posttoday

IMF เตือนไม่ควรให้ Bitcoin เป็นสกุลเงินถูกกฎหมาย

03 สิงหาคม 2564

กองทุนการเงินระหว่างประเทศอธิบายถึงผลเสียของการใช้สกุลเงินดิจิทัลชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

หลังจากที่เอลซัลวาดอร์เป็นประเทศแรกที่อนุมัติให้ Bitcoin เป็นสกุลเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่าเป็นขั้นตอนที่ไกลเกินไปและการให้สกุลเงินดิจิทัลรวมถึง Bitcoin ถูกกฎหมายจะเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค

Business Insider เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 27 ก.ค. IMF เผยแพร่บล็อกโพสต์โดย Thoda Weeks-Brown ที่ปรึกษาทั่วไปและผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของ IMF ร่วมกับ Tobias Adrian ที่ปรึกษาทางการเงินของ IMF ซึ่งระบุว่า "แม้บางประเทศจะนำ Bitcoin มาเป็นสกุลเงินหลักแต่เราเชื่อว่าความเสี่ยงนั้นมีมากกว่าผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น"

IMF แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการให้ Bitcoin เป็นสกุลเงินที่สามารถชำระหนี้ได้อย่างถูกต้องตามมาตั้งแต่ต้นเพราะกังวลถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และเกรงว่าจะเกิดผลกระทบแบบโดมิโนสะเทือนไปยังประเทศอื่นๆ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกระยะยาว

ในทางกลับกันบรรดาผู้สนับสนุนสกุลเงินดิจิทัลมองว่าการเคลื่อนไหวของเอลซัลวาดอร์ครั้งนี้เป็นการก้าวสู่อนาคต เนื่องจากสกุลเงินดิจิทัลสามารถใช้ทำธุรกรรมได้อย่างสะดวกรวดเร็วและไร้พรมแดน

บล็อกโพสต์ของ IMF ระบุว่าการใช้สกุลเงินดิจิทัลอาจเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์เนื่องจากสามารถช่วยให้เข้าถึงการทำธุรกรรมและการชำระเงินได้อย่างง่ายดาย

แต่อย่างไรก็ตาม IMF มองว่าสกุลเงินดิจิทัลรวมถึง Bitcoin มีความผันผวนสูงเกินกว่าจะเป็นสกุลเงินหลักของประเทศ ซึ่งข้อเสียสำคัญของมันคิอความผันผวนและมีมูลค่าผันเปลี่ยนในตลาดอย่างไม่แน่นอน โดยชี้ให้เห็นว่า 1 Bitcoin เคยมีมูลค่ามากกว่า 60,000 เหรียญสหรัฐในช่วงกลางเดือนเมษายนแต่กลับลดลงต่ำกว่าระดับ 35,000 เหรียญสหรัฐภายในกลางเดือนกรกฎาคม

ความผันผวนที่ไม่สามารถคาดเดาและควบคุมได้อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการทำเงินอย่างรวดเร็ว แต่มันยากต่อการใช้เป็นเงินตราที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

IMF ยังแสดงความกังวลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ย การคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนการฉ้อโกงและการโจมตีทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งหากเกิดควมผิดพลาดแล้วจะสามารถดำเนินคดีเอาผิดได้ยาก นอกจากนี้สกุลเงินดิจิทัลมุ่งเน้นการพึ่งพาอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี ซึ่งหลายประเทศไม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย

เหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ IMF แนะนำให้ใช้สกุลเงินสำรองที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น ดอลลาร์หรือยูโร มากกว่าการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล

IMF เน้นย้ำว่าต้องรักษาสมดุลโดยคำนึงถึงความมั่นคงทางการเงินในระดับมหภาค ความสมบูรณ์ทางการเงิน การคุ้มครองผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน

พร้อมทิ้งท้ายว่ารัฐบาลจำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพ ประสิทธิภาพ ความเท่าเทียม และความยั่งยืนของระบบการเงิน ดังนั้นความพยายามที่จะทำให้สกุลเงินดิจิทัลเป็นสกุลเงินหลักในขณะนี้จึงเป็นทางลัดที่ยังไม่ควรทำ

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่เอลซัลวาดอร์อนุมัติให้ Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่สามารถชำระหนี้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็มีอีกหลายประเทศที่มีการผลักดันให้เปิดรับ Bitcoin และสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ มากขึ้น

Photo by Ozan KOSE / AFP