posttoday

เอเชียเคยเจอเชื้อโคโรนาไวรัสระบาดมาแล้วเมื่อ 2 หมื่นปีก่อน

26 มิถุนายน 2564

ผลการวิจัยชี้ว่าเมื่อ 20,000 ปีก่อนเอเชียตะวันออกเคยเจอเชื้อโคโรนาไวรัสระบาดมาแล้วครั้งหนึ่ง

20 ปีที่ผ่านมา มนุษย์เจอโรคระบาดร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นซาร์ (SARS) เมอร์ส (MERS) หรือ Covid-19

ล่าสุด ผลการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Current Biology ระบุว่า ทีมนักวิจัยออสเตรเลียและสหรัฐพบหลักฐานการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสในเอเชียตะวันออกเมื่อกว่า 20,000 ปีก่อน

นักวิจัยทำการศึกษาจีโนม หรือข้อมูลทางพันธุกรรมของผู้คนมากกว่า 2,500 คนจากกลุ่มประชากร 26 กลุ่มต่างๆ กันจากทั่วโลก โดยเจาะจงไปที่การปฏิสัมพันธ์กันของจีโนมมนุษย์และเชื้อโคโรนาไวรัสโดยย้อนกลับไปที่ช่วงแรกสุด ซึ่งทิ้งร่องรอยไว้ในดีเอ็นเอของผู้คนในยุคปัจจุบันในเอเชียตะวันออก

จีโนมที่นักวิจัยศึกษามีข้อมูลวิวัฒนาการเกี่ยวกับมนุษย์ย้อนกลับไปนับแสนปี

ยัสซีน ซูอิลมี หัวหน้าวิจัยอธิบายว่า ไวรัสทำงานโดยการแบ่งตัว แต่เนื่องจากแบ่งตัวด้วยตัวเองไม่ได้จึงต้องอาศัยโฮสต์ อาทิ คน สัตว์ ดังนั้นไวรัสจึงต้องบุกเข้าไปในเซลล์ของโฮสต์แล้วจึงใช้กลไกของโฮสต์ในการแบ่งตัว

การเข้าไปในเซลล์ของมนุษย์ของไวรัสจะทิ้งร่องรอยไว้ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษของเราเคยเจอและปรับตัวเข้ากับเชื้อโคโรนาไวรัส

นักวิจัยพบว่าในจีโนมที่ศึกษามียีนที่เกี่ยวข้องกับเชื้อโคโรนาไวรัสในกลุ่มประชากร 5 กลุ่มในจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ทว่าซูอิลมีบอกว่าเชื้อโคโรนาไวรัสอาจแพร่ระบาดไปนอกเหนือจากประเทศที่กล่าวมา แต่ทีมไม่มีข้อมูลในพื้นที่อื่นจึงไม่สามารถสรุปได้

และในกลุ่มประชากรที่มียีนที่เกี่ยวข้องกับเชื้อโคโรนาไวรัส นักวิจัยพบว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจะเกิดการกลายพันธุ์ที่เป็นประโยชน์ซึ่งช่วยปกป้องพวกเขาจากเชื้อโคโรนาไวรัส

หลังจากผ่านไปเป็นเวลานาน สิ่งนี้ได้ทิ้งร่องรอยที่ชัดเจนไว้ที่จีโนมของลูกหลานคนกลุ่มนี้ และนั่นเป็นสิ่งที่นักวิจัยใช้ในการหาโรคระบาดในสมัยโบราณ และช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาด

การศึกษานี้ระบุว่า เชื้อโคโรนาไวรัสระบาดแยกจากกันในภูมิภาคต่างๆ แล้วแพร่กระจายไปทั่วเอเชียตะวันออก

อย่างไรก็ดี นักวิจัยไม่ทราบว่าผู้คนในสมัยโบราณใช้ชีวิตในช่วงที่เกิดโรคระบาดอย่างไร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่แน่ชัดว่าการระบาดเป็นเพียงโรคตามฤดูกาลอย่างไข้หวัดใหญ่ หรือระบาดต่อเนื่องเหมือน Covid-19 ที่ระบาดในขณะนี้

Photo by Handout / National Institute of Allergy and Infectious Diseases / AFP