมถึงการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งก็เช่นกันถ้าเงินบาทแข็งขึ้นมานักท่องเที่ยวก็จะใช้จ่ายน้อยลงด้วย

เอาแค่ผลการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ยังแสดงให้เห็นว่า ทุกๆ 1% ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ จะทำให้ราคาส่งออกด้วยสกุลเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น 0.3% จะเห็นว่ามันไม่ได้ดีต่อเศรษฐกิจของชาติแบบร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างบางคนเชื่อ

จนกระทั่งเมื่อปลายปีที่แล้วทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงของการระบาดใหญ่แท้ๆ เงินบาทก็ยังแข็งค่าเป็นประวัติการณ์ จนทำให้กูรูบางคนเชื่อว่ามันจะแข็งยาวมาจนถึงปลายปี 2021

แต่แล้วก็มีเรื่องพลิกผัน เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วงกลางปีนี้ จนกระทั่งเงินบาทเปลี่ยนสถานะจากหน้ามือเป็นหลังมือจาก best-performing currency มาเป็น worst-performing currency

ช่วงที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้น (ต้นเดือนสิงหาคม) ค่าเงินบาทกำลังแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี เพราะความเชื่อมั่นในค่าเงินและเศรษฐกิจไทยทรุดลงเพราะการระบาดที่ดูเหมือนจะเอาไม่อยู่ ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจมืดมนลงด้วย ดังที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องหั่นคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ลงจากเดิม 1.8% เหลือแค่ 0.7%

มันมีเหตุให้ต้องคิดหนักมากกว่าประเทศอื่นที่เจอเดลตาเหมือนกัน อันที่จริงทั่วโลกเจอสถานการณ์คล้ายๆ กัน แต่ทำไมมันถึงทำให้ไทยสาหัสกว่าชาวบ้าน และทำเงินบาทที่เคยรุ่งเรืองกลายเป็นร่วงโรยเอาง่ายๆ?

ตอนที่เงินบาทแข็งเราเถียงกันว่ามันดีหรือไม่ดีกันแน่ ตอนนี้พอมาอ่อนค่าลงและมีความเคลื่อนไหวที่แย่ที่สุดในภูมิภาค เราก็ยังเถียงกันว่ามันดีหรือไม่ดี

ตอนที่มันแข็งค่าที่สุดเราเถียงกันว่ามันจะกระทบภาคส่งออกและการท่องเที่ยวซึ่งมันก็กระทบจริงๆ และเห็นภาพชัดเพราะเป็นช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่

แต่พอมันอ่อนค่าในตอนนี้ แทนที่จะช่วยภาคส่งออกและการท่องเที่ยว มันกลับให้ผลตรงกันข้าม เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ได้ดีและอาจจะแย่ยาวไปอีกหลายเดือนเพราะการระบาดของเดลตา แถมการท่องเที่ยวก็ปิดตัวยาว ต่อให้เงินบาทต่ำลงอีกมันก็ไม่ได้ยั่วยวนให้คนเข้ามาเที่ยวไทยและเอาเงินมาถมช่วยเศรษฐกิจไทยเลย

ตรงกันข้าม การระบาดที่หนักหน่วงในตอนนี้เริ่มทำให้คนต่างชาติที่เข้ามาไทยอีกครั้งตอนที่เราควบคุมการระบาดคราวก่อนได้และคนที่เป็นเอ็กซ์แพตเริ่มทบทวนแล้วว่าควรจะอยู่ในไทยต่อหรือไม่ บางคนเก็บกระเป๋าออกจากไทยเรียบร้อยแล้วด้วย

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์อาจสร้างเม็ดเงินเป็นพันล้านอย่างที่รัฐบาลคุยไว้ แต่มันไม่ได้ช่วยให้ความเชื่อมันต่อเศรษฐกิจไทยดีขึ้นมาเลย ตรงกันข้ามการช่วยภูเก็ตได้ผลจำกัดจำเขี่ยมากหากนำเอาสถานการณ์ทั้งประเทศมาหักลบ

ตราบใดที่รัฐบาลยังล็อคดาวน์กรุงเทพและจังหวัดอีกนับสิบ ตราบนั้นต่อให้มีอีกกี่แซนด์บ็อกซ์ก็ไม่ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นเพราะจังหวัดที่ล็อคดาวน์นั้นมีสัดส่วนความมั่งคั่งคิดเป็นกว่าครึ่งของเศรษฐกิจไทย

ไม่ใช่ว่าแนวคิดเรื่องภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไม่ดี เพียงแต่มันเอามาใช้คุยว่าประเทศไทยทั้งประเทศมีความหวังแล้วไม่ได้

ตรงกันข้าม เมืองไทยของเรามีหวังจะเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบซ้ำซ้อนหนักเท่าๆ กับช่วงที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งด้วยซ้ำ

นักเศรษฐศาสตร์บางคนชี้ว่าประเทศไทยกำลังจะเจอกับ Double-Dip Recession หรือภาวะถดถอยตามมาด้วยการฟื้นตัวในระยะสั้นตามด้วยภาวะถดถอยอีกครั้ง คล้ายกับกราฟของการฟื้นตัวจากการระบาดระลอกก่อนที่ดูเหมือนจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นคืนชีพแต่แล้วพอมาเจอกับเดลตาก็ทรุดลงอีก

แนวโน้มของเงินบาทที่แย่ที่สุดในภูมิภาค (จากที่เคยดีที่สุด) และความเชื่อของนักเศรษฐศาสตร์บางคนที่ว่าเศรษฐกิจไทยจะแย่ที่สุดในภูมิภาค มันสะท้อนประเด็นปัญหาได้ 2 เรื่อง

เรื่องแรก พื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ว่าแกร่งๆ นั่น มีเสถียรภาพจริงหรือไม่? คำตอบข้อนี้อาจจะตอบให้มากกว่าสองคำตอบขึ้นอยู่กับมุมมอง เหมือนเมื่อตอนที่เงินบาทแข็ง มันมีเหตุที่ทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพจริงๆ (คือดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลและทุนสำรองต่างประเทศจำนวนมาก) แต่ในแง่ของการค้าการขายและปากท้องประชาชนนั้นดูจะไม่เฟื่องฟูสักเท่าไร เราจะเห็นว่าหนี้ครัวเรือนสูงจนน่าตกใจ

หนี้ครัวเรือนไทยเป็นหนึ่งกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยมีหนี้สินสูงถึง 14 ล้านล้านบาท หรือ 89.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จากตัวเลขเมื่อสิ้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 78.1% ในปี 2560 ประชาชนนั้นติดบ่วงหนี้จนชำระยากขึ้นเรื่อยๆ หากรัฐบาลจะล็อคดาวน์อยู่แบบนี้

เรื่องที่สอง การที่ไทยเสี่ยงจะเจอภาวะถดถอยซ้ำซ้อนนั้น กูรูเศรษฐกิจมองว่ามันเกิดจากการที่ตลาดหวั่นใจกับการระบาดครั้งใหญ่ในไทย แน่นอนว่า ประเทศไหนๆ ก็ระบาดหนักและเริ่มจะหนักลามไปฝั่งประเทศตะวันตกแล้ว

แต่การที่เงินบาทสั่นคลอนเป็นพิเศษ แสดงว่าตลาดไม่เชื่อมั่นการจัดการการระบาดของรัฐบาลหรือไม่ รวมถึงหวั่นใจกับการต่อต้านรัฐบาลที่ยืดเยื้อและลุกลามขึ้นมาอีกแม้กระทั่งในช่วงระบาดหนักๆ ส่วนผสมแห่งหายนะนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีเหตุปัจจัยชวนให้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยกำลังมุ่งไปสู่ทิศทางที่น่าวิตกอีก

เพียงแต่ว่าเงื่อนไขเฉพาะหน้าที่จะช่วยให้ไทยพ้นจากหุบเหวได้ ก็คงมีแต่การควบคุมการระบาดให้เร็วที่สุด ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมที่สุดเพื่อเปิดไฟเขียวให้การทำมาค้าขายเป็นปกติอีกครั้ง และรัฐต้องเพิ่มหนี้สาธารณะอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

แม้ว่ารัฐบาลจะกู้แล้วกู้อีกก็ตาม ปัญหาก็คือดูเหมือนว่ารัฐบาลจะใช้จ่ายไม่ตรงจุด ทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนเรียกร้องไม่เลิกรา (เพราะไม่สมปรารถนาจากความช่วยเหลือแบบหว่านแหไร้เป้าหมายของรัฐบาล)

ดังนั้นแล้ว เราควรจะแก้ไขอะไรดีระหว่างนโยบายสู้โควิด ปรับ ครม. หรือวิงวอน (อีกครั้ง) ให้นายกรัฐมนตรีทบทวนสถานะของรัฐบาลนี้ว่าควรอยู่หรือไป

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by AFP PHOTO / Ye Aung THU