posttoday

สตาร์ทอัพที่เปลี่ยนมลพิษที่สุดในโลกให้เป็นผลกำไรสีเขียว

18 พฤษภาคม 2564

เทคโนโลยีสีเขียวเพื่อกระบวนการรีไซเคิลแบตเตอรี่รถยนต์หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษมากที่สุดในโลก

โดยปกติแล้วกระบวนการหลอมตะกั่วจากการรีไซเคิลแบตเตอรี่จะใช้เตาเผาที่ร้อนเป็นพิเศษที่อุณหภูมิมากกว่า 1,000 องศาเซลเซียส ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากประกอบไปด้วยวัสดุและสารพิษมากมาย ท่ามกลางยอดขายรถยนต์และแบตเตอรี่รถยนต์ที่สูงขึ้นทุกวัน แหล่งรีไซเคิลหลายแห่งไม่ได้รับการควบคุมส่งผลให้มีมลพิษกระจายอยู่ในอากาศและสะสมในแหล่งน้ำใต้ดิน

ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม Pure Earth และ Green Cross กล่าวว่าการรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบตะกั่ว-กรดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษมากที่สุดในโลก

แล้วจะทำอย่างไร?

สตาร์ทอัพจำนวนหนึ่งกำลังพยายามหาวิธีใหม่ในการรีไซเคิลแบตเตอรี่รถยนต์ที่ใช้แล้วโดยใช้น้ำ สารเคมี และไฟฟ้า เพื่อผลิตเป็นตะกั่ว แทนการหลอมด้วยความร้อนสูงที่เป็นอันตราย

หนึ่งในกลุ่มแรกๆ ที่นำเทคโนโลยีรีไซเคิลรูปแบบใหม่ออกสู่ตลาดคือ ACE Green Recycling Inc ซึ่งได้พัฒนากระบวนการผลิตตะกั่วจากแบตเตอรี่ที่ใช้งานแล้วเป็นตะกั่วบริสุทธิ์ 99.5%

โดย Nishchay Chadha ซีอีโอจากสิงคโปร์กล่าวกับรอยเตอร์สว่าที่โรงงานรีไซเคิลในกรุงนิวเดลีเมืองหลวงของอินเดียมีการหลอมละลายเพื่อปรับแต่งก้อนตะกั่วให้เป็นแท่ง ซึ่งจะนำไปขายต่อให้กับผู้ผลิตแบตเตอรี่ สำหรับพลาสติกและส่วนประกอบอื่นๆ จะถูกรีไซเคิลแยกกัน การแยกโลหะหนักและพลาสติกออกจากกันเพื่อให้ทุกวัตถุดิบสามารถนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ใหม่ได้

"เราใช้ไฟฟ้าและโรงงานของเราทำงานที่อุณหภูมิห้องดังนั้นจึงไม่มีการปล่อยก๊าซและน้ำเสียจากโรงงานของเรา" Dhruvendra Kumar Tyagi ผู้จัดการทั่วไปของ ACE Green กล่าวถึงการรีไซเคิลรูปแบบใหม่ของพวกเขา

แม้บริษัทจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของอุตสาหกรรมการรีไซเคิลแบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด ซึ่งคาดว่าเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าราว 17,500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แต่พวกเขามั่นใจว่าเทคโนโลยีรีไซเคิลแบบใหม่นี้มีการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์เมื่อเทียบกับกระบวนการแบบดั้งเดิม

Richard Fuller ซีอีโอของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม Pure Earth กล่าวชื่นชมไว้ว่า "ผมคิดว่ามันเป็นก้าวที่ยอดเยี่ยมและถ้ามันเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจมันก็เป็นขั้นตอนที่ยอดเยี่ยมมาก"

Farid Ahmed หัวหน้านักวิเคราะห์หลักของ Wood Mackenzie กล่าวว่าเทคโนโลยีใหม่นี้มีศักยภาพในการ "เปลี่ยนเกม" ของอุตสาหกรรมการรีไซเคิลแบตเตอรี

ทั้งนี้ การรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบตะกั่ว-กรดคิดเป็นประมาณ 2 ใน 3 ของอุปทานตะกั่วที่ผ่านการกลั่นแล้วทั่วโลกซึ่งใช้ในสายเคเบิล กระสุน และสีด้วย โดยปัจจุบันมีการซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 2,000 เหรียญต่อตัน

ตะกั่ว 1% ของทั้งโลก

ACE Green กล่าวว่าบริษัทได้ทำข้อตกลงด้านการออกใบอนุญาตและการร่วมทุนเพื่อรีไซเคิลแบตเตอรี่ตะกั่วกรดที่ใช้แล้ว 90,000 ตันต่อปีกับผู้รีไซเคิลเชิงพาณิชย์ 4 รายใน 11 ประเทศ

ซึ่งจะผลิตตะกั่วได้ประมาณ 55,800 ตันต่อปี นอกจากนี้ยังมีการวางแผนโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ตะกั่วกรดใช้แล้ว 12,000 ตันต่อปีในออสเตรเลียซึ่งจะผลิตตะกั่วได้ 7,440 ตันต่อปี

ทั้งหมดนี้เทียบเท่ากับ 1% ของตะกั่วรีไซเคิลทั่วโลก

Luminous Power Technologies หนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์รายใหญ่ที่สุดของอินเดียส่งมอบแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วมากกว่า 200 ตันต่อเดือนให้แก่ ACE Green ด้วย ซึ่ง ACE กล่าวว่ามีการเปลี่ยนเป็นตะกั่ว 120-130 ตันและขายคืนให้กับบริษัท

นอกจากนี้ ACE Green ได้ลงนามในข้อตกลงกับ Altus Asia Group ในสิงคโปร์เพื่ออนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีในการรีไซเคิลแบตเตอรี่ตะกั่วกรดที่ใช้แล้ว 5,000 ตันต่อปีตั้งแต่ปี 2022 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปี 2023

David Leong กรรมการผู้จัดการ Altus Asia Group กล่าวว่า "โดยพื้นฐานแล้วเทคโนโลยีนี้ช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดในการดำเนินการโรงหลอมรีไซเคิลตะกั่วแบบดั้งเดิม" พร้อมระบุว่าบริษัทมีแผนที่จะตั้งโรงงานในมาเลเซีย เวียดนาม และเกาหลีใต้โดยใช้เทคโนโลยีนี้่นกัน

เป้าหมายในปี 2025

ACE Green ต้องการเปลี่ยนคาร์บอนเป็นอากาศบริสุทธิ์ สร้างงานที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถรีไซเคิลพลาสติกได้ 130,000 ตัน, ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3.5 ล้านตัน, ลดการฝังกลบขยะ 280 ล้านกิโลกรัม, ปล่อยออกซิเจนบริสุทธิ์ 625 ล้านกิโลกรัม และสร้างงาน 2,500 ตำแหน่ง

ภาพโดย Alchemist-hp/Wikipedia