posttoday

เผยคนไทยและเพื่อนบ้านนับล้านเสี่ยงเจอน้ำทะเลท่วมเร็วกว่าที่คิด 

09 กรกฎาคม 2564

หลายพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยเผชิญกับความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยประชาชนนับล้านจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัย Deltares ของเนเธอร์แลนด์เผยผลการศึกษาการประเมินความสูงของภูมิประเทศโดยเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม LiDAR ซึ่งเป็นการวัดระยะจากระยะเวลาในการเดินทางของลำแสงเลเซอร์ในการเดินทางไปกลับระหว่างวัตถุเป้าหมายและเซ็นเซอร์ ซึ่งทำให้ได้ภาพถ่ายดาวเทียมที่มีความแม่นยำมากขึ้น

พบว่า ประเทศในแถบพื้นที่ราบลุ่มเสี่ยงต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และพื้นดินมีแนวโน้มที่จะจมเนื่องจากการทรุดตัว อาทิ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งหมายความว่าประชาชนจำนวนมากในประเทศเหล่านี้อาจต้องเผชิญภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งมีแนวโน้มเลวร้ายลงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

อัลโยเชีย ฮูเยอร์ หนึ่งในผู้เขียนรายงานการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เผยว่า แบบจำลองระดับความสูงของพื้นดินที่ใช้เทคโนโลยีเรดาร์แบบเก่าไม่สามารถเจาะทะลุต้นไม้ได้อย่างเต็มที่ ทำให้ระดับความสูงของแผ่นดินที่ตรวจวัดได้สูงกว่าความเป็นจริงราว 1 เมตรหรือมากกว่านั้น นั่นหมายความว่าความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมที่คำนวณด้วยวิธีนี้ต่ำเกินไป

ด้วยเหตุนี้ พื้นดินในอินโดนีเซียที่มีระดับความสูงของแผ่นดินต่ำกว่า 2 เมตรจากการตรวจวัดด้วย LiDAR จึงมีมากกว่าที่ประเมินด้วยเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมจากเรดาร์กระสวยอวกาศ (SRTM) ถึง 14 เท่า ส่วนของไทยมีมากกว่าถึง 5 เท่า ฟิลิปปินส์มีมากกว่า 7 เท่า

อย่างไรก็ดี นักวิจัยชี้ว่าตัวเลขเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปในระดับท้องถิ่น ซึ่งข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้นจะช่วยให้ทางการวางแผนลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ทีมวิจัยประเมินว่า ขณะนี้ประชากร 157 ล้านคนในเขตร้อนของเอเชียอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความสูงต่ำกว่า 2 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นระดับที่มีการทำนายว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด และตัวเลขนี้จะเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษข้างหน้านี้

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) คาดว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น 0.8 เมตรภายในปี 2100 และเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นทุกๆ 100 ปีอาจเกิดขึ้นทุกปีภายในสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้

ภายใต้สมมติฐานว่าน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 1 เมตร ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2100 ชาวไทย 23 ล้านคน, ชาวเวียดนาม 38 ล้านคน และชาวอินโดนีเซีย 28 ล้านคนจะอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่น้ำจะท่วมชายฝั่งบ่อยขึ้น หรือเพิ่มขึ้นจากตัวเลขขณะนี้ถึง 21%

ผลกระทบอาจร้ายแรงในเมืองใหญ่ๆ ชุมชนชายฝั่ง และพื้นที่เกษตรกรรม โดยพื้นที่ขนาดใหญ่อาจไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกหรือสูญเสียความอุดมสมบูรณ์

ขณะที่รายงานของ Greenpeace ซึ่งใช้ข้อมูลจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของ Climate Central เพื่อคำนวณความเสียหายทางเศรษฐกิจของ 7 เมืองใหญ่ที่สุดของเอเชียอันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2030 ประเมินว่า อาจเกิดความเสียหาย (เฉพาะในชุมชนเมือง) ราว 724,000 ล้านเหรียญสหรัฐในกรุงเทพฯ จาการ์ตา มะนิลา ไทเป โซล โตเกียว และฮ่องกง

โดย 96% ของจีดีพีของกรุงเทพฯ และชาวกรุง 10 ล้านคนจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้

AFP/Nicolas ASFOURI