posttoday

"อูขันตี" ฤๅษีตนบุญแห่งเมียนมา

30 พฤษภาคม 2564

นักบุญผู้เกิดมาเพื่อค้ำชูพระพุทธศาสนาของเมียนมาในยุคที่ประเทศตกอยู่ภายใต้อาณานิคมอังกฤษ

อูขันตี (U Khandi หรือ U Khanti) ฤๅษีตนบุญหรือนักบุญ ชาวพม่า คาดว่าเกิดเมื่อพ.ศ. 2411 ดับขันธ์เมื่อปี 2492 เป็นฤๅษีที่ชาวพม่าเคารพนับถืออย่างมาก อีกทั้งยังมีบารมีสูงส่ง ระดมกำลังผู้คนและเงินทอง ก่อสร้างและบูรณะศาสนสถานมากมาย มีผลงานยิ่งใหญ่เทียบได้กับครูบาศรีวิชัย ตนบุญแห่งล้านนา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานของอูขันตีในการสร้างบันไดขึ้นภูเขาโปปา สามารถเทียบได้กับการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพของครูบาศรีวิชัย ความอุตสาหะของท่านมหาฤๅษีเป็นที่ยอมรับทั้งในหมู่ชาวพม่าและแม้แต่ "นายอังกฤษ" ไม่เพียงอำนวยความสะดวกงานซ่อมสร้างพุทธสถาน แต่ยังมาพบด้วยตัวเอง เช่น ลอร์ดดัฟเฟอริน อุปราชบริติชอินเดีย เอิร์ลแห่งอังวะ ผู้ยิ่งใหญ่ก็ยังมาพบท่านด้วยตัวเอง

แต่เดิมนั้น อูขันตีบวชเรียนเป็นพระสงฆ์นานถึง 12 พรรษา แต่แล้วเกิดปณิธานแรงกล้าที่จะบูรณะศาสนสถานที่พังพินทร์ลงในช่วงโกลาหลกลังสิ้นราชวงศ์ แต่ติดที่เป็นพระไม่อาจทำกิจกรรมทางโลกได้สะดวก จึงลาสิกขาแล้วครองเพศเป็นฤๅษี การตัดสินใจของท่านทำให้พระภิกษุพี่ชายไม่พอใจยิ่ง คิดว่าท่านเห็นแก่ความสบายทางโลก จนยอมสละเนกขัมมบารมี จึงไม่ยอมพูดจากับฤๅษีผู้น้องอีกตลอดชีวิต

แม้จะเป็นฤๅษีแล้ว ท่านก็ยังปฏิบัติตราวกับเป็นบรรพชิต ถือพรหมจรรย์เคร่งครัด ถึงจะระดมทุนมากมาย แต่ก็ไม่ยอมใช้เงินเงินทองในทางที่ผิด แม้แต่อุปัฏฐากของท่านก็ไม่ยอมให้บริหารเงิน

ว่ากันว่า "จ้าวฤๅษีอูขันตี" (ยะแตจี อูขันตี) มีอิทธิฤทธิ์อภิญญา สามารถล่องหนหายตัวได้ มีคนเห็นท่านอยู่ที่เชิงเขาด้วยกัน แต่ขณะขึ้นเขากลับเห็นท่านรออยู่ตามลานพักเป็นระยะอยู่ล่วงหน้าแล้ว นอกจากนี้ ยังว่ากันว่า ท่านสามารถเปลี่ยนเงินเป็นทองคำได้ บ้างก็ว่ายามค่ำคืนพวกเทพยดาผีนัต จะพากันมาสักการะท่าน แล้วถวายทองร่วมทำกุศล แม้แต่สายลับอังกฤษได้ข่าวว่าท่านมีฤทธิ์จึงเดินทางมาตรวจสอบ พบว่าท่านเพียงนั่งเฉยๆ วางกล่องบริจาคไว้ตรงหน้า ไม่นานนักทั้งเงินทั้งทองหยองก็เต็มขึ้นมา เพราะมีผู้ทำบุญไม่ขาดสาย แม้ไม่ใช่เรื่องลี้ลับพิสูจน์ไม่ได้ แต่ก็นับเป็นฤทธิ์ในด้านบารมีอย่างหนึ่ง

ผลงานที่ยิ่งใหญ่ของอูขันตีคือการบูรณะภูเขามัณฑเลย์ (มัณตะเลต่อง) ในเมืองมัณฑเลย์ซึ่งมีศาสนสถานสำคัญตั้งอยู่ แต่ถูกทอดทิ้งไปหลังรัชกาลพระเจ้ามินดง แต่อูขันตีผู้เป็นริเริ่มทำให้ผู้คนหันมาสนใจร่ยวมแรงกันบูรณะสถานที่แห่งนี้โดยกระทำในสิ่งที่คล้ายกับการ "นั่งหนัก" ของครูบาศรีวิชัย

ในหนังสือ The Way of the White Clouds ของ "อนาคาริก โควินทะ ลามะ" เล่าไว้ถึงภูเขามัณฑเลย์เอาไว้ว่าถูกทอดทิ้งมานาน "แต่วันหนึ่งมีนักแสวงบุญผู้โดดเดี่ยวผู้ซึ่งหัวใจลุกโชนด้วยเปลวไฟแห่งศรัทธาอันบริสุทธิ์ รู้สึกสลดใจอย่างยิ่งที่ได้เห็นความสิ้นหวังและความเสื่อมโทรมของสถานที่แห่งนี้ ซึ่งตามความเชื่อของชาวพม่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาครั้งหนึ่งเขาจึงตัดสินใจเพื่ออุทิศชีวิตของเขาให้กับภูเขาศักดิ์สิทธิ์และไม่ละทิ้งไปจนกว่าจะได้รับการบูรณะให้กลับมารุ่งเรืองในอดีต แม้ว่าเขาจะไม่มีสมบัติทางโลกนอกจากบาตรและอาภรณ์สีแดงเข้มของนักพรต"

"(เขา) อยู่ในที่พักพิงของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ทรุดโทรมแห่งหนึ่งและอุทิศตนให้กับการทำสมาธิโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือการดำรงชีวิตของเขา ไม่มีใครสามารถปล้นเขาได้เพราะเขาไม่มีสิ่งใดที่ควรค่าแก่การปล้น ในทางตรงกันข้ามผู้แสวงบุญที่เห็นเขาทำสมาธิเงียบๆ เริ่มนำอาหารมาให้ เมื่อไม่มีผู้แสวงบุญมาเขาก็อดไป เมื่อมีการถวายอาหารเขาก็กิน แต่ทีละน้อยๆ ผู้คนจำนวนมากเข้าๆ ถูกดึงดูดให้ไปเยี่ยมเยือนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีข่าวแพร่สะพัดว่าฤๅษีตนหนึ่งอาศัยอยู่บนยอดเขาท่ามกลางซากปรักหักพังของศาสนสถานโบราณ”

เล่ากันว่าในยุคอาณานิคม พวกอังกฤษลอยซุงล่องแม่น้ำอิรวะดีผ่านมา แต่มีซุง 2 ท่อนติดอยู่ก้นแม่น้ำ ตอนนั้นอูขันตีอยู่ที่ภูเขามัณฑเลย์จึงขอไม้ซุงนั้นจากพวกอังกฤษเพราะพวกนั้นไม่มีทางกู้ซุงขึ้นมาได้แล้ว พวกอังกฤษก็อนุญาตตามประสงค์ ปรากฎว่าอูขันตีไม่เพียงแต่กู้ซุงขึ้นมาจากก้นแม่น้ำได้แต่ยังลากขึ้นไปบนภูเขามัณฑเลย์อีกด้วย

ซุงทั้งสองนั้นวางอยู่ก่อนแต่มีคนมาแอบถากเนื้อไม้เอาไปทำฟืนหรือไปก่อสร้าง แต่เมื่อจำทำอย่างนั้นมีงูสองตัวปรากฏตัวขึ้นมาคอยเฝ้าไม้ซุงไว้ไม่ให้ใครเข้ามาใกล้ยกเว้นแต่อูขันตีคนเดียว ท่านอูขันตีได้ใช้ไม้ซุงนั้นสร้างหลังคาคลุมพระพุทธรูปชี้พระดัชนีบนภูเขามัณฑเลย์ เมื่อมีไม้เหลืออูขันตีก็นำไม้นั้นมาทำเป็นรูปงูสองตัวเอาไว้คอยคอยพิทักษ์พระพุทธรูป

อูขันตียังมีงานอันยิ่งใหญ่คือการสร้างพระไตรปิฎกหินโดยคัดลอกเนื้อหาจากพระไตรปิฎกหินของพระเจ้ามินดงที่ทรงสร้างไว้เมื่อจุลศักราช 1275 ณ วัดซันดามุนี (จันทมุนี) ทางตะวันตกของภูเขามัณฑเลย์ คนทั่วไปจะคุ้นกับพระไตรปิฎกหินของพระเจ้ามินดงที่วัดแห่งนี้ แต่น้อยคนจะทราบว่ามีฉบับคัดลอกที่สลักบนหินด้วย

พระไตรปิฎกหินฉบับของอูขันตีนั้นแบ่งเป็นพระวินัยปิฎก 395 แผ่น พระสุตันตปิฎก 1,207 แผ่น และพระอภิธรรมปิฎก 170 แผ่น ส่วนใหญ่นั้นถูกส่งไปประดิษฐานตามศาสนสถานในรัฐมอญ ผู้เขียนได้มีโอกาสได้เห็นอยู่ที่พระธาตุชเวซายันสุสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในเมืองตะโท่ง รัฐมอญ ซึ่งพระธาตุชเวซายันนั้นท่านอูขันตีได้เป็นผู้ยกฉัตรด้วย

โดย กรกิจ ดิษฐาน เพิ่มเติมจากบทความเรื่อง "อูขันตีฤาษีตนบุญ" ใน Facebook วันที่ 24 พฤษจิกายน 2014