posttoday

เจาะชีวิต Terry Gou เจ้าพ่อไฮเทคแห่งไต้หวัน

15 มิถุนายน 2564

เทอร์รี่ กัว เจ้าของอาณาจักร Foxconn ผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

แม้ว่าวันนี้ไต้หวันจะถูกบดบังรัศมีโดยจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งยังต้องไล่ตามเกาหลีใต้ที่เคยอยู่ในระดับเดียวในฐานะ "เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย" และถึงแม้ไต้หวันจะเหมือนหยุดนิ่งไม่มีสีสันของความคึกคัก แต่ยังมีหนึ่งคนที่ทำให้ประเทศนี้ยังมีที่ทางบนแผนที่แห่งความสำเร็จได้

ชายคนนี้มีชื่อว่า เทอร์รี่ กัว (Terry Gou) หรือ กัวไถหมิง อภิมหาเศรษฐีชาวไต้หวัน ผู้ครองอันดับที่ 6 ของตำแหน่งเจ้าสัวแห่งไต้หวัน และอันดับที่ 369 บนรายชื่อเศรษฐีระดับโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สินที่มากถึง 6.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามการจัดอันดับประจำปี 2021 โดย Forbes

กัว เป็นชาวไต้หวันแต่กำเนิด แต่พ่อแม่อพยพมาอยู่ที่นี่หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์ยึดครองประเทศจีนได้ทั้งประเทศ ยังผลให้พรรคก๊กมินตั๋งและผู้ภักดีหนีมาที่ไต้หวันเมื่อปี 1949 ในช่วงทศวรรษที่ 70 เทอร์รี่ กัว เริ่มสร้างอาณาจักรด้วยความฝันใฝ่อย่างล้นเหลือ เริ่มต้นด้วยเงินไม่ถึง 8,000 เหรียญสหรัฐ ภายในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปี กัว สามารถจับเป้าหมายของตัวเองได้ในที่สุด นั่นคือการปักหลักเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ป้อนค่ายดังๆ โดยเริ่มจากแบรนด์ดังจากญี่ปุ่นและขยับขยายสู่แบรนด์ชั้นนำในสหรัฐได้ในชั่วเวลาไล่เลี่ยกัน

จนกระทั่งก้าวขึ้นมาอีกขั้น ด้วยการย้ายฐานการผลิตหลักมายังจีน แผ่นดินที่มีแรงงานให้เลือกใช้ได้อย่างไม่จำกัด ทั้งยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่าไต้หวันมากมายหลายเท่า

ด้วยการก้าวย่างที่มั่นคง นำมาซึ่งความมั่งคั่งไม่หยุดหย่อน เมื่อปี 2002 เทอร์รี่ กัว จึงปรนเปรอตัวเองด้วยการทุ่มเงิน 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ซื้อปราสาทโบราณที่สาธารณรัฐเช็กเพื่อประกาศความร่ำรวยของตนให้ชาวโลกได้ประจักษ์

เทอร์รี่ กัว ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของกิจการ Hon Hai Precision ผู้รับเหมาผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีโรงงานสาขาในหลายภูมิภาคของโลก

เมื่อพูดถึง Hon Hai Precision หลายคนอาจไม่คุ้นหูนัก แต่เมื่อพูดถึงบริษัทในเครืออย่าง Foxconn หลายคนอาจจะร้องอ๋อขึ้นมาทันที และที่ชื่อของ Foxconn โด่งดังอย่างแรงก็เพราะเป็นผู้รับเหมาผลิตชิ้นส่วนให้กับ Apple นั่นเอง โดยเฉพาะชิ้นส่วนของ iPhone

หรืออาจพูดได้ว่า แท้จริงแล้ว สตีฟ จ็อบส์ ไม่ใช่คนผลิต iPhone แต่เป็นชายที่ชื่อ เทอร์รี่ กัว ต่างหาก

ไม่ใช่แค่ iPhone แต่ยังรวมถึง iPod iPad และ Amazon Kindle ของ Amazon รวมถึงผลิตภัณฑ์ของ Sony, HP, Dell, Nokia, Xiaomi และอื่นๆ อีกด้วย นับว่า กัว คือเบื้องหลังที่สำคัญอย่างยิ่งยวดของโลกเทคโนโลยีร่วมสมัยเลยทีเดียว

เทอร์รี่ กัว ยังคงปรัชญาเดิมในการลงทุนไม่ว่าจะที่จีนหรือที่ไหนๆ นั่นคือการเอาใจใส่พนักงานทุกระดับชั้นด้วยดี เพราะคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงานคือคุณภาพที่ดีของผลงาน และย่อมหมายถึง "คุณภาพ" ของบริษัทเช่นกัน โดยทุกวันนี้ Foxconn มีพนักงานกว่าล้านชีวิต

ไม่เพียงแต่ผลิตชิ้นส่วนให้บริษัทเทคโนโลยีเท่านั้นแต่ กัว ยังใจกล้าทุ่มเงินราว 6 พันล้านเหรียญเพื่อซื้อกิจการของ Sharp หลังจากที่ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ทำให้ Sharp กลายเป็นบริษัทญี่ปุ่นรายแรกที่อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทต่างชาติ เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วโลก

นอกจากความสำเร็จในแวดวงธุรกิจแล้วอีกหนึ่งเส้นทางที่ทำให้ กัว เป็นที่รู้จักคือการก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง โดยในปี 2019 กัว ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธาน Foxconn เพื่อเตรียมลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในปี 2020 ในตอนนั้นเคยมีคนมองว่าหากได้รับชัยชนะ กัว อาจสร้างสันติภาพให้แก่ช่องแคบไต้หวันก็เป็นได้ด้วยสายสัมพันธ์อันดีกับทั้งประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐในเวลานั้น

แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นประธานาธิบดีแต่ กัว เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชาวไต้หวันให้ต่อสู้กับวิกฤตครั้งสำคัญอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในช่วงแรกของการแพร่ระบาด Foxconn ยังมีส่วนช่วยในการผลิตหน้ากาอนามัยที่ประสบภาวะขาดแคลนทั่วโลก

แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ง่ายที่สุดที่เคยทำมา แต่มันทำประโยชน์ให้ส่วนรวมและสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงาน นอกจากนี้ กัว ยังเสนอตัวทุ่มเงินมูลค่า 228 ล้านเหรียญสหรัฐนำเข้าวัคซีน Pfizer จำนวน 5 ล้านโดสด้วยตัวเองจนเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลกเมื่อเร็วๆ นี้