posttoday

หลายประเทศที่ใช้วัคซีนจีน-Astra เริ่มมองหาเข็ม 3

09 กรกฎาคม 2564

หลายประเทศที่ใช้วัคซีนจีน หรือ AstraZeneca เริ่มมองหาเข็ม 3 เพราะกลัวสู้เดลตาไม่ไหว  

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ความกังวลว่าวัคซีนป้องกัน Covid-19 จากจีน หรือของ AstraZeneca ที่ใช้ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศจะไม่สามารถรับมือเชื้อสายพันธุ์เดลตา ทำให้บางประเทศเริ่มมองหาวัคซีนเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันบ้างแล้ว โดยในตะวันออกกลางบางประเทศฉีดเข็ม 3 ให้ประชาชนไปแล้ว   

แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดมาสนับสนุนว่าจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในไทย บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตัดสินใจจะขีดเข็ม 3 ให้คนที่ได้รับวัคซีนของ Sinovac จากจีนและ AstraZeneca บางคนแล้ว   

การตัดสินใจดังกล่าวเกิดจากความกังวลว่าสายพันธุ์เดลตาและสายพันธุ์อื่นๆ สามารถทะลุทะลวงประสิทธิภาพของวัคซีนที่ไม่ได้ผลิตจากเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพอย่าง mRNA

ในหลายประเทศ อาทิ มองโกเลียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งใช้วัคซีนของจีนที่ใช้เทคโนโลยีเชื้อตายมากที่สุดยังไม่สามารถหยุดการติดเชื้อ ส่วนในเซเชลส์ มีผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca ครบทั้งสองเข็มแล้วเสียชีวิตจาก Covid-19  

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าสายพันธุ์เดลตาทรงพลังถึงขั้นทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer/BioNTech  และ Moderna ลดลง โดยปกป้องได้น้อยกว่า 90% ส่วนประสิทธิภาพของ AstraZeneca ในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาแบบมีอาการเหลือต่ำกว่า 60% แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังป้องกันการเข้าโรงพยาบาลได้มากกว่า 90%

หลายประเทศหวังว่าการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ไม่ว่าจะเป็นชนิด mRNA หรือวัคซีนตัวเดิมที่เคยฉีดไปแล้ว จะช่วยเพิ่มการป้องกันก่อนที่ฤดูหนาวซึ่งเหมาะสำหรับการแพร่ของไวรัสจะกลับมาอีกครั้ง

ขณะที่ผู้ผลิตวัคซีนจากฝั่งตะวันตกเปิดเผยข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีน แต่ Sinovac กับ Sonopharm กลับไม่ค่อยเปิดเผยว่าวัคซีนของตัวเองป้องกันเชื้อสายพันธุ์กลายพันธุ์ได้มากน้อยเท่าไร มีเพียง เส้าอีหมิง ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคจีน ที่เผยเมื่อเดือน พ.ค.ว่า การศึกษาเบื้องต้นชี้ว่าวัคซีนจีนยังป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ โดยไม่ได้ชี้แจงเพิ่มเติม

วัคซีนเชื้อตาย 2 ตัวที่ผลิตโดย Sinopharm มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการในการทดลองระยะที่ 3 73% และ 78% ขณะที่ประสิทธิภาพของ Sinovac ในการทดลองทางคลินิกแตกต่างกันในบราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี อยู่ระหว่าง 50% ถึงกว่า 80% ซึ่งทำให้เกิดความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีน

“เราตระหนักดีว่าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพน้อยจะสูญเสียความสามารถในการป้องกัน Covid-19 ค่อนข้างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสายพันธุ์กลายพันธุ์” นิโคไล เฟตรอฟสกี ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยการแพทย์และสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์สของออสเตรเลียเผย “แม้แต่วัคซีนที่ดีกว่าก็ดูเหมือนจะประสิทธิภาพลดลงเนื่องจากเชื้อกลายพันธุ์”

Photo by Dimitar DILKOFF / AFP